ตอนที่ 1 สู่ต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา
กฤษณะโอชากำลังฝึกโยคะ
แม้ทุกวันนี้เมืองฤาษีเกศก็ยังมีชื่อเสียงในเรื่องการศึกษาวิชาโยคะอยู่ เช่น กฤษณะโอชา เขามีอาศรมอยู่ที่ฤาษีเกศ ทุก ๆ วันเขาจะออกมาปฏิบัติโยคะที่ริมแม่น้ำคงคา
“ท่าโยคะที่ผมฝึกฝนอยู่นี่ ก็เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงไว้ก่อน เวลาเรานั่งสมาธินานๆ ก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวด เมื่อร่างกายแข็งแรง เราจึงควบคุมจิตใจให้นิ่งให้อยู่ในวินัยได้ จากนั้นเราก็สามารถกวาดล้างมลทินที่ห่อหุ้มจิตใจออกไปได้ เหลือแต่ดวงจิตที่บริสุทธิ์ ผมก็จะบรรลุหนทางไปสู่พรหม เป็นความสุขสูงสุดของชีวิต”
กฤษณะโอชากำลังฝึกโยคะ
โยคะเป็นวิธีการหนึ่งตามแนวทางของคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเกิดขึ้นในยุคหลังคัมภีร์พระเวท อุปนิษัทมีหลักอยู่ว่า ความสุขที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตนั้นจะต้องปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ให้ดวงวิญญาณกลับไปรวมกับพรหมได้ในที่สุด
ผู้คนในยุคนั้นจึงพากันแสวงหาหนทางหยุดการเวียนว่ายตายเกิดด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้เกิดเจ้าลัทธิ เจ้าสำนักขึ้นมากมาย บางสำนักยึดถือวิธีการบำเพ็ญตบะ เป็นการทำกายให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงพรหมด้วยการทรมานกายโดยมีความเชื่อว่า ให้ร่างกายรับกรรม รับทุกข์เสียในชาตินี้ทั้งหมด จะได้ไม่ต้องเกิดมารับกรรมอีก
แนวคิดอุปนิษัทนี้เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อนพุทธกาล ในสมัยนั้นพราหมณ์ได้สร้างพระพรหมขึ้นมาเพื่อตอบข้อสงสัยว่า เทพเจ้ามากมายที่มีอยู่มาจากไหน ใครเป็นผู้สร้าง พระพรหมจึงกลายเป็นเทพเจ้าสูงสุดเหนือเทพทุกองค์ เป็นผู้สร้างทั้งเทพเจ้าบนสวรรค์และสิ่งมีชีวิตบนโลก แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของศาสนาเชนและ ศาสนาพุทธ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดของคัมภีร์อุปนิษัทไปเช่นกัน
ท่านสวามีสุนทรานันท์
ปัจจุบันฉันพบว่าชาวอินเดียบางส่วนก็ยังไม่หยุดค้นหาหนทางหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับกฤษณะโอชา และเหล่านักบวชที่เรียกว่า สาธุ โยคี อีกจำนวนมาก
เช่นเดียวกับท่านสวามีสุนทรานันท์ ที่ฉันได้มีโอกาสมาพบระหว่างการเดินทางครั้งนี้
สวามีสุนทรานันท์เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกเดินทางค้นหาหนทางสู่พรหม เขาใช้เวลากว่า 50 ปี เดินทางไปทั่วหิมาลัยเพื่อแสวงหาคำตอบ แต่ในที่สุดเขาก็ได้ค้นพบท่านั่งโยคะที่เรียกว่า อินทราจิต (Indrejeet) ทำให้เขาบรรลุถึงการชำระจิตใจขั้นสูง ที่เขาบอกว่าเป็นเหมือนการเกิดใหม่ที่บริสุทธิ์ขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้
พราหมณ์กำลังเริ่มทำพิธีคงคาอารตี
แม้ว่าเมืองฤาษีเกศจะมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เหล่าสาธุและโยคีต้องหนีไปหาความสงบวิเวกในป่าลึก แต่ก็ยังเห็นได้ว่าฤาษีเกศยังคงเป็นเมืองแห่งสำนักปฏิบัติโยคะของผู้ที่ต้องการค้นหาความจริงสูงสุดของชีวิตให้เดินทางมาศึกษาอยู่ตลอดเวลา
การที่ได้เดินทางตามรอยผู้จาริกแสวงบุญครั้งนี้ ทำให้ฉันได้เห็นความพยายามของมนุษย์ที่จะหาทางติดต่อกับเทพเจ้า ไม่ว่าด้วยการบำเพ็ญตบะ การปฏิบัติโยคะ การออกจาริกบุญเดินทางด้วยเท้านานนับเดือน หรือแม้แต่การลอยไฟสู่แม่น้ำเพื่อบูชาและสื่อสารถึงเทพเจ้า
ชาวฮินดูเชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้ประทานน้ำคงคามาหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก แม่คงคาจึงเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาเคารพบูชานับตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ที่ท่าน้ำแห่งหนึ่งในเมืองฤาษีเกศ ทุกๆ วันจะมีผู้คนเข้ามาร่วมพิธีบูชาแม่น้ำคงคาด้วยไฟ พวกเขานำดวงไฟมาลอยแม่น้ำ เพื่อนำทางข้อความที่ร้องขอไปยังเทพเจ้า นี่คือพิธีที่เรียกว่า “คงคาอารตี”
ขณะที่ฉันยืนอยู่ท่ามกลางชาวฮินดูที่กำลังสวดสรรเสริญเทพเจ้าในพิธีคงคาอารตี ฉันรับรู้ได้ถึงพลังอย่างหนึ่งที่สะกดผู้คนให้ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันเป็นพลังของความสุข ความเป็นมิตร แต่ยังคงความขลังของพิธีกรรมเอาไว้
เสียงเพลงสวดเพลงแล้วเพลงเล่า ทุกคนสนุกสนาน มีความสุขที่ได้มาร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ไม่มีช่วงไหนของพิธีที่ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ถ้านี่คือกุศโลบายในการดึงคนให้มาร่วมพิธีกรรมทางศาสนา พวกเขาก็ทำได้อย่างดีทีเดียว
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|