มาสมัยโลกาภิวัตน์ เราไปรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมากลบเกลื่อนวัฒนธรรมอันดีงามของเรา บางทีเราก็ลืมของดีของเราไป ไปนิยมชมชอบของฝรั่ง เอาวัฒนธรรมของชาวฝรั่งมา เมื่อจิตใจของเราหันไปชมชอบวัฒนธรรมของเขา มันก็เอียงไปนิยมชมชอบเครื่องอุปโภคบริโภคของเขา นี่มิจฉาทิฏฐิกำลังเกิดขึ้นแล้ว
เพราะอาศัยความเข้าใจผิดเห็นผิดว่าของเรานี่มันคร่ำครึ สู้ของฝรั่งไม่ได้ ไปเอาของฝรั่งมา เราไปนิยมของเขาเราก็สั่งซื้อของเขาเข้ามาทีละหลาย ๆ แสนล้าน เงินทองมันก็รั่วไหลออกไปต่างประเทศ ซื้อเข้ามาเท่าไรก็ไม่พอ เมื่อเงินทองมันไหลออกนอกประเทศ เงินคงคลังมันก็น้อยลงจนหมดเกลี้ยง เมื่อมันหมดแล้วเราก็ต้องกู้เงินเขามาลงทุนอีก มันเกิดจากมิจฉาทิฏฐิที่เราหลงไปนิยมชมชอบของเขา ไปทิ้งของดีของเรา ด้วยประการฉะนี้ ประชาชนพลเมืองของไทยเรา จึงตกเป็นลูกหนี้ของต่างประเทศทั้งประเทศ
เราเป็นลูกไทยหลานไทย ลูกไทยหลายไทยย่อมมีวัฒนธรรมและศีลธรรมประจำชาติของตนเองคือ ศาสนา ศาสนาคือคำสอนของพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีความสำนึกผิดชอบชั่วดี สอนให้เรารู้จักความเป็นไทยของตนเอง สอนให้รู้จักดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและขนบประเพณีอันดีของไทย ถ้าตราบใดที่เรายังนิยมชมชอบวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีของไทย เราก็เป็นลูกหลานไทยโดยสมบูรณ์
พยายามสร้างความรู้สึกที่เป็นสัมมาทิฏฐิขึ้นในจิตในใจ เมืองไทยเรามีวัฒนธรรมศีลธรรมอันดีงามมาตั้งแต่เก่าแก่โบราณ ถ้าหากว่าเราหันไปนิยมชมชอบวัฒนธรรมขนบประเพณีของชาวต่างประเทศ จิตใจของเราเขวไปข้างมิจฉาทิฏฐิ ไปทอดทิ้งของดีที่มีประจำบ้านประจำเมืองของเรา ถ้ามีความรู้สึกดูหมิ่นวัฒนธรรมของตน หันไปนิยมชมชอบเครื่องอุปโภคบริโภคของชาวต่างประเทศ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาอาชีวะ คือเลี้ยงชีวิตผิดหลัก
ทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองไทยเรามีพร้อม เกษตรกรรมประจำครอบครัว อุตสาหกรรมประจำครอบครัว เรามาปลูกความนิยมชมชอบซึ่งสิ่งที่เราผลิตขึ้นได้ในบ้านในเมืองของเรา คนไทยใช้ของไทย รับประทานของไทย เราจะอยู่รอด
คำสอนของพระพุทธองค์ ในส่วนที่เป็นสภาวธรรม หรือธรรมะที่เป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติของพระพุทธองค์ หมายถึงอะไรบ้าง
หมายถึง กายกับใจของเรา สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ จะเป็นอะไรก็ได้ทั้งสิ่งที่เป็นไปโดยคดีโลกและคดีธรรม รวมแล้วว่าสิ่งใดที่เราสามารถรู้ได้ด้วยจิตด้วยใจ สิ่งนั้นแหละเป็นสภาวธรรม สิ่งที่มาสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสภาวธรรม เป็นธรรมสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติของพระพุทธเจ้าและของพุทธสาวกผู้ปฏิบัติธรรม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อณู ปรมาณู จนกระทั่งมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โต เขามีกฎธรรมชาติตายตัวอยู่ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง ทนอยู่ตลอดกาลไม่ได้ อนัตตา ไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมันเป็นกฎธรรมชาติที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น แม้แต่ร่างกายของเราเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นกฎของธรรมชาติทั้งนั้น สภาวะทั้งหลายมันเกิดขึ้นแล้วก็ทรงอยู่ ดับไป ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง อ่านต่อ...