ตามรอย(บั้งไฟ)พญานาค ธุรกิจเงินล้าน
เรื่องราวเร้นลับ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทว่าในทางตรงกันข้าม ยิ่งลับ ยิ่งมหัศจรรย์ ผู้คนยิ่งอยากจะพิสูจน์ สนใจใคร่รู้ เช่นเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่กำลังงวดเข้ามาทุกขณะ นั่นคือ “บั้งไฟพญานาค” ลูกไฟดวงสีแดงที่พวยพุ่งขึ้นมาจากใต้ลำน้ำโขง ณ จ.หนองคาย ในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปี 2550 นี้ตรงกับวันที่ 26 ต.ค. 2550
อีกหนึ่งความ (เชื่อ) เชื่อมโยง ในแง่ของพญานาค ก่อนที่ผู้คนจำนวนมากจะหลั่งไหลสู่ จ.หนองคาย เส้นทางหน้าด่านสำคัญอีกหนึ่งจังหวัด คือ จ.อุดรธานี ณ ที่แห่งนี้มี “ป่าคำชะโนด” ที่ซึ่งมีความเชื่อ เล่าขานกันว่า เป็นปากเมืองบาดาล หรือมีชื่อเรียกว่า “วังนาคิน ป่าคำชะโนด”
ทุกๆ ปี เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มาถึง มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพื่อชมบั้งไฟพญานาคกันเป็นจำนวนมาก ทั้งมาแบบส่วนตัว หรือคณะทัวร์ แน่นอนละว่าย่อมมีเงินสะพัด เศรษฐกิจพุ่งชั่วพริบตา ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้
บุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 5 เผยถึงตัวเลขเม็ดเงินของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ในช่วงเทศกาลออกพรรษาของปีที่ผ่านๆ มาว่า โดยเฉลี่ยแล้วจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนคน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 800 บาท
ในปีที่ผ่านๆ มาผู้คนมักจะตรงดิ่งไปที่ จ.หนองคาย เพื่อชมบั้งไฟพญานาค และทาง ททท. เองก็ยังไม่ได้ทำทัวร์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ล่าสุด ททท. ได้ผุดโครงการท่องเที่ยวประจำปี 2551 ในคอนเซปต์ “ตามรอยพญานาค” โดยควบรวมตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งพอดิบพอดีกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวนี้เริ่มต้นที่วังนาคิน ป่าคำชะโนด จ.อุดรธานี ไปจบที่ จ.หนองคาย อีกหลากหลายโปรแกรม อาทิ
ชมบั้งไฟพญานาค (ในช่วงปรากฏการณ์) ท่องเที่ยวเลียบริมฝั่งโขง เพื่อชมวิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่ง จ.หนองคาย ได้ชื่อว่ามีภูมิประเทศคดเคี้ยวยาวไปตามลำน้ำโขง เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ “พญานาค”
เริ่มที่ปากเมืองบาดาล “ป่าคำชะโนด” ตั้งอยู่ที่ ต.วังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี สุรชัย ศรีพลอย ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. เล่าว่า ป่าคำชะโนดป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ซึ่งถูกนำมาประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวนานนับสิบปีแล้ว โดยจัดให้อยู่ในหมวดของ “การท่องเที่ยววิถีชีวิตและวัฒนธรรม” ในส่วนกลางของ ททท. เบื้องต้นก็เป็นการประชาสัมพันธ์ให้รับทราบ “เราต้องสร้างการรับรู้ให้คนมากขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีแต่ชาวบ้านจังหวัดใกล้เคียงมา ตอนนี้เราก็กระตุ้นให้คนมามากขึ้น”
บุณยานุช ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ว่า ในปี 2545 ป่าคำชะโนดจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว “อันซีนไทยแลนด์” เพราะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จัก และก็มีเรื่องราวเร้นลับ
ป่าคำชะโนด ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค
“ป่าคำชะโนดเป็นเกาะ ถ้าดูในเรื่องของวิทยาศาสตร์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นป่าพรุ เราเปรียบเทียบเป็นโอเอซิส เพราะเขาเป็นเกาะที่ลอยอยู่ตลอด ไม่มีจม น้ำขึ้นขึ้นด้วย น้ำลงลงด้วย เราก็เสนอในเรื่องของอันซีนโอเอซิส ตรงนี้ถือเป็นป่าพรุแห่งเดียวในภาคอีสาน ถือเป็นจุดขาย และยังมีในเรื่องของความเชื่อที่ผู้คนมักมาบูชาขอให้สมประสงค์ โดยเฉพาะคนที่ต้องการมีลูก ซึ่งในการมาเยือนชาวบ้านริมฝั่งโขงที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคจะมากันอยู่แล้ว พอมีการประชาสัมพันธ์ก็มีมากขึ้น ในช่วงปกติมีประมาณ 100-200 คน ช่วงก่อนออกพรรษาประมาณ 500-1,000 คน แค่เงินทำบุญก็ตกปีละเป็นล้านแล้ว”
ต่อด้วยการชมบั้งไฟพญานาคที่ จ.หนองคาย “ป่าคำชะโนดอยู่ในเส้นทางที่เราจะเชื่อมไปหนองคาย เลี้ยวขวาเพียง 30 กิโลเมตร ก็ถึง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จุดชมบั้งไฟพญานาค ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้เส้นทางนี้เป็นหลัก ซึ่งราคาทัวร์ของ ททท. ไป-กลับ 1 วัน ประมาณ 800 บาท หากพัก 2 วัน 1 คืน ก็เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ซึ่งยอดจองตอนนี้มีมาเป็นจำนวนมาก
ป่าคำชะโนด ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค
บั้งไฟพญานาคในแต่ละปีจะขึ้นให้เห็น 1-2 วัน หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะบั้งไฟพญานาคมักจะขึ้นตรงกับวันออกพรรษาของประเทศลาว ซึ่งในแต่ละปีมักจะเหลื่อมกับเราอยู่ 1 วัน แต่ในปีนี้ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 วัน ออกพรรษาของลาวและไทยตรงกัน คือวันที่ 26 ต.ค.
อีกเพียงไม่กี่วัน ปรากฏการณ์ที่เรียกขานกันว่า “บั้งไฟพญานาค” จะเกิดขึ้น ผู้คนจากทุกสารทิศต่างจะมุ่งหน้าไปยังเมืองเล็กๆ แต่สงบงามแห่งนี้ แน่นอนละว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลมากกว่าจำนวนห้องพักที่ทางจังหวัดจะรองรับได้ แต่อย่ากังวลเรื่องนี้ เพราะทางจังหวัดได้เตรียมที่พักไว้ อาทิ โฮมสเตย์ ซึ่งตรงนี้จะสะดวกเพราะใกล้กับสถานที่ดู และลานกางเต็นท์ในตัวจังหวัด
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
********************
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
หลากหลายประสบการณ์...กับพญานาค
พบรอยพญานาคโผล่ก่อนถึงวันออกพรรษา
|