หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ปฏิบัติการล่าสมบัติ “ทักษิณ” ข้ามชาติ พึ่ง “ปปง.โลก” อายัดทรัพย์-จับตา 3 รมต.รวยผิดปกติ



เปิดช่องทางเอาผิด-ยึดทรัพย์ “ทักษิณ” และพวกพ้อง นักกฎหมายตามรอยอาชญากรรมธุรกิจและการฟอกเงิน แนะพึ่ง “ปปง.โลก” ตามทวงเงินนอกประเทศ ชี้ชาติสูญเงินจากคดีดัง “เอกยุทธ-ปิ่น จักกะพาก” กว่าหมื่นล้านบาท จับตาบัญชีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ “เนวิน-สมศักดิ์-สุดารัตน์”

และแล้วบรรดาอดีตรัฐมนตรี จากคณะรัฐบาล “ทักษิณ” รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในเครือของบุคคลเหล่านี้ ต้องมีอันตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายกันถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากประกาศฉบับที่ 23 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบในประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน..!

สำหรับมูลเหตุที่ทำให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.นำมาเป็นเหตุผลในการตรวจสอบทรัพย์สินของตัว พ.ต.ท.ทักษิณ รัฐมนตรีตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก ครม.ชุดนี้มีเหตุอันน่าสงสัยว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรงนั้น ย่อมไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของคนในสังคมส่วนใหญ่ที่เฝ้ามองพฤติการณ์ของ ครม.ของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอดเวลากว่า 5 ปีเต็มไปด้วยการทุจริตเชิงนโยบาย อย่างครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มักมีใครต่อใครพากันตั้งฉายาให้กับรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ว่าเป็น “แกรนด์ บุฟเฟต์ คาบิเนต” บ้างถูกขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็น “รัฐบาลกิน-แบ่ง” ในปี 2547 เหตุเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับตนเองและพวกพ้อง และล่าสุดปี2548 ที่ผ่านมา ได้รับฉายาที่ทำให้เห็นภาพความเดือดร้อนของประชาชนชัดเจน “ประชาระทม”

ด้วยภาพลักษณ์ดังกล่าวของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง โดยที่ตลอดหลายปีมานี้ประชาชนคนในชาติยังคงยากจนเช่นเดิม แต่ปรากฏว่าคนในรัฐบาล รวมไปทั้งพวกพ้องของอดีตนายกฯ คนที่ 23 กลับสามารถเติบโตและยึดครองธุรกิจต่างๆ กันถ้วนหน้า



ชี้ “ธุรกิจในเครือชิน” เสียหาย-ผลกระทบหนัก

ดังนั้น ในยามที่ “ความเปลี่ยนแปลง” มาเยือนหลัง คปค.โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะหน้าคณะฯ ประกาศยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามในการที่จะนำทรัพย์สินจำนวนมากมายของอดีตผู้นำและบุคคลที่ใกล้ชิดซึ่งอยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าบางส่วนอาจได้มาโดยมิชอบกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งงานนี้ว่ากันว่าถึงแม้ คปค.ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตคณะรัฐมนตรี มี “สวัสดิ์ โชติพานิช” อดีตประธานศาลฎีกา นั่งเป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับ “โจทก์เก่า” ของคนในรัฐบาลชุดนี้ ทั้ง “กล้านรงค์ จันทิก” อดีต ป.ป.ช. “คุณหญิงจารุวรรรณ เมณฑกา” ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นมือทำงานชั้นเซียนก็ตาม แต่การที่จะได้ทรัพย์สิน อันควรตกเป็นของแผ่นดินกลับคืนมาก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายไปเสียทั้งหมด...

หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ คปค.ประกาศยึดอำนาจจากอดีต พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย.2549 ปรากฏข่าวความเคลื่อนไหวการขนย้ายเงิน ตลอดจนทรัพย์สินต่างๆขึ้นเครื่องบินบ้าง และบ้างก็ว่ามีรัฐมนตรีบางคนถึงกับใช้วิธีเช่าตู้คอนเทรนเนอร์ ขนส่งสัมภาระไปต่างประเทศก่อนเหตุการณ์กว่า 2 สัปดาห์ ทรัพย์สินที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปนอกประเทศเหล่านี้ อาจเป็นโจทย์ที่หนักหนาสาหัสสำหรับคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สิน ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคปค.อย่างมากทีเดียว

รศ.วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจและการฟอกเงิน ได้วิเคราะห์กับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการติดตามทรัพย์สินที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ ตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้อง

“ในส่วนของเม็ดเงินที่เป็นปัญหานั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวน73,000 ล้านจากการขายหุ้นในเครือชิน คอร์ปให้กับกองทุนเทมาเสก และมีการเลี่ยงภาษี นั้นก็อาจบอกไม่ได้ว่าเงินทั้งหมดมีความผิดหรือไม่ เพราะคุณทักษิณก็มีธุรกิจส่วนตัวอยู่ด้วย นอกจากนี้พบว่ายังมีการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ยิ่งจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ก็ยิ่งหาหลักฐานมายืนยันลำบาก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ เพราะเขาอาจมีที่มาที่ไปทรัพย์ของเขาได้ เพราะได้เตรียมการเอาไว้มากพอสมควรแล้ว แต่ความเสียหายที่ตามมาจากนี้คือธุรกิจต่างๆมันจะล่มสลายตามไปด้วย เพราะมีการเข้าไปครอบงำธุรกิจ ซึ่งจุดนี้น่าห่วงมาก”



แนะประสาน “ปปง.โลก” ตามรอย-ยึดทรัพย์

เนื่องจากในการเอาผิดทางคดีอาญานั้นต้องมีหลักฐานอันเชื่อได้ว่า "ผิดจริง" จึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่หากนำกฎหมายฟอกเงิน เข้ามาใช้โอกาสที่จะเข้าข่ายความผิดก็จะเกิดขึ้นได้มากกว่า เนื่องจากในกฎหมายฟอกเงิน จะถือว่า "มีเหตุอันควรเชื่อ"ได้ว่าทรัพย์สินนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุมูลฐาน เพียงเท่านี้ ปปง.ก็สามารถดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจเป็นปัญหาในการติดตามเอาทรัพย์สินกลับคืนมานั้น นอกจากการคอรัปชั่นเชิงนโยบายต่างๆของรัฐแล้ว ผอ.ศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม ฯ ยังมองว่าการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินออกไปนอกประเทศก่อนหน้านี้ของคนในรัฐบาล ก็ถือเป็นประเด็นที่คณะทำงานฯต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมายปปง.ภายในประเทศ และอาศัยการประสานความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อให้การติดตามและเอาผิดมีผลอย่างจริงจัง

"หากพิจารณาจากเส้นทางการไหลออกของเงิน พบว่าหลายคนก็ไปฝากยังต่างประเทศ หลายคนก็ไปลงทุนต่างประเทศ นักการเมืองไทยเอาเงินไปฝากไว้ที่อังกฤษเยอะ โอนไปยังหมู่เกาะที่เป็น tax free เช่นประเทศในหมู่เกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่หมู่เกาะเคย์แมน เกาะมาแชล เกาะครุก ประเทศเหล่านี้ไม่แคร์อะไรอยู่แล้ว และไม่ให้ความร่วมมือ

ในการติดตามร่องรอยถ้าเป็นการติดตามในส่วนของการดำเนินคดีอาญา ขั้นตอนอาจจะนาน เพราะต้องอาศัยพ.ร.บ.ดำเนินความร่วมมือในการดำเนินคดีอาญาพ.ศ.2535 แต่หากเลือกไปในช่องทางของกฎหมายฟอกเงิน การทำงานจะเร็วมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกของเอคมัน กรุ๊ป เหมือนกับเป็นปปง.โลก ที่ต่างให้ความร่วมมือระหว่างกัน"



สูญเงินจากคดี “เอกยุทธ-ปิ่น” กว่าหมื่นล้าน

เนื่องจากในอดีต Egmont group ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการปราบปรามการทุจริตฟอกเงิน ที่ถูกระบุว่าเป็น ปปง.โลก เคยยึดทรัพย์ชั่วคราวของ เอกยุทธ อัญชันบุตร ที่อังกฤษไว้ให้กับประเทศไทย ดังนั้น การที่ ปปง.อังกฤษทำการยึดทรัพย์ชั่วคราวไว้ให้ก็น่าจะถือเป็นวิสัยทัศน์ ที่เห็นได้ชัดว่าคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ชุดนี้สามารถติดตามเงินกลับมาได้

"ขั้นตอนที่ต้องประสานไปยังต่างประเทศจะมีกฎเกณฑ์ หากพฤติการณ์ไม่เข้าเงื่อนไขของเขา ก็อาจไม่ร่วมมือให้ คือเราจะใช้อธิปไตยนอกอาญาเขตเราก็ยาก นอกจากจะอาศัยความร่วมมือ

อย่างกรณีของคุณปิ่น จักกะพาก ซึ่งโดนคดีฉ้อโกงคดีฟินวันในไทย แต่ทางอังกฤษระบุว่าพฤติกรรมไม่เข้าข่ายความผิดอาญาของอังกฤษ จึงไม่ส่งตัวกลับมาที่ไทย เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าเวลาที่เราจะพูดก็พูดได้ แต่เวลาที่จะทำจริงๆก็คงไม่ได้ง่าย เพราะเราไม่ได้ทำด้วยตัวเอง ต้องพึ่งความร่วมมือจากประเทศ

เนื่องจากเงินเหล่านี้มันไหลออกไปค่อนข้างรวดเร็ว เดี๋ยวนี้การโอนเงินมันเร็ว มาก ดังนั้น หากสิ่งที่เราทำ หากประเทศนั้นๆ ไม่มีกฎหมายรองรับก็จะไม่จัดการอะไรให้เรา ในเคสของคุณปิ่น เราต้องสูญเสียเงินไปประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท ในส่วนของคุณเอกยุทธ ที่โดนคดีแชร์ชาเตอร์ ก็มีการสูญเสียเงินไปประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท "

อย่างไรก็ตาม รศ.วีระพงษ์ ยังมองว่า "ตัวแปร" สำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินการติดตามเอาผิดของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบทรัพย์สิน บรรลุเป้าหมายคือการพิจารณาชี้มูลความผิดในส่วนของอัยการ เพราะหากสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามี "เหตุอันควร" ว่าเงินเข้าข่ายความผิดมูลฐานกฎหมายฟอกเงิน ก็จะดำเนินการยึดทรัพย์สินทางแพ่งได้ นั่นหมายความว่าการดำเนินการภายในประเทศไทยต้องใช้กฎหมายให้เกิดความเด็ดขาดก่อน



MOU ร่วม 2 องค์กร-ติดดาบฟันอาชญากร ศก.

การปฏิบัติการเพื่อติดตามทรัพย์สินอันมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของแผ่นดินนั้น ตามข้อเท็จจริงแล้วถึงแม้คณะทำงานตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้อง อย่าง ป.ป.ช. ปปง. หรือ สตง.จะมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและเอาผิดอยู่ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าพฤตกรรมการทุจริต การฉ้อฉลในโครงการของรัฐ ตลอดจนการหาประโยชน์ที่ผ่านมาของนักการเมือง บุคคลทั่วไปได้พัฒนารูปแบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตามร่องรอยความผิดของอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนักธุรกิจ ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

"เราประมาทคนพวกนี้ไม่ได้เลย ยิ่งฉลาดมาก ยิ่งโกงมาก ยิ่งหาทางหลบหลีกได้มาก เพราะฉะนั้นเราต้องประเมินดูว่าฝ่ายรัฐมีอะไรบ้างที่เป็นเครื่องมือ คนพวกนี้ก็มีเครื่องมือในลักษณะเดียวกันหรืออาจเหนือกว่า แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้เขารู้แต่ก็ไม่สามารถโต้ตอบ หรือจำนนด้วยพยานหลักฐาน หรือสิ่งที่รัฐสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันไม่ถูกต้อง จุดนี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่จะนำมาใช้ดำเนินการเอาผิดได้ต่อไป

วิธีการที่พบอยู่เสมอในการติดตามพฤติกรรมของนักการเมือง คือ ลักลอบเอาเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารต่างประเทศ ผลลัพธ์ก็คือทำให้ติดตามร่องรอยทำได้ยากขึ้น

นักการเมืองพวกนี้เมื่อรู้ว่าไทยเป็นสมาชิกองค์กร ปปง.โลก ก็มักจะเลี่ยงไปฝากที่หมู่เกาะต่างๆแทน หรือประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ปปง.โลก"

ในการติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบทรัพย์สินฯที่แต่งตั้งขึ้นโดย คปค. ยังมีภาระหน้าที่ต้องติดตามทรัพย์สินในส่วนของรัฐมนตรีอีกหลายคนเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ปปง.แล้ว จากการลงนามข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องการประสานงานของหน่วย ระหว่าง ป.ป.ช.กับ ปปง. ขณะที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) ได้ลงนามข้อตกลงกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. จะเป็นผลที่จะทำให้ทุกฝ่ายประสานความร่วมมือกันได้ชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งทรัพย์ในส่วนใดที่ ป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้ ก็จะจัดการไป แต่หากเป็นทรัพย์ที่ ป.ป.ช.ไม่สามารถดำเนินการได้ ปปง.จะเข้ามาดำเนินการต่อไป



จับตาทรัพย์สิน “เนวิน-สมศักดิ์-สุดารัตน์”

ในส่วนของบรรดารัฐมนตรีที่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในเชิงนโยบายก็อาจถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยการติดตามร่องรอยจากบัญชีทรัพย์สิน ทั้งนี้ในวันที่ 18 ต.ค.2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดให้รัฐมนตรีชุดล่าสุดต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งการตรวจสอบ "ความร่ำรวยผิดปกติ" จะผ่านช่องทางของ ป.ป.ช.ที่จะต้องพิสูจน์

"คิดว่าแต่ละโปรเจกต์ มีที่มาที่ไป ที่มีการกล่าวอ้างว่าไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใสเพราะฉะนั้นทุกหน่วยงานต้องมีข้อมูลในส่วนนี้ก่อน เพราะถ้าข้ามขั้นคงทำให้เห็นภาพชัดเจนไม่ได้ จากนั้นก็จะดูว่ายอดที่ใช้จริงควรเป็นเท่าไหร่ งบประมาณที่ได้มา เป็นเท่าไหร่ จะมีผลต่างให้เห็น โดยเงินที่เป็นส่วนต่างตรงนี้อาจจะเข้ามูลฐานความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปปง.ก็ดำเนินการได้ต่อไป

เท่าที่ประเมินตอนนี้คาดว่ามีรัฐมนตรีที่น่าจับตาเป็นพิเศษหลายคน ทั้ง คุณเนวิน คุณสมศักดิ์ คุณสุดารัตน์ เนื่องจากคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่ไม่ปกติอยู่มากเท่าที่ได้รับรายการจากการบอกกล่าวจากคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโปรเจคใหญ่ๆ ก็บอกมาแต่ถ้าจะดำเนินการในส่วนนี้ก็ต้องหาหลักฐานให้ชัดเจน ไม่ให้ต่อสู้ได้ โดยอาจจะติดตามจากบัญชีทรัพย์สิน หรือจากบัญชีธนาคารต่างๆ"

หากถามว่าความต้องการของคนในชาติที่จะได้เงินกลับคืนมาให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น รศ.วีระพงษ์ ยืนยันว่า คนไทยรู้สึกมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ผู้นำเป็นเผด็จการ พบว่าเงินก็ถูกขนย้ายออกไปมากมาย แต่ในเวลานั้นกลับไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้อย่างชัดเจนเนื่องจากยังไม่มีการติดดาบให้กับหน่วยงานยุติธรรม แต่หลังจากปี2542 เป็นต้นมาได้มีการใช้กฎหมาย ปปง. ไม่ต้องถึงขั้น "พิสูจน์ความผิด" เพียงแต่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเข้าข่ายความผิดของกฎหมายปปง.ก็สามารถให้อายัดทรัพย์ไว้ก่อนได้ หากมีการโอนก็สามารถติดตามการโอนได้หลายทอดต่อไป นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ปปง.โลก

ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการมีกฎหมาย ปปง. และการที่คณะทำงานติดตามตรวจสอบทรัพย์สิน ได้รับไฟเขียวจาก คปค.ในครั้งนี้ชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อนก็ตาม แต่ปัจจัยหลักที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือความสามารถของ "บุคลากร" ที่จำเป็นต้องรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมการยักย้ายทรัพย์สมบัติของนักการเมืองเป็นอย่างดี ต้องรู้จักการแยกแยะ "เงินสกปรก" ออกจาก "เงินดี" มีความรู้เท่าทันการกระทำความผิดหรือไม่ และบุคลากรที่ถือว่ามีความสำคัญในภารกิจใหญ่ครั้งนี้ยังจำเป็นต้องอาศัย ความเชี่ยวชาญทางการเงินเข้ามาร่วมมือ

"ในส่วนของแบงก์ชาติ มีข้อมูลและมีคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องทางการเงินอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาองค์กรต่างๆเหล่านี้อาจจะไม่ได้ประสานความร่วมมือมากเท่าที่ควร เพราะจะสามารถติดตามความผิดปกติของเงินที่โอนมาแต่ละครั้งได้"

นับจากนี้ไปอีก 1 ปีประเด็นที่หลายคนในสังคมยังคงให้ความสนใจและจับตาว่าท้ายที่สุดแล้วทรัพย์สินที่ประเทศชาติจะได้กลับคืนมา จากทั้งอดีตนายกฯ รัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น จะมีตัวเลขอยู่ที่เท่าไหร่ และจำนวนตัวเลขดังกล่าวนี่เองที่อาจทำให้หลายคนในชาติต้องอดเศร้าใจไม่ได้ โดยเฉพาะใครก็ตามที่ในใจยังตะโกนเชียร์ "ทักษิณกลับมา" อาจต้องอกหักหนักกว่าใคร!


ไปข้างบน