ตอนที่ 2 ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า
พระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่หมู่บ้านปิปราห์วะ ประเทศอินเดีย
ห่างไปไม่ไกลนักเป็นหมู่บ้านปิปราห์วะ (Piprahwa) สถานที่พบพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่กษัตริย์ราชวงศ์ศากยะแบ่งมาประดิษฐานไว้ในพระสถูปที่กบิลพัสดุ์ ขณะที่ขุดค้นได้พบแผ่นหินจารึกที่ระบุว่าสร้างขึ้นโดยชาวศากยะ ต่อมาพระสถูปปิปราห์วะได้รับการบูรณะและขยายเพิ่มในสมัยพระเจ้าอโศกและกษัตริย์อีกหลายพระองค์
ระยะทางจากกลุ่มโบราณสถานที่พบในอินเดียเหล่านี้ กับเมืองโบราณที่ระบุว่าเป็นเมืองกบิลพัสดุ์ในเนปาล ห่างกันเพียง 15 กิโลเมตร
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอดีตนั้นพระสถูปและกลุ่มโบราณสถานที่กานวาเรียนี้อยู่ในเขตแดนของเมืองกบิลพัสดุ์เช่นเดียวกัน และที่นี่ก็อาจจะเป็นพระอารามใหญ่ของเมืองกบิลพัสดุ์ ไม่ใช่พระราชวัง
เมื่อได้เห็นพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของชาวศากยะที่นี่ ทำให้ฉันนึกถึงพระบรมสารีริกธาตุที่ชาวเทวทหะได้รับส่วนแบ่งมาแต่เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพของ พระพุทธเจ้า ที่กุสินารา เป็นพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ 8 ที่ยังไม่เคยมีใครพบ ฉันรู้เพียงว่าพระธาตุเจดีย์นั้นประดิษฐานอยู่ที่เมืองรามคาม ซึ่งเป็นชื่อของกรุงเทวทหะในอดีต
ฉันออกเดินทางต่อไปยังเมืองเทวทหะ เพื่อตามหาพระธาตุเจดีย์องค์นั้น
เมืองเทวทหะปัจจุบันอยู่ห่างจากลุมพินีราว 60 กิโลเมตร อาจจะไกลกว่าเส้นทางในอดีตเพราะต้องวกวนอ้อมไปตามถนนที่ปัจจุบันลาดยางอย่างดี
ในพุทธประวัติกล่าวว่า กรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะมีแม่น้ำโรหิณีคั่นอยู่ระหว่างกลาง
แม่น้ำโรหิณีในปัจจุบัน
ฉันพบแม่น้ำสายหนึ่งระหว่างทาง แม่น้ำเล็กๆ สายนี้ปัจจุบันยังใช้ชื่อว่าโรหิณี แต่ดูเหือดแห้ง ตื้นเขิน ทั้ง ๆ ที่ในสมัยพุทธกาลนั้นเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกของประชาชนทั้งสองเมืองจนถึงกับมีกรณีพิพาทแย่งน้ำกัน
กลุ่มโบราณสถานที่เทวทหะได้รับการสำรวจทางโบราณคดีเอาไว้เมื่อ 30 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการขุดค้นจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะขาดงบประมาณ อย่างมากทำได้แค่ล้อมรั้วเอาไว้
หลังจากนั่งรถมาประมาณชั่วโมงเศษ ราญจิตก็พาฉันเข้ามาถึงสถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นวังโบราณเทวทหะของพระนางสิริมหามายา พระมารดาของ พระพุทธเจ้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่นี่ดูเหมือนว่ายังจมอยู่ใต้ดินในป่าสาละแห่งนี้ จะเห็นก็เพียงชาวเนปาลเดินทางมาบูชาพระพุทธรูปและเทพเจ้าภายในเทวสถาน กราบไหว้บูชาเสาหินที่จมดินอยู่
ฉันถามพวกเขาว่า ทราบไหมว่าเจดีย์รามคามอยู่ที่ไหน ก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่บริเวณนี้ แต่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งต้องนั่งรถไปอีกไกลหลายกิโลเมตร
นครเทวทหะในอดีตคงจะกว้างใหญ่พอๆ กับกรุงกบิลพัสดุ์ ฉันเดินทางต่อไปตามเส้นทางที่ชาวบ้านบอก สักพักใหญ่ก็มาถึงตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งที่ชื่อว่าปาราซี ฉันนึกในใจว่าที่นี่คงจะใช่ เพราะสังเกตุมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่วงเวียนกลางใจเมือง
ถามทางชาวบ้านไปอีก 2-3 คน ในที่สุดฉันก็มาถึงรามคามจนได้ เส้นทางไปพระเจดีย์จะต้องเดินข้ามทุ่งนาไปอีกไม่ไกลนัก ราญจิตบอกว่าสมัยก่อนต้องนั่งเรือไป เพราะมีแม่น้ำล้อมรอบ
พระสถูปแห่งเมืองรามคาม หรือเทวทหะ
พระเจดีย์รามคามที่เห็นในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเนินดิน สูงราว 10 เมตร ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระที่กุสินาราแล้ว โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็น 8 ส่วน ให้แก่กษัตริย์ 8 นคร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองของตน
200 ปีต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก ทรงมีพระประสงค์จะปฏิสังขรณ์พระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงโปรดฯ ให้ไปค้นหาพระบรมสารีริกธาตุตามเมืองต่าง ๆ ทั้ง 8 แห่ง พระเจ้าอโศกทรงขุดพระสถูปได้เพียง 7 แห่ง และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาไว้รวมกัน จากนั้นก็ได้แบ่งใหม่ออกเป็นส่วนเล็กๆ ได้ 84,000 องค์ อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระสถูป 84,000 แห่งที่ทรงสร้างไว้ทั่วพระราชอาณาจักร
พระสถูปที่รามคามที่เห็นในปัจจุบัน มีร่องรอยการขุดค้นทางโบราณคดีโดยรอบ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเล่าว่า เมื่อสี่ปีก่อนทีมโบราณคดีของเนปาลได้เข้ามาขุดอยู่สามเดือน แต่ก็ต้องหยุดไป พวกเขาไม่พบพระบรมสารีริกธาตุ พบแต่อิฐโบราณและแนวกำแพงอิฐ
ฉันเพิ่งมารู้ภายหลังจากคุณพสันตาว่า ขณะที่พวกเขาขุดค้นอยู่นั้นก็ได้รับการขอร้องจากบรรดาชาวพุทธนานาชาติให้หยุดค้นหา สิ่งที่พวกเขาทำไปแล้วในตอนนั้น คือได้เจาะพื้นเป็นช่องลึกลงไปรอบฐานเนินดิน เพื่อสำรวจวัตถุโบราณใต้ชั้นดินรอบพระสถูป และพบว่าเป็นสถูปโบราณที่สร้างด้วยอิฐผสมดินเหนียว
แต่ถ้าจะค้นหาพระบรมสารีริกธาตุนั้นต้องขึ้นไปเจาะจากยอดเนินลงไปกลางพระสถูป เพราะคนโบราณมักประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ใจกลางพระสถูป
แต่ขณะนี้การสำรวจต้องหยุดไปก่อน...
พระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ 8 จะยังอยู่ที่รามคามจริงหรือไม่ จึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป
สวนลุมพินีวันในปัจจุบัน
ปัจจุบันสวนลุมพินีวันกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธจากนานาประเทศได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน เพื่อร่วมกันสร้างสันติสุขแก่ชาวโลก ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ทยอยกันมาสร้างวัดประจำชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มีอยู่วัดเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตโบราณสถาน และเป็นวัดแรกในลุมพินีวัน นั่นคือวัดพุทธเนปาล
ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"
|