ชะตากรรม... ของนักโกย!
ช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 ราว ประมาณ 1 ทุ่ม ขณะที่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามอัตภาพอยู่นั้น อีกด้านหนึ่งของห้วงเวลาดังกล่าว กลับกลายเป็นวินาทีชีวิตของเหล่าเสนาบดีและขุนพลคู่ใจระบอบทักษิณ... โกยเถอะโยม!!!
เวลาประมาณ 1 ทุ่มของวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวว่าจะเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังทหารชุดปฏิบัติการพิเศษจากหลายหน่วย ได้คืบคลานเข้าไปตามซอกหลืบของมุมเมือง ซึ่งเป็นที่พำนักของเหล่าเสนาบดีและขุนพลคู่ใจระบอบทักษิณ ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เพื่อควบคุมตัวบุคคลสำคัญในระบอบทักษิณ
นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งกำกับดูแลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีลูกจ้างป่าไม้อยู่ในมือนับพันคน มีปืนเอชเคที่ได้รับการอนุเคราะห์มาจากกองทัพบกอยู่ในความครอบครองนับพันกระบอก เป็นเป้าหมายแรกที่ คปค.ต้องการตัว
กองพันจู่โจมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ได้บุกเข้าไปรื้อค้นบ้านพักของนายยงยุทธ ย่านสามเสน แต่ไม่พบตัว เพราะนายยงยุทธไหวตัวทันและได้หลบหนีไปก่อนหน้าที่กองพันจู่โจมจะมาถึงเพียงไม่กี่นาที มีเรื่องเล่าว่า เหตุที่กองพันจู่โจมไปถึงที่หมายล่าช้า เพราะไม่ชำนาญเส้นทาง หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หลงกรุง” กว่าจะไปถึง นายยงยุทธก็เตลิดไปไกลแล้ว
หน่วยข่าวของทางการ รายงานว่า นายยงยุทธได้หลบหนีออกจากกรุงเทพฯ ไปซ่อนตัวอยู่ที่บ้านของผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ภาคเหนือ ในสังกัด ทส.คนหนึ่ง ย่านพุทธมณฑลสาย 2 ฝั่งธนบุรี ก่อนกองพันจู่โจมจะไปถึงไม่นาน
ในวันรุ่งขึ้นจึงได้เดินทางโดยรถยนต์ต่อไปยังบ้านเกิดที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย จากนั้นได้ข้ามไปซ่อนตัวอยู่ในบ่อนกาสิโนของ “เฮียกวง” อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย บริเวณสามเหลี่ยมทองคำในฝั่งพม่า ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ห่างจากบ้านเกิดของนายยงยุทธประมาณ 40 กิโลเมตร และพักอาศัยอยู่ที่นั่น ก่อนที่สายข่าวของกองทัพภาคที่ 3 จะสืบทราบ
เมื่อ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาค 3 ทราบข่าว จึงได้ประสานไปยังเจ้าของบ่อนกาสิโน และกดดันไม่ให้เจ้าของบ่อนให้ที่หลบซ่อนแก่นายยงยุทธ จนเจ้าของบ่อนต้องขอร้องให้นายยงยุทธออกจากบ่อน โดยมีทหารของ พล.ท.สพรั่ง เดินทางไปควบคุมตัวและนำขึ้นเครื่องบินมารายงานตัวต่อ คปค.ที่กองบัญชาการทหารบกและถูกควบคุมตัวไว้ที่นั่น
เสนาบดีในระบอบทักษิณที่ คปค.ต้องการตัวมากที่สุดอีกคนหนึ่งคือ นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขุนพล คู่บารมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชุดปฏิบัติการพิเศษจากกองพันจู่โจม หน่วยบัญชาการพิเศษ จ.ลพบุรี อีกชุดหนึ่งได้ถูกส่งไปค้นรังของนายเนวินในกรุงเทพฯ แต่ไม่พบตัว ปล่อยให้ลูกน้องเอาหน้ารับไปแทน
สายข่าว รายงานว่า นายเนวินได้ซ่อนตัวอยู่ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งย่านถนนเกษตรนวมินทร์กับคนรู้ใจตั้งแต่วันแรก โดยได้พยายามติดต่อ ที่จะหลบหนีออกนอกประเทศตามชายแดนไทยกัมพูชา โดยตั้งใจจะ เดินทางโดยเรือจากประเทศกัมพูชา ไปขึ้นฝั่งที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะต่อเครื่องบินไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากทุกด่านถูกสั่งปิดเอาไว้ทั้งหมด รวมทั้งการประสานงานเพื่อขอเอกสารการเดินทางระหว่างประเทศมีปัญหา จึงต้องล้มแผนการทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังถูก คปค.กดดันอย่างหนัก นายเนวินจึงได้ประสานผ่านทาง พล.อ.พรชัย กรานเลิศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เพื่อขอเข้ารายงานตัวกับ คปค.ที่กองบัญชาการกองทัพบก ตามกำหนดเวลาที่ คปค.ขีดเว้นเอาไว้
อดีตรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งที่ คปค.ส่งกำลังทหารไปเยี่ยมๆ มองๆ บ้าน แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ คือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น แต่ก็เล่นเอาเจ้าของบ้านหลังงามถึงกลับต้องเผ่นแน่บ...! ออกจากบ้านทันที เข้าทำนอง “ปลอดภัยไว้ก่อน”
นอกจากอดีตรัฐมนตรีข้างต้นแล้ว คปค.ก็ยังได้ส่ง ชุดปฏิบัติการพิเศษจากกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ หรือ ร.1 พัน 1 (รอ.) ภายใต้การบัญชาการของ พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 ไปควบคุมสถานการณ์ที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า ภายในซอยจรัลสนิทวงศ์ 69 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยไม่มีการบุกเข้าไปตรวจค้นหรือควบคุมตัวคนภายในบ้านแต่อย่างใด มีเพียงการตั้งด่าน ปิดกั้นทางเข้าออกเพื่อตรวจค้นรถทุกคัน ไม่เว้นแม้แต่รถของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ
ห้วงเวลาเดียวกัน กำลังทหารอีกหนึ่งกองร้อยจาก กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 มหาดเล็กรักษาพระองค์ หรือ ร.2 พัน 3 (รอ.) ภายใต้การบัญชาการของ พล.ท.อนุพงษ์ เช่นกัน ได้บุกเข้าไปควบคุมตัว พล.ท.พฤณฑ์ สุวรรณทัต ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ กักบริเวณไว้ที่กองบัญชาการกองพลที่ 1 รอ. ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านพัก สี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ไม่ถึงอึดใจ เพื่อไม่ให้นำกำลังทหารฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนี้
ของแบบนี้ไม่เจอด้วยตัวเองไม่รู้! ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยได้มีการทำปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็จะมีปรากฏการณ์ไล่ล่าและหลบหนีในลักษณะเช่นนี้ แต่ดูจะดุเดือดเข้มข้นกว่าในยุคนี้หลายร้อยหลายพันเท่า
อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประจำคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า สำหรับชะตากรรมของฝ่ายที่ถูกรัฐประหาร หรือฝ่ายที่ยึดอำนาจไม่สำเร็จ และต้องตกเป็นกบฏของแผ่นดินในอดีต โดยทั่วไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะแรกๆ นักการเมืองที่พ่ายแพ้จากการทำรัฐประหาร ส่วนมากจะจบชีวิตด้วยการลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และมีหลายๆ คนที่ไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย เช่น พระยาทรงสุรเดช ที่ลี้ภัยไปอยู่อินโดฯ-จีน-ฝรั่งเศส และกัมพูชา ก่อนจะจบชีวิตที่นั่น
ในสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2490 ก็ได้ลี้ภัยไปจีน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศสและถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น
นายสุพจน์ ด่านตระกูล ได้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อ “ปรีดีหนี” ว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายปรีดีซึ่งมีบ้านพักอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านท่าช้าง ได้ลงเรือจ้างแจวเลียบแม่น้ำฝั่งธนบุรีไปขึ้นฝั่งที่บางกรวย จ.นนทบุรี พักค้างแรมอยู่ที่นั่นจนฟ้าสาง จึงได้ต่อเรือยนต์ไปตามคลองบางหลวง ก่อนจะขึ้นฝั่งเดินเท้าไปยังจุดนัดพบ ที่กองทัพเรือจัดเตรียมเรือไว้ให้หลบหนี โดยต้องล่องเรือวกกลับมายังกองบังคับการกองเรือรบ ท่าราชวรดิษฐ์ เพื่อเตรียมเดินทางต่อไปยังกองทัพเรือสัตหีบ
นายปรีดีอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน จอมพล ป. ก็สั่งให้ผู้บัญชาการทหารเรือส่งตัวนายปรีดีมาให้คณะรัฐประหาร ด้วยความที่เกรงว่า ผู้บัญชาการทหารเรือจะเดือดร้อน นายปรีดีจึงตัดสินใจ เดินทางโดยรถยนต์ของหน่วยนาวิกโยธินกลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อพบกับผู้ช่วยทูตทหารเรืออังกฤษในซอยนานาเหนือ เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งนายปรีดีก็ได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสถานทูตอังกฤษและสหรัฐเป็นอย่างดี โดยทูตทั้งสองได้ประสานให้เรือบรรทุกสินค้ามารับนายปรีดีที่ท่าเรือคลองเตย ก่อนจะพาไปส่งขึ้นเรือบรรทุกน้ำมัน ที่เกาะไผ่ จ.ตราด เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ จีนและฝรั่งเศส ตามลำดับ
เหมือนเป็นวิบากกรรม ในปี 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกทำรัฐประหาร อ.สุธาชัย เล่าว่า จอมพล ป. ได้หนีออกไปทาง ชายแดน จ.สระแก้ว และลี้ภัยไปที่กัมพูชา จากนั้นเดินทางไปญี่ปุ่น และก็ไม่ได้กลับมาเลย มีเพียงอัฐิเท่านั้น ส่วน จอมพลผิน ชุณหะวัณ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถูกจับตัวได้ในวันที่ทำรัฐประหาร และคณะรัฐประหารได้เนรเทศทั้งสองคนไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ และไปตายที่นั่นเหมือนกัน
“เพราะฉะนั้นคนที่ถูกรัฐประหารในสมัยแรกๆ ส่วนมากก็จะถูกลี้ภัยไปที่ต่างประเทศและไปตายที่นั่น มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้กลับมาตายใน บ้านเกิด เช่น พระองค์เจ้าบวรเดช หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่เคยเป็นนายกฯ ก็หมดบทบาททางการเมืองไป ส่วนหลวงอดุลเดชจรัส ที่ถูกจอมพลผิน ทำรัฐประหาร ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีและเสียชีวิตในตำแหน่งดังกล่าว” อ.สุธาชัย กล่าว
อ.สุธาชัย กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ชะตากรรมของผู้ที่ถูกทำรัฐประหารเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร คนเหล่านี้ได้กลับมาที่เมืองไทยโดยไม่มีบทบาทการเมืองใดๆ ในที่สุดก็ตายที่เมืองไทยเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ จอมพลถนอม เดินทางไปลี้ภัย ในสหรัฐ จอมพลประภาส ลี้ภัยไปที่จีน พ.อ.ณรงค์ ลี้ภัยไปเยอรมนี ส่วนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ได้ถูกจับ แต่ก็ถูกทำให้หมดบทบาททางการเมืองไป
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ต่อมาในปี 2520 พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้พยายามยึดอำนาจ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่แพ้ กรณีนี้น่าจะเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ถูกประหารชีวิต ซึ่งมาจากการหักหลัง เพราะได้มีความพยายามเจรจาในการขอลี้ภัยไปไต้หวันแล้วแต่ถูกจับบนเครื่องบิน
“ในปี 2524 เหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย หัวหน้าคณะปฏิวัติ นำโดย พล.อ.สันต์ จิตปฏิมา มีความพยายามในการยึดอำนาจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้วแพ้ จึงได้ลี้ภัยไปพม่า และเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ยังมี พ.อ.มนูญ รูปขจร โดยหนีไปทาง จ.กาญจนบุรี ก่อนจะต่อไปที่ จ.ระนอง และลงเรือไปขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศเยอรมนี โดยอยู่ที่นั่นนานถึง 2 ปี ในระหว่างนั้นได้ไปเรียนปริญญาโทที่เยอรมนีด้วย พร้อมด้วย พ.อ.บูลศักดิ์ โพธิ์เจริญ และ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิต ที่หนีไปด้วยกัน” อ.สุธาชัย
นอกจากนั้น ยังมีกรณีกบฏ 9 กันยายน 2528 ที่คณะรัฐประหารถูกจับดำเนินคดีเข้าคุกหมด เช่น พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายอรุณ พร้อมเทศ ฯลฯ และถูกดำเนินคดีอยู่หลายปีแต่ก็ยังมีคนที่หนีไปได้ อยู่ดี นั่นคือ พ.อ.มนูญและ น.ท.มนัส รูปขจร น้องชาย
อ.สุธาชัย กล่าวว่า ครั้งต่อมาคือการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ไม่นาน ต่อมาได้รับการปล่อยตัว แต่คนที่หนีไปได้คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โดยปลอมตัวใส่ชุดแขกติดหนวดเป็นอาบัง แล้วขึ้นรถไฟลงไปที่นราธิวาสข้ามฝั่งไปมาเลเซีย จากนั้นขึ้นเรือไปที่สิงคโปร์ แล้วลี้ภัยไปประเทศเดนมาร์ก เป็นการหนีที่ระหกระเหินมาก
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า จะเห็นได้ว่าชะตากรรมของผู้ที่ถูกยึดอำนาจ หรือผู้ที่ก่อการกบฏ แล้วแพ้ ในระยะๆ หลัง โทษไม่สูงเท่าแต่ก่อน สำหรับโทษของบรรดาพรรคไทยรักไทยแค่นำมาลงโทษตามกฎหมาย ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
|