ตอนที่ 2 ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า
วิหารมายาเทวี
ขณะที่กำลังขุดโบราณสถานวิหารมายาเทวีลึกลงไปในชั้นดินหลายชั้น นักโบราณคดีได้พบแผ่นศิลานี้วางอยู่บนแท่นอิฐในห้องเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบด้วยห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอีก 15 ห้อง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นห้องวิปัสสนาของพระสงฆ์ที่สร้างในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช เช่นเดียวกัน
นักโบราณคดี ได้วิเคราะห์ว่าแผ่นศิลานี้คือเครื่องหมายบอกตำแหน่งว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระประสูติกาล ณ ตำแหน่งนี้
หลักฐานที่มาช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับเรื่องนี้คือบันทึกของพระถังซัมจั๋ง พระภิกษุจีนซึ่งเดินทางมาศึกษา พุทธศาสนา ที่อินเดียเมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้เขียนถึง ลุมพินีวัน ที่มาเห็นในครั้งนั้นว่า “...ที่นั่นมีบ่อน้ำสำหรับสระสนานของชาวศากยวงศ์ น้ำในบ่อใสสะอาดดุจกระจก... จากนี้ไปทางเหนือประมาณ 40-50 ก้าว มีต้นอโศกซึ่งปัจจุบันแห้งเหี่ยวไปแล้ว ที่นี่เป็นสถานที่ประสูติของศากยมุนีโพธิสัตว์...”
หากเรากะระยะจากตำแหน่งที่พบแผ่นศิลาไปยังสระน้ำก็อยู่ในระยะทางที่ใกล้เคียงกันคือราว 35-40 เมตร
สระน้ำหน้าวิหารมายาเทวี
นั่นน่าจะหมายความว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะเป็นสิ่งเดียวกับที่พระถังซัมจั๋งได้มาเห็นเมื่อ 1,300 ปีก่อน
บริเวณโดยรอบวิหารมายาเทวีนี้เป็นพุทธสถานเก่าแก่ทับซ้อนกันอยู่หลายยุคสมัย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ พระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 หลังจากนั้นก็ไม่มีร่องรอยของงานก่อสร้างพุทธสถานหรืองานศิลปวัตถุเพิ่มเติมเข้ามาอีกนานถึง 700 ปี ชื่อของลุมพินีก็ถูกลืมเลือนไปพร้อมกับกรุงกบิลพัสดุ์และนครเทวทหะ
ชื่อของลุมพินี เทวทหะ และ กบิลพัสดุ์ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย และได้เริ่มทำการสำรวจแหล่งโบราณสถานทั่วอินเดีย นักโบราณคดี ในครั้งนั้นพยายามค้นหาว่าสถานที่ประสูติของ พระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหน
ชั้นล่างของวิหารมายาเทวี
พสันตา พิทารี เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นเนปาลไม่มีนโยบายให้ชาวต่างชาติเข้ามาขุดค้นโบราณสถาน การขุดค้นจึงทำกันอยู่แค่ภายในอินเดีย และได้เกิดข้อสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานาว่าสถานที่ประสูติอยู่ที่ไหนสักแห่งในอินเดีย โดยตีความจากบันทึกการเดินทางของพระถังซัมจั๋ง”
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2436 นายทหารอินเดียคนหนึ่งชื่อจัสคาราน ซิงห์ เดินล่าสัตว์เข้ามาถึงเขตเนปาลและพบเสาพระเจ้าอโศกเข้าโดยบังเอิญ จึงจุดประกายให้ นักโบราณคดี ในอินเดียหันมามองหาแหล่งพุทธสถานในเนปาลกันขึ้น โดยเริ่มจากการตามหาเสาพระเจ้าอโศก
เสาพระเจ้าอโศกคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับ ศาสนาพุทธ
เสาพระเจ้าอโศกต้นแรกที่จัสคาราน ซิงห์ พบ
พระเจ้าอโศกมหาราช นั้นครองราชย์อยู่ในแคว้นมคธ ราวพุทธศตวรรษที่ 3 หรือราว 200 ปีเศษหลังจาก พระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพาน พระองค์ทรงเผยแผ่พระธรรมของ พระพุทธเจ้า ไปทั่วราชอาณาจักร เมื่อเสด็จไปเยือนสถานที่สำคัญทาง พุทธศาสนา ที่ใดก็มักจะสร้างสถูปและเสาพระเจ้าอโศกไว้เป็นอนุสรณ์สถานพร้อมจารึกข้อความไว้บนเสาหินนั้น
การพบเสาพระเจ้าอโศกก็เท่ากับว่าได้พบหลักฐานของพุทธสถานที่สำคัญแห่งใดแห่งหนึ่งนั่นเอง
“เห็นตัวอักษรนี่ไหมครับ เป็นอักษรพราหมีครับ เขียนว่า พระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี หมายถึงพระเจ้าอโศกได้เสด็จมาเยือนลุมพินีเมื่อปีที่ 20 ของการครองราชย์ พระพุทธเจ้า ศากยมุนีประสูติที่นี่” พสันตา พิทารีชี้ให้ฉันดู
เสาพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี จารึกอักษรพราหมี ระบุว่าพระพุทธเจ้าศากยมุนีประสูติที่นี่
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|