หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ตอนที่ 1 สู่ต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

ดร.อัมเพทการ์

ดร.อัมเพทการ์เป็นใคร ทำไมถึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจชาวอินเดียพุทธเหล่านี้อย่างมหาศาล ฉันได้เริ่มค้นหาเรื่องราวการกลับมาของ ศาสนาพุทธ ในอินเดีย หลังจากที่เสื่อมสูญไปกว่า 700 ปี โดยเฉพาะเรื่องราวของดร.อัมเพทการ์ผู้ทำพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมชาวอินเดียหลายแสนคนเมื่อปี พ.ศ. 2499

ดร.บี.อาร์. อัมเพทการ์ (Dr. B.R. Ambedkar) เกิดในครอบครัววรรณะจัณฑาลที่พยายามสนับสนุนให้ลูกได้เรียนหนังสือ แม้ว่าเขาจะมีโอกาสได้เข้าโรงเรียน แต่การที่มาจากสกุลจัณฑาลซึ่งสังคมอินเดียในยุคนั้นถือว่าเป็นชนชั้นต่ำที่สุด เป็นที่รังเกียจ และถูกกีดกันจากสังคมในโรงเรียน เขาถูกแยกให้นั่งเรียนกับพื้น ต่างจากนักเรียนคนอื่น ไม่มีเพื่อน และถูกห้ามดื่มน้ำจากก๊อกน้ำสาธารณะในโรงเรียน

เขาถูกแยกให้นั่งเรียนกับพื้น

โชคดีที่เขาได้รับความเมตตาจากครูวรรณะพราหมณ์คนหนึ่งให้เปลี่ยนนามสกุลมาเป็น “อัมเพทการ์” ตามนามสกุลของครู ทำให้เขามีโอกาสในสังคมมากขึ้น จนกระทั่ง ดร.อัมเพทการ์ได้รับทุนเล่าเรียนจนจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา

ดร.อัมเพทการ์เป็นทั้งนักกฎหมาย นักการเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิจัณฑาล เมื่อเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย เขาจึงร่างกฎหมายให้คนทุกชนชั้นมีสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งยกเลิกวรรณะจัณฑาล

แม้สิทธิและความเสมอภาคของชนชั้นจะมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ คนในสังคมชั้นสูงส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับ

เมื่อความพยายามของเขาในการต่อสู้เพื่อให้ชาวจัณฑาลมีสิทธิเข้าวัดฮินดูได้เช่นคนทั่วไปประสบความล้มเหลว ดร.อัมเพทการ์จึงประกาศไม่นับถือศาสนาฮินดูอีกต่อไป

“ข้าพเจ้าปฏิเสธปรัชญาสังคมฮินดู...อันก่อให้เกิดระบบวรรณะ ซึ่งเป็นระบบแบ่งคนอย่างไม่เสมอภาค ปรัชญาสังคมของข้าพเจ้าต้องประกอบไปด้วยหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ...ข้าพเจ้าได้รับคำสอนเหล่านี้มาจากครูของข้าพเจ้า คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...” ส่วนหนึ่งในคำประกาศของเขา

ดร.อัมเพทการ์

ในปี พ.ศ. 2499 มีชาวอินเดียวรรณะจัณฑาลกว่าสามแสนคนเข้าร่วมพิธีเปลี่ยนศาสนามาเป็นพุทธศาสนิกชนที่เมืองนาคปุระโดยการนำของ ดร.อัมเพทการ์นั่นเอง

การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะของ ดร.อัมเพทการ์ในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ศาสนาพุทธ ในอินเดียทีเดียว แม้ว่าจุดมุ่งหมายเริ่มแรกในการเปลี่ยนศาสนาของพวกเขาก็เพื่อต้องการพ้นจากวรรณะจัณฑาลก็ตาม เพราะในเวลาต่อมาก็พบว่า ศาสนาพุทธ เริ่มขยายตัวไปสู่คนอินเดียในวรรณะอื่นมากขึ้น

ชาวอินเดียที่หันมานับถือ ศาสนาพุทธ นี้ถูกเรียกว่า นีโอบุดดิสต์ (Neo-Buddhist) หรือชาวพุทธใหม่

และในวันนี้ฉันได้เห็นพวกเขาหลั่งไหลกันมาที่มณฑลพิธีที่นาคปุระอย่างมืดฟ้ามัวดิน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น

ประชาชนหลั่งไหลมาร่วมพิธี

พิธีปฏิญาณตนเริ่มในเวลาเก้านาฬิกาตรง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ ดร.อัมเพทการ์ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเมื่อปี พ.ศ. 2499

ผู้ที่มาชุมนุมได้ร่วมกันกล่าวรับคำปฏิญญาในการเปลี่ยนศาสนาของดร.อัมเพทการ์ 22 ข้อ แต่ละข้อล้วนมีใจความปฏิเสธการบูชาเทพเจ้า และยอมรับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

คุณเอส.เค. ปาติล หนึ่งในชาวอินเดียกว่าสามแสนคนที่ร่วมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อม ดร.อัมเพทการ์ ได้เล่าให้ฉันฟังถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นว่า

“ทุก ๆ คนเต็มใจเปลี่ยนมานับถือ ศาสนาพุทธ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นนับถือลัทธิศาสนาต่าง ๆ เยอะมาก และเราไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่หลังจากวันที่ ดร.อัมเพทการ์ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พวกเราก็กลับไปที่บ้าน นำเทวรูปที่เคยบูชาไปลงแม่น้ำ ตอนที่ผมยังเด็ก ๆ ก็เป็นคนเคร่งศาสนาบูชาเทวรูปทุกวัน แต่หลังจากที่หันมานับถือศาสนาพุทธเมื่อตอนอายุ 16 ทุก ๆ คนก็ไม่มีเทวรูปไว้ในบ้านอีกต่อไป เราเคยบูชาขอพรเทวรูป ทั้งเทพและเทวีซึ่งมีอยู่มากมาย ในอินเดียนี่มีเทพเจ้าอยู่นับพันนับหมื่นองค์ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนประชากร จะเห็นว่ามีเทพองค์ใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นอยู่เสมอ เราอยู่ภายใต้การครอบงำของพิธีกรรมดั้งเดิมมานาน จนทำให้ผมรู้สึกว่าเทพเจ้ามีอยู่จริง แต่นับจากวันที่เราหันมานับถือศาสนาพุทธ เรารู้สึกเป็นอิสระ เป็นอิสระจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าที่ไม่เคยช่วยอะไรเราเลย สิ่งแรกเลยที่ได้ คือเราไม่ต้องใส่ใจเรื่องระบบวรรณะ โดยเฉพาะการแต่งงาน เมื่อก่อนนี้เราถูกห้ามแต่งงานข้ามวรรณะ แต่หลังจากวันที่ได้เปลี่ยนมานับถือพุทธ ครอบครัวผมก็ได้จัดงานแต่งงานแรกเลย หลานสาวได้แต่งงานข้ามวรรณะกับคนรักของเขา...ทุกวันนี้เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรแตกต่างจากคนอื่นอีกแล้ว เรารู้สึกเป็นอิสระ เรารู้สึกว่าเรายังมีพี่น้องอยู่ในอีกโลกหนึ่ง อีกสังคมหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองพุทธ”

ภายในบ้านคุณปาติล

ครอบครัวของเขาอยู่ในวรรณะจัณฑาลเช่นกัน เขาได้เห็นดร.อัมเพทการ์และมิตรสหายมาประชุมหารือเรื่องการเปลี่ยนศาสนากันที่บ้านของเขา ตอนนั้น ปาติลเพิ่งจะอายุ 16 ปี พ่อของเขาได้พาลูกๆ ทุกคนตาม ดร.อัมเพทการ์ไปร่วมพิธีในครั้งนั้นด้วย วันนี้ปาติลอายุ 64 ปีแล้ว เขายังคงเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มให้มีการรื้อฟื้นพิธีปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธขึ้นใหม่ที่นาคปุระ เหมือนที่เคยทำกันในสมัย ดร.อัมเพทการ์

ชาวพุทธในอินเดียส่วนใหญ่นั้นมาจากคนวรรณะศูทรและจัณฑาล ซึ่งเป็นวรรณะต่ำที่สุดในสังคมของฮินดู ด้วยความยากจน ถูกกีดกันทางสังคม ทำให้พวกเขาหาทางออกให้หลุดพ้นจากระบบวรรณะโดยการเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ

นับตั้งแต่ ดร.อัมเพทการ์ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ จำนวนชาวพุทธในอินเดียก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสามแสนคนในปี พ.ศ. 2499 นั้น ปัจจุบันมีชาวพุทธที่มาลงทะเบียนไว้กว่าสิบล้านคนทั่วประเทศ

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวพุทธที่มาจากวรรณะจัณฑาลอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน เพราะว่าในอดีตนั้น การยอมลงทะเบียนเป็นชาวพุทธทำให้พวกเขาต้องสละสิทธิ์รับความช่วยเหลือพิเศษจากรัฐบาลที่มีให้แก่คนวรรณะจัณฑาล

ชาวอินเดียมาลงทะเบียนเป็นพุทธมามกะ

แม้กระทั่งทุกวันนี้ ใครก็ตามที่นับถือพุทธก็มักถูกกล่าวหาว่าเป็นจัณฑาลมาก่อน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอินเดียจำนวนมากไม่อยากแสดงตัวว่านับถือ ศาสนาพุทธ

เมื่อชาวพุทธไม่กล้าเปิดเผยตัวเช่นนี้ ทำให้การนับจำนวนชาวพุทธในอินเดียจึงทำได้ยากมาก แต่จากความพยายามสำรวจประชากรชาวพุทธของมหาโพธิสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2544 พบว่า มีชาวอินเดียที่นับถือ ศาสนาพุทธ ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียนอยู่ราว 50 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรอินเดียทั้งประเทศ

แม้ชาวพุทธส่วนใหญ่เหล่านี้ยังไม่สามารถหลีกหนีจากสังคมในระบบวรรณะได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในทางจิตใจแล้วพวกเขาถือว่าได้หลุดพ้น เป็นอิสระทางใจและทางความคิด

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"


ไปข้างบน