ความโศกเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่พึงปรารถนา มีความเสียใจเป็นตัวนำ อันเกิดขึ้นเพราะความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเสื่อมญาติ เป็นต้น หรือเพราะต้องทุกข์ร้อนด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีอาการใจแห้งอยู่ภายใน คือ ขาดความชุ่มชื่นในดวงจิต อาการแห่งจิตดังกล่าวนี้แหละเรียกว่าความโศก
ในชีวิตประจำวันนั้น มนุษย์ต้องต่อสู้กับเรื่องนานาประการ เรื่องการทำมาหากินเป็นเรื่องต้น และยังมีเรื่องยุ่งต่างๆ ซึ่งตามมาสารพัดอย่าง เช่น การต้องต่อสู้แข่งขันกันในพวกที่ทำมาหากินอย่างเดียวกัน หรืออาชีพเดียว กัน นอกจากนี้มนุษย์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในอำนาจของความอยาก ถูกบีบคั้นด้วยความปรารถนาจากภายในตน เองบ้าง เหตุการณ์ภายนอกบีบบังคับให้จำต้องปรารถนา เช่น ค่านิยมของสังคมบ้าง คนส่วนใหญ่มักพ่ายแพ้ต่อความทะยานอยากที่บีบคั้นเข้ามา ทั้งจากภายในตนเองและจากภายนอก จึงต้องกระหืดกระหอบแสวงหาทรัพย์สิน แสวงหาเกียรติ ความนิยมชมชอบของสังคม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลาภ ยศ และสรรเสริญ เมื่อไม่ได้ดังใจปรารถนา หรือถูกขัดขวาง ก็มีการกระทบกระทั่ง แล้วกระเทือนใจ เสียใจ แล้วมีอาการแห่งผู้โศก อาจถึงต้องคร่ำครวญออกมา คือ การร้องไห้เพื่อระบายความทุกข์โศกที่อัดแน่นอยู่ในใจหรือความรู้สึก ถ้าได้ดังใจปรารถนาก็เพลิดเพลินหลงใหลติดอยู่ ข้องอยู่ในอารมณ์ เป็นเชื้อให้ไฟ คือ ความปรารถนาทวีรุนแรงขึ้นอีก ไม่รู้จักพอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ลงท้ายด้วยความทุกข์ความโศกอีก
จิตใจของคนส่วนใหญ่จึงเสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ใน กระแสคลื่น ถูกคลื่นซัดสาดให้ลอยขึ้น จมลงอยู่ในกระแสคลื่นนั่นเอง คลื่น คือ โลกธรรม-ลาภ เสื่อมลาภ, ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์ คอยซัดสาดท่อนไม้ คือ ดวงใจที่ไม่มั่นคงนั้นให้ฟูขึ้น ฟุบลง ไม่มีเวลาสงบนิ่ง ประเดี๋ยวก็ดีใจ ประเดี๋ยวก็เสียใจ
ส่วนผู้ที่มีจิตมั่นคงดีแล้ว แม้จะกระทบกับกระแสคลื่น คือ โลกธรรม ก็หาขึ้นลงตามโลกธรรมนั้นไม่ ผู้มี จิตมั่นคงดีแล้ว ย่อมมองดูโลกธรรมเป็นเพียงเรื่องผ่านเข้ามาแล้วผ่านเลยไป ไม่นำตนไปผูกพันกับโลกธรรม และไม่นำโลกธรรมมาผูกพันกับตน ต่างก็เป็นอิสระแก่ กัน เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นก็กำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า มันเกิดขึ้นแล้วไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมดังที่พระศาสดาตรัสไว้ (ในโลกธรรมสูตร) ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้มิได้สดับ(ธรรมของพระอริยะ) เขามิได้สำเหนียก ด้วยดีว่า บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เขาไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มี สภาวะบีบคั้น และมีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
เมื่อโลกธรรม ส่วนที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้นก็เหมือน กัน เขาไม่สำเหนียกและไม่รู้ตามความเป็นจริง โลกธรรม จึงครอบงำจิตได้ เขาย่อมยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อดีใจบ้างเสียใจบ้างอยู่เช่นนี้ เขาย่อมไม่พ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือ ไม่อาจพ้นจากทุกข์ได้
ส่วนสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับ(ธรรมของพระอริยะ) เมื่อโลกธรรมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้น เขาย่อม สำเหนียกได้ว่า บัดนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เขารู้ตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมนี้ไม่เที่ยง มีสภาวะบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงอยู่ดังนี้ โลกธรรมก็ไม่อาจครอบงำจิตได้ เขาไม่ยินดีเมื่อได้ ไม่ยินร้ายเมื่อเสีย เมื่อเป็นดังนี้ก็ไม่ต้องดีใจบ้างเสียใจบ้าง จึงสามารถพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเศร้าโศก เสียใจ พิไรรำพัน ความคับแค้นใจ กล่าวโดยย่อคือสามารถทำตนให้พ้นจากความทุกข์ได้
นี่แลภิกษุทั้งหลายคือความแตกต่างกัน ความพิเศษ กว่ากันระหว่างสาวกของพระอริยะผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้มิได้สดับ จะเห็นได้ว่าความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพันนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความยึดมั่นในโลกธรรม เพราะความเขลาต่อความจริง ไม่รู้ตามความจริง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมิได้สดับธรรมของพระอริยะ ไม่ใส่ใจเนืองๆ ซึ่งธรรมของพระอริยะมีคุณภาพในการกำจัดโศก และกำจัดความหลงใหลมัวเมา
อีกประการหนึ่ง บุคคลทั่วไปเมื่อพิจารณาสิ่งใดก็มักพิจารณาในด้านคุณหรือด้านโทษแต่ประการเดียว คือ ดิ่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่พิจารณาให้เห็นทั้งด้านคุณและด้านโทษของสิ่งนั้นๆ จึงทำให้เขามีทางปฏิบัติเอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่งโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ วิ่งเข้าหา หรือผลักไส ชอบ ไม่ชอบ ยินดี ไม่ยินดี เป็นอาทิ ผลก็คือจิตของเขาไม่มีเวลาสงบนิ่งได้เลย คอยกังวลอยู่กับเรื่องพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อ่านต่อ...