เมืองพุทธแห่งหิมาลัย
ทังคารูปอาจารย์ปัทมสัมภวะหรือพระปทุมสมภพแขวนให้คนได้มาบูชา
ฉันขึ้นมาถึงวัดเฮมิสตั้งแต่เช้ามืด แต่ก็ยังมาไม่ทันเห็นพิธีแขวนทังคาเพราะต้องเสียเวลาฝ่าฝูงชนที่เร่งรีบขึ้นเขามาพร้อมๆ กัน
บนกำแพงสูงลิบลิ่วนั่นเอง ฉันได้เห็นสิ่งที่ชาวลาดักเฝ้ารอกันมานานถึง 12 ปี
ผืนผ้าขนาดใหญ่ปักลวดลายงดงามรูปพระปทุมสมภพได้รับการแขวนจากหลังคาวัดทอดยาวมาตามกำแพง นี่คือทังคาพระปทุมสมภพที่มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี
ประเพณีบูชาทังคาที่วัดเฮมิสจัดขึ้นในปีวอก เพื่อฉลองปีเกิดของพระปทุมสมภพที่เวียนมาบรรจบทุก 12 ปีนักษัตร ชาวบ้านทุกคนมุ่งหน้ามายังลานด้านหน้าวัด ต่างทยอยกันเข้ามาบูชาทังคาพระปทุมสมภพไม่ขาดสาย ในจำนวนนั้นคือแขกต่างบ้านต่างเมืองที่นับถือศาสนาพุทธตันตรยาน พวกเขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมพิธีในวันนี้ด้วย
ทังคาของฝ่ายพุทธตันตรยานนี้ไม่ใช่เป็นงานศิลปะประดับศาสนสถานแต่คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ปกป้องคุ้มครอง พวกเขาจึงให้ความเคารพบูชาเช่นเดียวกับพระพุทธรูป
พระเป่าแตรบรรเลงขณะมีการร่ายรำ
วัตถุประสงค์แรกเริ่มในการสร้างทังคานั้นก็เพื่อช่วยในการเพ่งจิตเพื่อทำสมาธิ
แต่สำหรับทังคาที่ใช้เป็นภาพเพื่อการกราบไหว้บูชา ลามะจะต้องทำพิธีเจิมพร้อมลงเวทมนตร์คาถาไว้
ทังคาผืนเล็กมันจะถูกแขวนไว้บูชาที่บ้าน หรือม้วนติดตัวไว้ระหว่างเดินทาง ส่วนทังคาขนาดใหญ่ที่สามารถแขวนคลุมผนังวัดได้เช่นนี้ เป็นทังคาสำหรับงานประเพณีเพื่อให้คนหมู่มากได้บูชา
โดยทั่วไปทังคามักจะปักเป็นรูป พระพุทธเจ้าศากยมุนี รูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ หรือรูปธรรมบาลซึ่งเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพระศาสนา
ตามประวัติศาสตร์ของ พุทธศาสนา นิกายตันตรยานกล่าวว่า พระปทุมสมภพเป็นอาจารย์ชาวอินเดียที่มีฤทธิ์ มีเวทมนตร์แข็งกล้า ได้นำศาสนาพุทธนิกายตันตรยานมาเผยแผ่ในทิเบตเป็นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 13 พระปทุมสมภพได้ใช้เวทมนตร์คาถาปราบภูตผีมารร้ายในลัทธิบอน อันเป็นลัทธิดั้งเดิมในทิเบตจนหมดสิ้น ทำให้พวกบอนหันมานับถือศาสนาพุทธจำนวนมาก
พระปทุมสมภพจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานพุทธศาสนา ให้มั่นคงในทิเบตแม้ในเวลานั้นจะเน้นหนักเรื่องการศึกษาด้านเวทมนตร์อิทธิฤทธิ์มากกว่าด้านปรัชญาก็ตาม
ภาพทังคาพระปทุมสมภพนี้จึงทรงพลังความศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวลาดักและผู้ศรัทธาในนิกายพุทธตันตรยานเป็นอย่างยิ่ง
ผ้าแพรสีขาวผืนยาวที่เรียกว่าผ้าขะตะ (khadak) ที่ชาวบ้านนำมา จะโยนขึ้นไปให้พระนำไปถวายโดยการสัมผัสทังคา แล้วส่งคืนกลับให้ผู้โยน ซึ่งโดยปกติชาวลาดักนิยมมอบผ้าขะตะเพื่อแสดงความเคารพต่อบุคคลหรือสิ่งที่พวกเขานับถือ แต่ในวันพิเศษเช่นนี้พวกเขาต้องการนำผ้าขะตะกลับไปบูชาที่บ้านมากกว่า
ร่ายรำสวมหน้ากาก
ยิ่งสายผู้คนก็ยิ่งหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชาวลาดัก แขกต่างบ้านต่างเมือง และพระลามะจากวัดต่างๆ ที่ทยอยกันเข้ามาสมทบ โดยมีเจ้าคณะลามะนิกายหมวกแดงเป็นองค์ประธานพิธีในครั้งนี้
ทุกคนใจจดใจจ่อกับพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
หลังจากที่นั่งรอมานานกว่า 5 ชั่วโมง พิธีร่ายรำ ประเพณีโบราณของชาวพุทธสายทิเบตที่มีมานานหลายร้อยปีก็เริ่มขึ้น
ผู้ที่ร่ายรำทั้งหมดเป็นพระและเณรที่วัดเฮมิส
พิธีร่ายรำนี้มีรากฐานมาจากลัทธิบอนในทิเบต และมีการพัฒนาต่อมาโดยพระปทุมสมภพ ท่านได้ใส่ท่าทางของพระโพธิสัตว์และเทพเจ้าที่เห็นในขณะปฏิบัติสมาธิลงในท่าร่ายรำ แล้วถ่ายทอดต่อให้แก่ลูกศิษย์
พระที่ร่ายรำจะสวมหน้ากากต่างๆ กัน
เสียงแตรยาว เสียงประโคมกลองที่ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ ทำให้บรรยากาศในขณะนั้นดูศักดิ์สิทธิ์และขลังขึ้นมาก
ท่าร่ายรำแต่ละแบบสื่อถึงท่าทางของเทพเจ้าหรือพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ บ้างก็เคลื่อนไหวช้า ดูแล้วเกิดความสงบ
บ้างก็ร่ายรำในท่าทางดุดัน และสวมหน้ากากให้ดูมีอิทธิฤทธิ์เป็นเทพเจ้าที่ทรงพลัง
สาระของพิธีร่ายรำของพุทธตันตระนี้ก็เพื่อขจัดอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติธรรม เหตุการณ์ลอบสังหารพระเจ้าลางธรรม กษัตริย์ที่ต่อต้านและทำลายล้างศาสนาพุทธในทิเบตจึงถูกนำมาแสดงทุกครั้ง
ร่ายรำสวมหน้ากาก
ประเพณีร่ายรำของพระที่วัดเฮมิสถือเป็นการบูชาพระปทุมสมภพด้วยเช่นกัน โดยมักหยิบยกประวัติเหตุการณ์ที่พระปทุมสมภพได้ปราบปรามภูตผีในลัทธิบอนสำเร็จ สามารถโน้มนำเหล่าพ่อหมดหมอผีที่เลื่อมใสสัทธิบอนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
ก่อนที่พระภิกษุและเณรจะเริ่มพิธีร่ายรำ จะต้องสวดมนต์ทำสมาธิให้แน่วแน่ถึงหกชั่วโมง เตรียมจิตใจให้พร้อม จนเกิดมโนภาพเห็นตัวเองเป็นเทพเจ้า สามารถร่ายรำได้อย่างถูกต้อง
หน้ากากที่พระสวมใส่คือใบหน้าของ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือเหล่าเทพเจ้าของพุทธสายตันตรยาน มีทั้งหน้ากากรูปพระปทุมสมภพ รูปพระศากยมุนี และเทพเจ้าผู้อารักขาต่างๆ เทพเจ้าเหล่านี้บางองค์มีหน้าตาน่ากลัว เพราะโดยคติของพุทธตันตรยานนั้น เทพเจ้าที่ดุร้ายจะทำหน้าที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่เข้ามาก่อกวนการปฏิบัติธรรมของมนุษย์
สิ่งชั่วร้ายนั้นก็คือกิเลส อาจเป็นความโกรธ ความหลง การแสดงความดุร้ายโกรธเกรี้ยวของเทพเจ้าเหล่านี้ก็เพื่อข่มขู่ให้มนุษย์ตัดทอนอกุศลกรรมให้ได้
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|