อย่างไร คือ การพัฒนาจิต
สัญชาติญาณของมนุษย์จะรักสุข เกลียดทุกข์ ปรารถนาความสุขทั้งกายและใจ แต่ในสภาพที่เป็นอยู่มนุษย์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกายมากกว่าจิตใจหลายเท่า วิถีชีวิตจึงไม่สมดุล มุ่งแสวงหาความสุขทางกายและความมั่งมีด้านวัตถุมากกว่าการแสวงหาความสุขสงบทางใจ และหากการแสวงหานั้นไม่อยู่ในกรอบของศีลธรรมก็จะก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวและสังคมหลายด้าน
ความเสื่อมโทรมด้านจิตใจในสังคมยุคปัจจุบันจะนับว่าอยู่ในขั้นวิกฤตก็ว่าได้ สถิติคนฆ่าตัวตาย การใช้สารเสพติด อาชญากรรม การมั่วสุมทางเพศ นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การแก้ปัญหาดังกล่าว หากยังละเลยเรื่องของจิต ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดเพราะ “จิต” หรือ “ใจ” เป็นบ่อเกิดของความดีและความชั่วทั้งปวง ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ” ดังนั้นการพัฒนาจิตจึงเป็นรากแก้วของการพัฒนาทั้งปวง
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ได้กล่าวถึงการพัฒนาจิตว่า
“จิตใจเป็นรากฐานสำคัญที่จะแสดงออกในอากัปกิริยาตลอดหน้าที่การงาน...
ใจเมื่อได้รับการอบรม ย่อมมีสติ ย่อมมีความฉลาดรอบคอบในความคิดความปรุงของตน คิดดี คิดชั่ว คิดผิดถูกประการใด สติย่อมมีย่อมรู้ แล้วก็ทำตามสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องดีงาม งดเว้นสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย นั้นท่านเรียกว่า “พัฒนาจิต”
โครงการอบรมพัฒนาจิต ณ วัดวะภูแก้ว ก่อกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของวัยรุ่นยุคใหม่ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาคือ ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยมีพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวันและประธานสงฆ์วัดวะภูแก้ว เป็นผู้อุปถัมภ์โครงการ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาจิตในแง่มุมที่กว้างขวางกว่าที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า
“ถ้าใครยังคิดว่าสมาธิ ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตาภาวนา คนนั้นยังโง่อยู่ ถ้าผู้ใดเข้าใจว่าสมาธิเราทำได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจ ผู้นั้นเข้าใจถูก สมาธิ คือ การกำหนดสติรู้อยู่ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันตลอดเวลา”
ท่านได้ให้นิยามของคำว่า “สมาธิ” ไว้ว่า “การทำสมาธิ คือ การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก หมายความว่า เมื่อจิตของเรานึกถึงสิ่งใด ให้มีสติสำทับไปที่ตรงนั้น”
ดังนั้นสมาธิจึงไม่ใช่กิริยาของกาย แต่เป็นกิริยาของจิตที่มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่กับปัจจุบัน การปฏิบัติสมาธิภาวนา คือ งานดูกาย ดูจิตของตนเอง เป็นวิธีเตือนตน สั่งสอนตน ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรแก้ไขจุดใดบ้าง
การพัฒนาจิตให้มีพลังสติสัมปชัญญะเพิ่มพูนขึ้น จะเป็นบ่อเกิดของปัญญา พลังสติสัมปชัญญะจะมีความสัมพันธ์กับระดับของปัญญา กล่าวคือถ้าพลังสติสัมปชัญญะมีมาก ปัญญาก็มาก หากพลังสติสัมปชัญญะมีน้อย ปัญญาก็ย่อมน้อยลงด้วย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย จำแนกการทำสมาธิเป็น 2 รูปแบบคือ
• สมาธิในวิธีการ หมายถึง การปฏิบัติสมาธิที่มีรูปแบบ มีวิธีการที่เป็นกิจลักษณะ เช่น การนั่งสมาธิภาวนากำหนดลมหายใจหรือบริกรรมภาวนา การเดินจงกรม การเพ่งกสิณ การสวดมนต์ เป็นต้น
• สมาธิในชีวิตประจำวันหรือสมาธิสาธารณะ เป็นการปฏิบัติสมาธิในชีวิตประจำวัน ด้วยการมีสติรู้อยู่กับงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ตลอดจนการงานต่างๆ
ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนหรืออบรมมาน้อย จะมีธรรมชาติเหมือนน้ำ คือพร้อมที่จะไหลลงต่ำอยู่เสมอ การพัฒนาจิตจึงเป็นงานทวนกระแส เป็นการฝึกจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่ง พยศ ดื้อรั้น ให้เป็นจิตที่เชื่อง ว่าง่าย รู้ผิดชอบชั่วดี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมพัฒนาจิตส่วนใหญ่ซึ่งมีสถิติเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ
70-80 จะเข้ารับการอบรมด้วยความรู้สึกเป็นลบและต่อต้าน
ความสำเร็จของโครงการคือการคืนคนดีสู่สังคม และสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ คือ พร้อมทั้งความเก่ง ความดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การจัดหลักสูตรการอบรมซึ่งใช้เวลาเพียง 5 วัน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ เป็นสิ่งที่ดูเสมือนว่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่จากการดำเนินโครงการมาแล้วเกือบ 20 ปี มีผู้เข้าอบรมกว่า 500 รุ่น เป็นจำนวนประมาณ 200,000 คน
ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง จนได้หลักสูตรและวิธีการอบรมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้นผลการอบรมแต่ละรุ่นสามารถเปลี่ยนแปลงเจตคติและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรมไปในทางที่ดีขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90
การกำหนดหลักสูตร วิธีการตลอดจนจำนวนวันอบรม จะคำนึงถึง วัย, วุฒิภาวะ, ระดับการศึกษาและหน้าที่การงานของผู้เข้าอบรม โดยบูรณาการหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จิตวิทยาการเรียนรู้ และการปรับพฤติกรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ
การฝึกฝนอบรมจะมีทั้งการทำสมาธิในวิธีการ และการทำสมาธิในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ กิจกรรมในแต่ละวัน จะเริ่มด้วยการทำวัตรเช้า, เดินจงกรม, นั่งสมาธิ ในช่วงรับอรุณ จากนั้นช่วงสายและบ่าย จะฝึกสมาธิในการอ่านหนังสือ, ฟังบรรยายหรือฝึกสมาธิในการฟัง ต่อด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ส่วนช่วงเย็น มีการทำวัตรเย็น และเดินจงกรม นั่งสมาธิ บางช่วงอาจมีการบริหารกายเพื่อคลายความปวดเมื่อบ้าง ผู้เข้าอบรมจะต้องปฏิบัติกิจกรรมทุกอย่างด้วยความมีสติสัมปชัญญะและมีความตั้งใจ โดยวิทยากรจะคอยให้คำแนะนำและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากการอบรมจิตให้เกิดพลังสติสัมปชัญญะซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาในที่สุดแล้ว ผู้เข้าอบรมจะต้องฝึกฝนตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยการเคารพกฎกติกาและมีวินัยในตนเอง เช่น ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความสามัคคี ความเอื้อเฟือเผื่อแผ่ การรู้ประมาณในการบริโภคโดยการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น การทำความสะอาดศาลาปฏิบัติธรรม, อาคารที่พัก, ห้องน้ำ, โรงอาหาร การรับประทานอาหารต้องไม่เหลือทิ้ง เมื่อรับประทานเสร็จแล้วล้างภาชนะที่ใช้เอง
ขั้นตอนการอบรมจัดเป็น 3 ระยะ คือ
เริ่มต้นด้วยการสร้างแรงจูงใจ คือ โน้มน้าวให้ผู้เข้าอบรมเห็นประโยชน์และความสำคัญของการพัฒนาจิต เพื่อลดความรู้สึกต่อต้าน และมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในขณะปฏิบัติ เช่น ความปวดเมื่อย ความเบื่อหน่าย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเสริมแรงด้วยการให้รางวัลผู้ที่ปฏิบัติได้ผลดี การให้บุคคลตัวอย่างที่สามารถเอาชนะอุปสรรคได้
ขั้นต่อมาคือการให้ธรรมะ เมื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าอบรมเริ่มเปิดใจหรือค่อยๆ หงายจิตที่เคยคว่ำมาในตอนแรกแล้ว ก็ค่อยๆ ให้ธรรมะที่สร้างจิตสำนึกทางคุณธรรม มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป เห็นคุณค่าของการทำความดีและสร้างบุญกุศล มีความกตัญญูรู้คุณ เช่น เรื่องกฎแห่งกรรม ตายแล้วไปไหน พระคุณอันยิ่งใหญ่ เสพติดพิษมหันต์ เป็นต้น
และขั้นสุดท้าย คือ ขั้นละเลิกสิ่งผิด เมื่อผู้เข้าอบรมสั่งสมพลังสติสัมปชัญญะจนเกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิแล้วจะสำรวจตนเองว่า มีสิ่งผิดใดที่จะต้องละเลิก และมีความดีใดที่จะต้องเพิ่มพูน โดยกิจกรรม “สัญญาใจ” จะเป็นกิจกรรมเชื่อมโยงการปฏิบัติภาคฝึกฝนในการอบรมไปสู่การนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมต่อไป
บทสรุปของการอบรมพัฒนาจิตมักจะจบลงด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แววตาที่อ่อนโยนแต่แฝงด้วยความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่หนทางของความดีงามของผู้เข้าอบรมเกือบทุกคน
การฝึกฝนอบรมจิต แม้จะเป็นงานทวนกระแส ซึ่งต้องฝ่าฟันด้วยความทุกข์ยากทั้งแรงกายและแรงใจทั้งของผู้เข้ารับการอบรม และผู้ให้การอบรม แต่ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่ายิ่งนัก วิกฤตทางคุณธรรม ปัญหาสังคมจะลดลงไปได้มาก ทั้งครอบครัวและสังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุขดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้”
|