เมืองพุทธแห่งหิมาลัย
วัดเฮมิสถูกสร้างขึ้นในเวลาที่ ศาสนาพุทธ ในอินเดียกำลังล่มสลาย เมื่อกองทัพชาวเติร์กได้บุกเข้าสู่อินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ในครั้งนั้นพระสงฆ์จำนวนมากหนีภัยสงครามเข้าไปในเนปาลและทิเบต พระส่วนหนึ่งได้ขนย้ายคัมภีร์พุทธศาสนา ข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปด้วย
รูปภาพ วัดติกเซ นำมาจาก http://www.markhorrell.com/travel/india/leh/ind_thikse.html
ที่วัดติกเซ (Thikse) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเลห์ มีห้องสมุดเก็บคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเก่าแก่ไว้มากมาย และยังมีการคัดลอกตำราพุทธศาสนาใหม่อยู่ตลอดเวลา จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า คัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียบางส่วนนั้นอาจตกทอดมาถึงดินแดนแถบนี้ด้วย ในช่วงที่ศาสนาพุทธล่มสลายไปจากอินเดีย
หรืออีกเส้นทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของลาดักบันทึกไว้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 มีกษัตริย์ลาดักบางพระองค์ได้ส่งคณะทูตและพระไปแคชเมียร์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา มหายานที่สำคัญของอินเดียเหนือ เพื่อศึกษาและรวบรวมตำรา พุทธศาสนามาเก็บไว้
วัดติกเซเป็นวัดพุทธตันตรยานหรือพุทธวัชรยานนิกายหมวกเหลืองเกลุกปะ ซึ่งเคร่งครัดในเรื่องการปฏิบัติพระวินัยและการศึกษาปรัชญาศาสนาของนิกายหมวกเหลือง ซึ่งเป็นนิกายที่ได้ทำการปฏิรูปใหม่ มีข้อห้ามใช้อำนาจเวทมนตร์ในทางที่ผิด พระต้องละเว้นจากการแต่งงานและห้ามเสพเมถุน
พระเหล่านี้ยังมีหน้าที่ประกอบพิธีให้กับชาวบ้านเช่นกัน ตั้งแต่การเกิด แต่งงาน พิธีศพ หรือเป็นแม้แต่ครูสอนหนังสือ
หลายสิ่งหลายอย่างที่เราได้เห็นในลาดักทำให้ฉันประจักษ์ความจริงข้อหนึ่งว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ศาสนาพุทธยืนยงอยู่ได้ นอกจากความดีงามของพระธรรมแล้ว พุทธบริษัททั้งหมดยังต้องช่วยกันสืบทอดพระศาสนาสู่คนรุ่นหลังให้ได้ ไม่ว่าจะใช้แนวทางของพุทธสายนิกายใดก็ตาม โดยมีจุดหมายร่วมกันอยู่ที่แก่นแท้ของคำสอน ดังที่พลตรี หลวงวิจิตรวาทการเคยกล่าวไว้ว่า
“ถ้าไม่มีมหายาน ก็เป็นที่น่ากลัวว่าพระพุทธศาสนาจะสิ้นสูญไปโดยเร็ว ผู้นับถือจะลดน้อยลงไปทุกที และจะกลายเป็นศาสนาเล็กน้อย ไม่แพร่หลายกว้างขวาง...
ถ้าไม่มีเถรวาท ก็น่ากลัวว่าพระพุทธศาสนาจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เตลิดเปิดเปิงไป โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง ไม่มีผู้รักษาหลักการอันแท้จริงไว้”
เป็นอันว่า ทั้งสองนิกายนี้ทำหน้าที่อย่างดีอยู่คนละทาง มหายานสร้างความไพศาล เถรวาทสร้างความมั่นคง
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|