เมืองพุทธแห่งหิมาลัย
รูปภาพ วัดติกเซ ลาดัก นำมาจาก http://www.markhorrell.com/travel/india/leh/ind_thikse.html
ที่รัฐแคชเมียร์ทางตอนเหนือของอินเดียมีอาณาจักรพุทธเก่าแก่อยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า ลาดัก
ลาดักอยู่ในใจกลางเทือกเขาหิมาลัย ติดกับจีนและทิเบต ทำให้การเดินทางไปลาดักในอดีตยากลำบากมาก แต่ก็กล่าวกันว่าศาสนาพุทธจากแคว้นแคชเมียร์ยังได้เผยแผ่ไปจนถึงลาดัก ขณะเดียวกันลาดักเองก็ได้รับอิทธิพลของ ศาสนาพุทธมาจากทางทิเบตเช่นกัน
ปัจจุบันลาดักเป็นเมืองพุทธแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในรัฐแคชเมียร์ภายใต้อาณัติของอินเดีย และชาวลาดักก็ยังดำเนินชีวิตอย่างชาวพุทธสืบต่อมาตั้งแต่พุทธล่มสลายไปจากแผ่นดินใหญ่ในอินเดีย
ฉันตามรอย พุทธศาสนา ในอินเดียมายังลาดัก อดีตนครรัฐบนเส้นทางการต้าในเทือกเขาหิมาลัย บนรอยต่อระหว่างอินเดีย จีน และทิเบต สิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นในลาดักวันนี้อาจช่วยให้เราปะติดปะต่อภาพอดีตของชาวพุทธในอินเดียบางส่วนในช่วงสุดท้ายของประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลาดักตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย ล้อมรอบด้วยภูเขาหิมะสูงสลับซับซ้อน ยากที่ใครจะเข้าถึงได้ง่าย พุทธศาสนาที่ลาดักจึงรอดพ้นจากการถูกทำลายเพราะปราการทางธรรมชาติช่วยไว้ ขณะที่สถาบันพุทธในแว่นแคว้นอื่น ๆ ของอินเดียถูกบุกทำลายจนหมดสิ้น
สถาบันพุทธในลาดักเป็นพุทธนิกายตันตระยานหรือวัชรยาน ซึ่งเป็นพุทธนิกายสุดท้ายที่เกิดขึ้นและรุ่งเรืองในอินเดียตะวันออก ก่อนที่ศาสนาพุทธจะเสื่อมสูญไปจากอินเดีย และที่สำคัญ ศาสนาพุทธในลาดักมีความต่อเนื่องยาวนาน แม้จะได้รับการเผยแผ่ศาสนาผ่านมาทางทิเบตก็ตาม แต่ก็อาจช่วยให้เราได้เห็นบางส่วนของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอินเดียผ่านสถาบันพุทธในลาดักได้
เลห์ เมืองหลวงของลาดัก
ฉันเดินทางมาถึงลาดัก เมืองพุทธแห่งรัฐชัมมูและแคชเมียร์ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งกำลังย่างเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน แต่อากาศยังคงหนาวเย็นอยู่
เลห์ เมืองหลวงของลาดัก เป็นเมืองเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาหิมะ ผู้คนคับคั่ง ทั้งชาวเมือง พระ พ่อค้า และนักท่องเที่ยว ขณะที่ฉันกำลังรอคนมารับอยู่หน้าร้านเครื่องประดับ ก็ได้คุยกับพ่อค้าคนหนึ่ง เขามาจากแคชเมียร์ เอาผ้าและเครื่องประดับมาขายนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ทุกปี เขาบอกว่า พอเข้าหน้าหนาว หิมะจะท่วมเมือง แทบไม่มีผู้คนให้เห็น เพราะเจ้าของร้านค้าจะปิดร้านหนีหนาวไปเมืองอื่นกันหมด
อาศิษ ชวาลา ชาวอินเดียผู้ประสานงานในลาดักขับรถมารับฉันตามที่นัดกันไว้ ขณะที่นั่งรถไปยังที่พัก เขาก็เล่าประวัติของที่นี่ให้ฟังไปด้วย
“คนลาดักมีปะปนกันหลายเชื้อชาติครับ ก่อนที่จะสถาปนาขึ้นเป็นนครรัฐลาดัก ที่นี่เคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ที่อพยพมาจากที่ราบสูงทิเบตมาก่อน ต่อมาก็มีพวกมอนปะจากแคชเมียร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการเพาะปลูก เชื่อกันว่าพวกมอนปะนี่เองที่นำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแผ่ในลาดัก
บ้างก็ว่าเข้ามากันตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกโน่นละครับ บ้างก็ว่ามอนปะอาจอพยบมาจากแคว้นแคชเมียร์ในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งก็เป็นช่วงพุทธมหายานกำลังเฟื่องฟูในอินเดียเหนือ”
หมู่เจดีย์สีขาวสร้างไว้ทั่วลาดักเพื่อปกป้องคุ้มครอง
ก่อนที่ลาดักจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ของอินเดีย ลาดักเคยเป็นรัฐอิสระที่ปกครองโดยกษัตริย์มายาวนานกว่า 1,000 ปี เมื่อนครรัฐสถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14 นั้น ศาสนาพุทธในอินเดียตะวันออกได้เข้าสู่ยุคของพุทธตันตรยานแล้ว เราจะพบว่า ตามเขตวัด พระราชวัง และหมู่บ้านต่างๆ จะสร้างสถูปเอาไว้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองเคหสถานของชาวลาดัก
ภายในสถูปยังเป็นที่บรรจุอัฐิของพระสงฆ์และบุคคลสำคัญ บ้างก็เป็นที่บรรจุพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูป ซึ่งหมู่สถูปบางแห่งมีอายุหลายร้อยปี ชาวลาดักก็ยังคอยบูรณะและทาสีใหม่อยู่เรื่อย ๆ
พุทธตันตระยานได้ถูกเผยแพร่สู่ทิเบตโดยชาวอินเดียที่มีความรู้ขั้นสูงอย่างท่านคุรุปทุมสมภพ และพระครูอตีศะ ซึ่งเดินทางมาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์วิกรมศิลาในอินเดีย หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาแตกสาขาไปอีกหลายนิกาย ด้วยความใกล้ชิดกับทิเบต ทั้งด้านภูมิศาสตร์และเชื้อชาติ ทำให้พุทธตันตรยานจากทิเบตแพร่หลายสู่ลาดักอย่างง่ายดาย
วัดซังการ์
วัดซังการ์ (Sankar) เป็นวัดพุทธตันตรยาน นิกายเกลุกปะ (Gelugpa) หรือนิกายหมวกเหลือง และเคยเป็นที่ประทับของพระสังฆราชแห่งลาดักซึ่งเพิ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อไม่นานนี้ ฉันมีโอกาสได้มาเห็นพิธีสวดของพระหมวกเหลืองที่วัดซังการ์พอดี พิธีสวดแบบพุทธตันตรยานสายทิเบตนั้นจะต้องมีการประโคมดนตรีไปพร้อมกัน
ลามะทิเบตอาวุโสท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงความสำคัญของการใช้ดนตรีในพิธีสวดบูชานี้ว่า “ศาสนาก็คือเสียง”
เมื่อหน้าที่สำคัญของพระสงฆ์คือการศึกษาพระธรรมและเผยแผ่พระธรรมสู่มวลมนุษย์ พระสงฆ์สายตันตรยานก็เช่นกัน เหตุนี้ท่านจึงได้ฝึกฝนจดจำมนตราในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการท่องซ้ำๆ เป็นทำนอง
จากการท่องมนตราเพื่อจดจำเพียงผู้เดียว ก็กลายเป็นการสวดมนต์เป็นหมู่คณะเพื่อเผยแผ่พระธรรมไปในที่สุด
ประชาชนในแถบนี้มีความเชื่อดั้งเดิมว่า มีเทพเจ้าสถิตอยู่ในธรรมชาติ ในต้นไม้ ในก้อนหิน และในบ้านเรือน การสวดมนต์ด้วยการส่งเสียงดังจะทำให้เทพเจ้าเหล่านั้นได้ยินพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้
ได้มีการศึกษาเรื่องความถี่ของเสียงสวดในลำคอกับความถี่คลื่นสมองของพระขณะที่สวดมนต์ พบว่ามีระดับเท่ากัน และยังเป็นคลื่นความถี่เดียวกับพลังเงียบขณะที่นั่งวิปัสสนาสมาธิด้วยเช่นกัน
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|