หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป บางที “บั้งไฟพญานาค” อาจสูญพันธุ์


บั้งไฟพญานาคปรากฏการณ์ที่ยังคงเป็นปริศนาท้าให้คนพิสูจน์หาข้อเท็จจริงกันต่อไป

พอถึงช่วงเทศกาลออกพรรษาทีไรชาวหนองคายและจังหวัดใกล้เคียงก็ดูจะคึกคักมากขึ้นตามไปด้วย เพราะในช่วงนี้ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศนับเป็นแสนๆ คน จะหลั่งไหลเข้ามาในจังหวัดหนองคาย และเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อรอชม “บั้งไฟพญานาค” ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในลำน้ำโขง

บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันออกพรรษา หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (ปีนี้วันออกพรรษาตรงกับวันที่ 26 ต.ค.50) โดยพอถึงเวลาเหมาะสมที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ณ ในลำน้ำโขงจังหวัดหนองคาย บริเวณ อ.โพนพิสัย ไปจนถึง กิ่ง อ.รัตนวาปี จะเกิดมีลูกไฟสีแดงอมชมพูขนาดประมาณไข่ไก่ผุดขึ้นมา และพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศประมาณ 50-150 เมตร ก่อนที่จะหายวับไปพร้อมๆกับทิ้งปริศนาไว้ให้ผู้พบเห็นได้ “งึด” (สงสัย อัศจรรย์ใจ : ภาษาอีสาน) กันต่อไปว่า ลูกไฟปริศนาที่ถูกเรียกว่าบั้งไฟพญานาคนั้นเกิดจากสิ่งใด และเกิดขึ้นได้อย่างไร

สำหรับข้อสันนิษฐานสาเหตุการเกิดบั้งไฟพญานาคหลักๆ ในตอนนี้ก็มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ข้อแรกเป็นข้อที่ได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดในขณะนี้ก็คือความเชื่อที่ว่า มนุษย์นั่นเองที่เป็นผู้สร้างบั้งไฟพญานาคขึ้น บางคนก็ว่าทหารจากฝั่งลาวเป็นผู้ยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้าเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวันออกพรรษา แต่ความคิดนี้ก็ถูกลบล้างไปด้วยเหตุผลที่ว่า บั้งไฟพญานาคนั้นมีอายุมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ดังนั้นก็ย่อมมีมาก่อนปืนของทหารลาวแน่นอน

ข้อสันนิษฐานประการที่สอง เป็นความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนใหญ่ และมีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธ คือเชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเกิดจากการกระทำของพญานาค ซึ่งเป็นผู้จุดบั้งไฟถวายแด่พระพุทธเจ้าในวันออกพรรษา เพื่อเป็นการต้อนรับหลังจากที่พระองค์เสด็จกลับจากการเทศนาโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจากนั้นทุกวันออกพรรษาพญานาคก็จะจุดบั้งไฟถวายเป็นพุทธบูชา

ส่วนข้อสันนิษฐานสุดท้าย เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคนั้นเกิดด้วยฝีมือของธรรมชาติ คือเกิดจากก๊าซร้อน ที่มีส่วนผสมของก๊าซมีเทน และก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเกิดจากการหมักตัวของซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และแบคทีเรีย เมื่อก๊าซที่ฝังตัวอยู่ใต้แม่น้ำโขงโดนแรงกดดันจากน้ำและอากาศที่เหมาะสม ก็จะพุ่งขึ้นมาเหนือน้ำ และเมื่อก๊าซนั้นกระทบกับออกซิเจน ก็จะเกิดการสันดาปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นลูกไฟ หรือบั้งไฟพญานาคอย่างที่เห็นกัน





แม่น้ำโขงแหล่งกำเนิดบั้งไฟพญานาคที่วันนี้ระบบนิเวศได้ถูกทำลายมากขึ้น

ซึ่งข้อสันนิษฐานสุดท้ายนี้ ทางทีมวิจัยปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าบั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 100% ซึ่งเกิดจากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ใต้แหล่งน้ำที่ปรับตัวเองเป็นก๊าซที่ติดไฟได้

ส่วนสาเหตุของการเกิดบั้งไฟที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรนั้น ณ วันนี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ แต่หากมองจากสภาพแม่น้ำโขงในปัจจุบันที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายก็น่าคิดว่า บางทีในอนาคตบั้งไฟพญานาคอาจสูญหายไปจากพื้นที่จังหวัดหนองคายและเวียงจันทน์ก็เป็นได้

เพราะแม่น้ำโขงในวันนี้ไม่ได้อยู่สุขสบายเหมือนแต่ก่อน การระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขง ช่วงชายแดนเชียงรายกับสปป.ลาว การสร้างเขื่อนในประเทศจีน การดูดทรายจากแม่น้ำโขงเพื่อไปใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ย่อมทำให้แม่น้ำโขงในวันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ให้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ไม่มีแก่งหินที่จะคอยชะลอความแรงของกระแสน้ำ และกระแสน้ำที่รุนแรงนอกจากจะทำให้ซัดตลิ่งพังแล้ว ก็ยังทำให้ร่องน้ำที่มีอยู่เดิมนั้นเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนั้นการที่จะให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาวิ่งในแม่น้ำโขง ใบพัดของเรือก็จะทำให้เกิดตะกอนในแม่น้ำฟุ้งกระจายมากกว่าปกติ เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ รวมถึงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนที่ประเทศจีน ส่งผลให้กระแสน้ำโขงเปลี่ยนทิศทาง ส่วนการดูดทรายจากก้นแม่น้ำไปใช้นั้น ก็ย่อมทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงถูกทำลายลง





ผู้คนต่างมารอชมบั้งไฟพญานาคที่ริมโขง อ.โพนพิสัยกันอย่างมืดฟ้ามัวดินในทุกวันออกพรรษาของทุกปี

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ แม้จะอยู่ห่างจากจุดที่มีบั้งไฟพญานาคขึ้นเป็นประจำ แต่ในระยะยาวก็อาจส่งผลกระทบถึงบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งเรื่องนี้ นพ. มนัส กนกศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย หนึ่งในผู้ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคมาเป็นสิบๆ ปี ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อก่อนนั้นบั้งไฟพญานาคก็เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดนครพนม แต่ในตอนนี้ไม่มีแล้วเนื่องจากระบบนิเวศของลำน้ำโขงถูกทำลายลง จนกลัวว่าวันหนึ่งบั้งไฟพญานาคที่หนองคายอาจจะหายไปได้

“กระแสน้ำบริเวณอำเภอโพนพิสัยนั้นค่อนข้างเชี่ยว การจะไปดูดทรายมาใช้นั้นทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนา กรกฎา สิงหา กันยา 4 เดือนนี้จะไม่มีใครไปดูดทรายแถวนั้น เมื่อไม่มีใครไปทำลายระบบนิเวศน์ในช่วงนี้ ก๊าซร้อนที่ทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคก็มีโอกาสหมักตัว ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน แต่เดี๋ยวนี้เราเริ่มมีการไปดูดทรายสร้างสิ่งก่อสร้างแถวนั้น บั้งไฟพญานาคทางฝั่งเราจึงไม่ค่อยขึ้น แต่จะไปขึ้นทางฝั่งลาวมากกว่า” นพ.มนัส กล่าว

“และถ้าในอนาคตเรายังมีโครงการต่างๆ ที่ทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงกันไปเรื่อยๆ วันหนึ่งบั้งไฟพญานาคก็อาจหายไปได้” นพ.มนัส กล่าวเสริม

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หากแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อบั้งไฟพญานาคในทางวิทยาศาสตร์ และหากมองในมุมของความเชื่อที่ว่า พญานาคเป็นผู้สร้างบั้งไฟแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปจนถึงจุดๆ หนึ่ง พญานาคเองก็อาจอยู่ไม่ได้ จนต้องย้ายที่อยู่ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะให้คำตอบแทนพญานาคไม่ได้ แต่หากคิดง่ายๆ ว่า หากมีใครมาทำลายบ้านของเรา แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร และในขณะนี้บั้งไฟก็ได้ย้ายไปเกิดขึ้นในหลายพื้นที่นอกจากในอำเภอโพนพิสัย เช่น ที่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดหนองคาย หรือในจังหวัดหนองบัวลำพู แต่ก็มีลูกไฟจำนวนน้อย

บั้งไฟพญานาคในวันนี้ยังคงมีมนต์ขลังแห่งความลึกลับที่ดึงดูดผู้คนให้มาพิสูจน์ด้วยตาตนเอง แต่หากวันหนึ่งบั้งไฟที่เคยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงทุกๆ คืนวันออกพรรษาต้องลดน้อยลงหรือหมดไป ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับคนหนองคาย และคนไทยทั้งประเทศมากทีเดียว

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
แห่ดูบั้งไฟพญานาคโขงเจียม คาดเงินสะพัดนับสิบล้าน
โลกร้อน-กระทบ บั้งไฟพญานาค
ลุ้นพุ่งขึ้นฟ้า-บั้งไฟ "พญานาค" รับคลื่นคน-ทะลัก!
ตามรอยพญานาค…จากคำชะโนดถึงหนองคาย
เรื่องเล่าจากป่าคำชะโนด
ตามรอย(บั้งไฟ)พญานาค ธุรกิจเงินล้าน
เลาะริมโขง รู้จักจุดชม "บั้งไฟพญานาค"
หลากหลายประสบการณ์...กับพญานาค
พบรอยพญานาคโผล่ก่อนถึงวันออกพรรษา
อลังการแสงสีเสียงตำนานบั้งไฟพญานาค
คืนวันออกพรรษา ลุ้นระทึกกับ‘บั้งไฟพญานาค’
บั้งไฟพญานาค: ปฏิกิริยาเคมีในลำโขง
เที่ยวหนองคาย ลุ้นระทึกกับ"บั้งไฟพญานาค"!!!
“บั้งไฟพญานาค” กับเหตุผลที่คนทำได้และไม่ได้
ชาวบ้านแตกตื่นแห่ดูพญานาคน้ำโขง
เล่าขานตำนานบั้งไฟพญานาค
ปริศนา?? บั้งไฟพญานาค : ต่างมุมต่างความคิด


ไปข้างบน