กองทัพธรรมพระเจ้าอโศก วันที่โลกได้รู้จักพระพุทธเจ้า
ขบวนขนเสาหินของพระเจ้าอโศก
หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานก็ไม่มีการแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นผู้นำศาสนาพุทธแทน พระพุทธเจ้าทรงบอกแต่เพียงว่า “ธรรมะเท่านั้นที่เป็นศาสดาแทนพระองค์”
จนกระทั่งเกือบ 300 ปีต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้นำพระธรรมของพระพุทธเจ้าออกไปเผยแผ่เกือบทั่วโลก
ฉันเดินทางต่อไปที่รัฐโอริสสา เพราะสงครามที่โหดร้ายทารุณซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นเมื่อ 2,000 ปีก่อน ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา
ดร.จี.ซี. ประธาน ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกโบราณของอินเดีย ประจำหน่วยโบราณคดีรัฐโอริสสา พาฉันมาที่เชิงเขาเธาลีคีรี (Dhauli Giri) ใกล้เมืองภุพเนศวร (Bhubaneswar) เธาลีคีรีเป็นภูเขาหินขนาดย่อม ภายในบริเวณมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอยู่ เขาต้องการให้ฉันได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ใช้ในการสอนธรรมะของพระเจ้าอโศก เจ้าหน้าที่นำเราเดินขึ้นเขาไปตรงจุดที่มีประตูรั้วล้อมไว้ด้วยลูกกรงเหล็กลั่นกุญแจแน่นหนา
มันคือก้อนหินขนาดใหญ่ จารึกอักขระโบราณที่เรียกว่าอักษรพราหมี ที่ ดร.จี.ซี. ประธาน บอกว่าเป็นกุญแจที่ไขเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศก
“พระเจ้าอโศกสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้อุปถัมภ์พระภิกษุสงฆ์ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยจารึกไว้บนแผ่นหินแบบที่เห็นนี้ตามเมืองต่างๆทั่วอินเดีย” ดร.จี.ซี. ประธาน อธิบาย
แผ่นจารึกธรรมและรัฐบัญญัติสมัยพระเจ้าอโศกที่เธาลีคีรี เมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา
“แล้วทุกๆ แห่งที่พบ มีข้อความในจารึกเหมือนๆ กันหรือเปล่าคะ” ฉันซัก
“ที่เราเห็นนี้ แทนที่จะมี 14 หัวข้อแบบที่อื่นๆ กลับพบว่ามีเพียงข้อ 1 ถึง 10 แล้วข้ามไปเขียนข้อ 14 เลย... ไม่มีข้อ 11, 12 และ 13... พวกเราวิเคราะห์กันว่า ที่ข้ามไปก็เพราะมันมีเนื้อหาพูดถึงสงครามกลิงคะ พระเจ้าอโศกคงไม่อยากตอกย้ำเรื่องอดีตที่พระองค์ทำสงครามบุกแคว้นกลิงคะจนผู้คนล้มตายนับแสนให้คนที่นี่สะเทือนใจ
เพราะที่โอริสสานี่ก็คืออดีตแคว้นกลิงคะนั่นเอง...แต่ก็ทรงให้จารึกข้อความเพิ่มเติมนี้มาแทน ความว่า...พระองค์มีพระราชโองการให้มหาอำมาตย์มาดูแลชาวกลิงคะให้อยู่กันอย่างสมบูรณ์พูนสุข...เป็นจารึกพิเศษที่พบที่นี่เท่านั้น”
แทบไม่อยากเชื่อว่าพระเจ้าอโศกเคยเป็นกษัตริย์ที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุด ทรงขยายอาณาจักรด้วยเลือดเนื้อด้วยสงคราม เพื่อรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก ให้เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวของชมพูทวีป คืออาณาจักรเมารยะของพระองค์
แคว้นกลิงคะเป็นแคว้นสุดท้ายที่พระองค์เสด็จมาพิชิต เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุด มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายหลายแสนคน แต่ชัยชนะในครั้งนั้นกลับสร้างความสลดใจแก่พระเจ้าอโศกอย่างรุนแรง
ฉันเดินตาม ดร.ประธานขึ้นไปบนเขาเธาลีคีรีอีกอึดใจ ซึ่งยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านเล่าว่า
“ตรงจุดนี้ละครับ เราพบหินแกะสลักรูปช้าง น่าจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่งถึงการที่พระเจ้าอโศกได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธที่นี่ เพราะตอนที่พระเจ้าอโศกหันมานับถือศาสนาพุทธนั้นยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา ช้างนี้ละครับที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า...”
สลักหินเป็นรูปช้างที่เธาลีคีรี
ความสลดใจจากสงครามกลิงคะทำให้พระเจ้าอโศกหันมาศึกษาพระธรรมในพุทธศาสนา และเริ่มทำนุบำรุงพระศาสนาด้วยการเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทั่วพระราชอาณาจักร
ข้อความหนึ่งในจารึกได้แสดงความในใจของพระเจ้าอโศกไว้ว่า
“ชัยชนะที่แท้จริงคือการชนะจิตใจของคนด้วยพระธรรม...พระองค์ได้บรรลุชัยชนะเช่นนี้แล้ว ไม่เฉพาะในราชอาณาจักรของพระองค์เท่านั้น หากในแว่นแคว้นแดนไกลอื่นๆ ด้วย...”
พระเจ้าอโศกได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนา สู่ดินแดนต่างๆ ถึง 9 สาย ทั้งในและนอกชมพูทวีป จนทำให้ ศาสนาพุทธเจริญแพร่หลายต่อไปในดินแดนอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่นครกัศมีร์หรือแคชเมียร์ทางตอนเหนือของอินเดีย จนถึงตอนใต้คือเกาะลังกา และเผยแผ่เข้าไปสู่เนปาล
จีน ทิเบต มองโกเลีย เอเชียกลาง ดินแดนอาหรับ อียิปต์ รวมถึงสุวรรณภูมิ
รูปพระเจ้าอโศกมหาราช
ในสมัยพระเจ้าอโศกนั้น ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ทรงอำนาจในอินเดียและการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศนั้นทำให้นักปราชญ์ทางพุทธหลั่งไหลจากอินเดียไปสู่ประเทศอื่น และจากประเทศอื่นเข้ามาในอินเดียโดยไม่ขาดสายเป็นเวลาติดต่อกันหลายร้อยปี
กลิงคะในปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของรัฐโอริสสา ถึงผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่จะนับถือศาสนาฮินดู แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ พระพุทธเจ้า ยังคงให้ความเคารพศรัทธาเช่นเทพเจ้าพระองค์หนึ่งของฮินดู
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|