หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ตอนที่ 2 ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

สวนลุมพินีวันในปัจจุบัน

ฉันกลับมาที่สวนลุมพินีวันอีกครั้งเพื่อตามหาพระสงฆ์ชาวเนปาลรูปหนึ่งที่มีเชื้อสายศากยะ วงศ์ตระกูลเดียวกับ พระพุทธเจ้า ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวของชาวศากยวงศ์ได้เงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์มานานกว่า 2,000 ปี นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล แม้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเชื้อสายศากยวงศ์ยังมีเหลืออยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่ฉันก็อดตื่นเต้นไม่ได้ที่ได้มานั่งอยู่ตรงหน้าผู้ที่บอกว่ามีนามสกุลศากยะ

ท่านวิมาลานันท์เป็นเจ้าอาวาสของวัดพุทธเนปาลมานานกว่า 30 ปี และเป็นเพียงวัดเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตโบราณสถานที่ลุมพินีวัน ท่านเล่าให้ฟังว่า

“อาตมาเกิดในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นตระกูลของ พระพุทธเจ้า มีบ้านเกิดอยู่ที่ลุมพินี...เรามีขนบธรรมเนียมของศากยะที่ถือตามกันมาแต่โบราณ คือจะมีพิธีบวชเด็ก ๆ ในตระกูลศากยะกันปีละครั้ง พวกเราจะต้องบวชตั้งแต่เด็ก ตอนที่อาตมาบวชอายุเพียงสิบขวบ แต่จะเป็นการบวชที่ทำโดยคนสามัญ เราไม่เคยรู้มาว่า พระพุทธเจ้า สอนว่าอะไร แค่ปฏิบัติไปตามประเพณีของเรา”

ท่านวิมาลานันท์ เจ้าอาวาสวัดพุทธเนปาล ผู้มีสกุลศากยะ

ท่านวิมาลานันท์เองก็ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าอยากเป็นพระสงฆ์ จนกระทั่งอายุ 15 ปี ก็ได้หาหนทางไปศึกษา ศาสนาพุทธ ที่ลังกาด้วยตัวเอง เพราะสมัยนั้น ศาสนาพุทธ ที่ลังกาเจริญมาก ที่นั่นท่านได้สอนธรรมะ และช่วยงานสังคมสงเคราะห์อยู่ที่ลังกานานถึง 22 ปี ก่อนกลับมาเนปาลอีกครั้งเมื่อทราบว่าบิดาของท่านป่วยหนัก...และไม่ได้กลับไปลังกาอีกเลย ท่านเล่าให้ฟังว่า

“ตอนที่มาอยู่ที่นี่มีพระอยู่ 1 รูปเท่านั้น ตอนนั้นไม่มีชาวพุทธอยู่แถวนี้เลย มีแต่ฮินดูและมุสลิม แต่ก็ยังมีชาวพุทธที่มาจากต่างประเทศช่วยทำนุบำรุงวัดของเราอยู่บ้าง จากไทย พม่า และศรีลังกา”

แต่ละวันจะมีชาวเนปาลแวะเข้ามานมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์เสมอ ท่านวิมาลานันท์ก็จะแสดงธรรมให้ฟัง ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือ พุทธศาสนา หรือไม่ก็ตาม ท่านวิมาลานันท์ได้แนะนำให้ฉันรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งที่มาดูแลทำความสะอาดในวัด เธอมีสกุลศากยะเช่นกัน เธอชื่อสุนิตา ศากยะ

ป่าสาละในลุมพินีวันบนเส้นทางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ - เทวทหะ

“แล้วมีชาวเนปาลที่มีเชื้อสายศากยะอยู่มากไหมคะ และนอกจากครอบครัวของท่านแล้ว ท่านรู้จักใครอีกบ้างไหมคะที่มีเชื้อสายศากยะ” ฉันถาม

“เท่าที่อาตมาทราบก็มีเป็นหลักหมื่นนะ ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดา ที่บวชเป็นพระมีน้อยมาก ครอบครัวศากยะบางครอบครัวก็ไม่รู้จักเรื่องราวของตระกูลศากยะแล้ว ไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า ชาวศากษะในเนปาลปฏิบัติตามประเพณีฮินดู หรือบ้างก็นำมาผสมกันระหว่างฮินดูกับพุทธวัชรยานไปหมดแล้ว”

สุนิตากับน้องสาวอีกสองคนคือ ริตา และสาริตา ตามพี่ชายมาอยู่ที่วัด พี่ชายของเธอทำงานอยู่ที่วัดนี้มา 20 ปีแล้ว

ปัจจุบันปุษปะ ศากยะ อายุ 45 ปี บ้านเดิมอยู่ในเมืองกาฐมาณฑุ เขาเล่าว่า เมื่อเขาโตขึ้นและรู้ว่าตัวเองมีสกุลศากยะ ก็อยากจะเดินทางมาลุมพินีวันตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีโอกาสมาสักที หลังจากที่พ่อแม่เสีย เขาก็ย้ายมาอยู่ที่นี่ตอนอายุ 25 ปี มาช่วยพระทำงาน คอยดูแลช่วยเหลือคนที่เดินทางมาแสวงบุญและมาพักกันที่วัด น้องๆ ของปุษปะเพิ่งย้ายตามมาอยู่ พวกเขาอาสาช่วยวัดทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจเล็ก ๆ เลี้ยงครอบครัวไปด้วยอย่างครอบครัวของน้องชายได้เปิดห้องพัก ขายทั้งอาหารและของใช้เบ็ดเตล็ดสำหรับผู้แสวงบุญที่มาพักที่วัด

ส่วนน้องสาว 2 คน มีแผงขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวที่มาลุมพินีวัน

พวกเขาทุกคนนับถือพุทธ และรู้สึกภาคภูมิใจที่มีเชื้อสายของสกุลที่ยิ่งใหญ่อย่างศากยะ จึงถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำงานรับใช้ พุทธศาสนา อยู่ที่นี่ ถึงแม้ทุกวันนี้พวกเขาจะมีครอบครัวและลูกๆ ต้องเลี้ยงดูก็ตาม

ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าชาวเนปาลหลายครอบครัวที่ใช้นามสกุลศากยะนั้นเป็นสกุลที่เกิดมาภายหลัง หรือจะเป็นวงศ์ตระกูลเก่าที่สืบเชื้อสายต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ฉันก็ไม่เคยคิดว่าพวกเขาจะมีเจตนาอื่นใด นอกจากความศรัทธาในความดีงามและความยิ่งใหญ่ของ พระพุทธเจ้า นั่นเอง

สำหรับท่านวิมาลานันท์ พระในตระกูลศากยะรูปนี้ เดี๋ยวนี้อายุมากกว่า 76 ปีแล้ว ท่านยังคงทำหน้าที่แสดงธรรมให้แก่ชาวพุทธทั้งคนเนปาลและชาวต่างประเทศที่เดินทางมาแสวงบุญไม่เคยขาด แม้ว่าจะมีคนมาเข้าวัดของท่านน้อยลงก็ตาม

“เหลือแต่คนเนปาลเท่านั้นแหละที่ยังมาที่วัดของอาตมา ชาวพุทธอื่นๆ เขาไม่มากันแล้ว พวกเขามีวัดของตัวเองกันหมดแล้ว แต่อาตมาก็จะอยู่ที่นี่ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ในที่สุดแล้ว วัดพุทธเนปาลของท่านวิมาลานันท์ก็คงต้องถูกย้ายออกจากเขตโบราณสถานไปรวมกับวัดนานาชาติอื่นๆ ในบริเวณที่จัดไว้ให้ ที่แบ่งเป็นเขตของเถรวาทและมหายาน

ประตูเมืองด้านตะวันตกของเมืองกบิลพัสดุ์

ฉันเชื่อว่าการได้เดินทางมาลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของ พระพุทธเจ้า จะเป็นเครื่องเตือนใจได้อย่างดีว่า ชาวพุทธทุกๆ คน ทุกๆนิกาย ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ตาม ต่างก็เกิดมาจากจุดเริ่มเดียวกัน มีแก่นคำสอนเดียวกันและก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน

หน้าที่ 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6

ที่มา จากหนังสือ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"


ไปข้างบน