ธรรมะคำสอนดังที่กล่าวนี้ อาศัยกาย วาจา จิต เป็นผู้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตเป็นใหญ่ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว มะโนปุพพังคะมา ธัมมา มะโนเสฏฐา มะโนมะยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นสภาพถึงก่อน สำเร็จแล้วแต่ใจ มะนะสาเจ ปะสันเนนะ ภาสะติวา กะโรติวา เมื่อจิตใจผ่องใส การพูดก็ดี การคิดทำก็ดี การคิดก็ดี ย่อมเป็นไปในทางที่สุจริต คือถูกต้องตามระบอบแห่งพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าหากว่าจิตหรือใจตัวนี้เศร้าหมอง ไม่ผ่องแผ้ว การพูด การทำ การคิด ล้วนแต่เป็นไปในทางอกุศลทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การอบรมจิตให้ดำรงอยู่ในขอบข่ายแห่งศีล สมาธิ ปัญญา ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้ประชุมพร้อมที่จิต มีสติวินโย สติเป็นผู้นำ สติรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี รู้ ตื่น เบิกบาน มีคุณธรรมความเป็นพุทธะบังเกิดขึ้นในจิตพร้อมแล้ว
ต่อจากนั้น เจตนาหรือความตั้งใจของนักปฏิบัติทั้งหลาย ก็จะมุ่งตรงต่อการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สุปฏิปันโน จะเป็นผู้ปฏิบัติดีคือปฏิบัติไม่ผิด อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ตรงต่อมรรคผลนิพพาน ตรงต่อความพ้นทุกข์ ตรงต่อความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิต มิใช่ปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนกิเลส ญายปฏิปันโน ปฏิบัติอย่างมีเหตุผล ได้พิจารณาไตร่ตรองธรรมะที่เกิดดับอยู่กับจิต รู้ เห็น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นพระไตรลักษณ์ มาเกิดขึ้นในจิตแล้ว ว่าสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เกิดขึ้นเพราะเหตุ ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นก็เพราะเหตุ จะดับไปก็เพราะเหตุดับ เมื่อมีความรู้เห็นชอบอย่างนี้ ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ จึงได้ชื่อว่าญายปฏิปันโน ในเมื่อผู้ปฏิบัติโดยเหตุโดยผล ยอมรับเหตุแห่งสุข เหตุแห่งทุกข์ จึงกลายเป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง เพราะจิตมุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพาน อันเป็นความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิต การปฏิบัตินี้มิได้มุ่งอยู่ที่อามิสสินจ้างรางวัลใดๆ การปฏิบัตินี้ไม่ได้ไปเกี่ยงใคร เป็นหน้าที่ของเราที่จะตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อเป็นเช่นนั้น นี่อย่างไรพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงนี้ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติโดยเหตุผล เพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง ปฏิบัติชอบยิ่ง นี่เป็นคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องและแน่นอน
เมื่อเราเป็นผู้ปฏิบัติที่ถูกต้องแน่นอน มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ มีปัญญาเห็นชอบ ตั้งใจมั่นชอบ มีคุณสมบัติแห่งความเป็นพุทธสาวกอย่างแท้จริงกลายเป็นผู้นำที่ถูกต้อง อาหุเนยโย จึงเป็นผู้ควรแนะนำพร่ำสอนผู้คนหรือพุทธบริษัท ปาหุเนยโย จึงสมควรแก่การเป็นผู้ให้การต้อนรับพุทธบริษัท ทักขิเณยโย จึงเป็นผู้สมควรให้คำแนะนำพร่ำสอนที่ถูกต้อง อัญชลิกรณีโย เป็นผู้มีมือไม้อ่อนสามารถกราบไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย สหธรรมิกทั้งหลาย ผู้อาวุโสทรงคุณธรรม ปราศจากทิฏฐิ ความถือตนถือตัว หรือความมีมานะ กระด้าง กายก็เป็น กายอ่อน มุทุ สุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน วาจาก็สุภาพ ไพเราะ ใจหรือจิตก็เป็นจิตที่มุทุ อ่อนน้อมถ่อมตน กลายเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน โสวจัสสตา เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ไม่มีบิดพริ้ว เชื่อว่ามีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระสงฆ์ มีความรักในพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง มีความรักในพระธรรมอย่างมั่นคง มีความรักในพระสงฆ์อย่างมั่นคง มีความเคารพต่อธรรมะคำสั่งสอนอย่างแน่นอน ไม่ละเมิดล่วงเกินระเบียบสิกขาบทวินัยน้อยใหญ่ เป็นผู้มั่นในศีล เป็นผู้มั่นในธรรม เป็นผู้มีหิริความละอายบาป เป็นผู้มีโอตตัปปะความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการ มีการทำในจิตในใจโดยอุบายที่แยบคาย มีสติกำหนดจดจ้องรู้อยู่ที่อารมณ์จิตตลอดเวลา กำหนดหมายรู้ธรรมที่เกิด ดับอยู่ภายในจิต อ่านต่อ...