เมืองพุทธแห่งหิมาลัย
พระราชวังเลห์
พระราชวังเลห์สร้างขึ้นโดยพระเจ้าเซงกี นัมจัล กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของลาดักในพุทธศตวรรษที่ 17 เมื่อทรงย้ายเมืองหลวงมาที่เลห์
พระราชวังตั้งอยู่บนเนินเขาสูง สามารถมองเห็นเมืองเลห์ได้ทั้งเมืองเช่นเดียวกับที่โปตาลา
พระราชวังเลห์สื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างลาดักกับทิเบตในสมัยนั้น ด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากพระราชวังโปตาลาของทิเบต
พระเจ้าเซงกียังได้อุปถัมภ์และรื้อฟื้นพุทธศาสนาตันตรยานหรือวัชรยาน ซึ่งรับมาจากทิเบต ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในลาดัก โดยเฉพาะนิกายหมวกแดงนิงมาปะ (Nyingmapa)
พระราชวังเลห์
แม้ว่าลาดักต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมือง เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียกับจีนและทิเบต แต่ชาวลาดักส่วนใหญ่ยังคงมั่นคงอยู่กับศาสนาพุทธไม่เปลี่ยนแปลง และทุกๆ 12 ปี ชาวลาดักจะเดินทางไปวัดเฮมิส พวกเขาบอกว่าเป็นวันที่พวกเขาจะได้เห็นทังคา (Thanka) ศักดิ์สิทธิ์รูปพระปทุมสมภพ (Padmasambhava) ซึ่งทางวัดจะนำออกมาให้คนบูชาเฉพาะในปีวอกเท่านั้น ซึ่งตรงกับปีที่ฉันเดินทางไปถึงพอดี นั่นเท่ากับว่าในช่วงชีวิตคนคนหนึ่งจะได้บูชาเพียง 6-7 ครั้งเท่านั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา
ฉันเดินทางไปวัดเฮมิสในตอนเช้า หลังจากพักปรับสภาพร่างกายอยู่หนึ่งวันบนระดับความสูง 3,500 เมตรของเมืองเลห์
วัดเฮมิสซึ่งอยู่ห่างจากเลห์ประมาณ 45 กิโลเมตร เลาะเลียบแม่น้ำสินธุลงไปทางใต้
แม่น้ำสินธุ
แม่น้ำสินธุไหลมาจากต้นกำเนิดในเทือกเขาหิมาลัยทางเหนือ ผ่านเทือกเขาในลาดัก ไหลลงใต้ไปสู่อู่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในปากีสถาน
แม่น้ำสินธุเป็นหัวใจของชาวลาดัก เพราะได้หล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกในหุบเขา โดยมีเมืองเลห์เป็นศูนย์กลางของลุ่มแม่น้ำแห่งนี้
การที่ลาดักเป็นนครรัฐที่อยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย แหล่งชุมชนเมืองจึงกระจุกตัวกันอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำ และพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เท่านั้น สภาพภูมิประเทศระหว่างเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งจึงเป็นทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทรายแห้งแล้ง ขนาบด้วยเทือกเขาสูงที่มีแต่หินและทราย วัดสำคัญแทบทุกแห่งในลาดักจะสร้างไว้ตามยอดเขา กระจายอยู่ทั่วเทือกเขาหิมาลัย การเดินทางจากวัดหนึ่งไปอีกวัดหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นวันหรือหลายวัน
วัดเฮมิส
งานประเพณีบูชาทังคาพระปทุมสมภพที่วัดเฮมิสเป็นงานใหญ่และสำคัญมากสำหรับชาวพุทธลาดัก แม้จะต้องเดินทางไกลกันเป็นวันก็ตาม
พิธีบูชาทังคาที่วัดเฮมิสนี้ยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในหมู่ชาวพุทธสายวัชรยานหรือตันตรยาน พวกเขาเดินทางมาจากหลายประเทศนับร้อยคนเพื่อร่วมในพิธีนี้
ฉันมาถึงบริเวณที่จะต้องพักแรมค้างคืน ก่อนที่จะเดินทางขึ้นเขาไปวัดเฮมิสในตอนเช้ามืด โซนัม โลตัส ชารา คนนำทางชาวลาดักมาจัดการกางเต็นท์รออยู่ก่อนแล้ว
การเดินทางมาวัดเฮมิสของฉันนั้นก็หวังที่จะได้เห็นพิธีกรรมส่วนหนึ่งของพุทธตันตระ ซึ่งเราไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วในอินเดีย เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่เหลืออยู่เป็นเพียงซากปรักหักพังของพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธตันตรยานในอดีตเท่านั้น
วัดเฮมิส
ศาสนาพุทธ ในลาดักแม้จะสืบสายนิกายมาจากทิเบต แต่ก็มีรากเหง้าทางความคิดที่สืบย้อนไปได้ถึงบรรยากาศของศาสนาพุทธตันตรยานในอินเดียไม่มากก็น้อย
แคมป์ที่พักของฉันอยู่บริเวณหุบเขา ห่างจากวัดเฮมิสขึ้นไปอีก 8 กิโลเมตร ใกล้ๆ กันยังมีชาวต่างชาติมาตั้งแคมป์พักแรมเพื่อรอขึ้นไปวัดเฮมิสในตอนเช้าเหมือนกัน
ฉันถามโลตัสว่า เราไปตั้งแคมป์ให้ใกล้วัดกว่านี้ไม่ได้แล้วหรือ
“อ๋อ....ไม่มีที่แล้วละครับ ยิ่งใกล้วัด คนยิ่งแน่น ชาวบ้านมากันเป็นหมื่นพวกเขามานอนรอที่จะเข้าวัดตอนตีสี่ทั้งนั้นแหละครับ” เขาตอบพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “วัดเฮมิสสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระเจ้าเซงกีผู้สร้างพระราชวังเลห์นั่นละครับ เฮมิสเป็นวัดพุทธตันตระนิกายหมวกแดง ซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิมของ ศาสนาพุทธ สายทิเบต ที่วัดนี้มีของเก่าแก่ที่สำคัญมากสำหรับชาวพุทธตันตระ...ทราบไหมครับ” เขาหันมาถามฉัน
“ทังคาหรือคะ”
“ใช่แล้วครับ ทุก ๆ 12 ปีจะมีการนำทังคาพระปทุมสมภพออกมาตั้งแต่เช้ามืด ทำพิธีแขวนที่กำแพงวัดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ให้คนได้บูชากัน”
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|