รู้จัก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้มากกว่าที่เคยรู้ (1) ตอน : “บิ๊กแอ็ด” ผู้มาจากฟ้า
"พระสุรยุทโธ" เมื่อครั้งจำพรรษาปฏิบัติธรรมภาวนาที่วัดป่าดานวิเวก บ้านแสงอรุณ ต.ศรีชมพู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย เมื่อปี 2547
นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทย-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งกราบถวายบังคมลาจากตำแหน่งองคมนตรี มารับหน้าที่อันสำคัญในช่วงบ้านเมืองอยู่ในภาวะปฏิวัติ และการใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งแรงกระเพื่อมทั้งผิวน้ำและใต้น้ำของระบอบทักษิณ ที่อยู่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังกระเพื่อมอยู่
และยังเป็นที่น่าสงสัยว่ากำลังมีคนคิดอะไรที่ใหญ่กว่าการปฏิวัติ? พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงเป็นทั้งผู้รับพันธกิจมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในฐานะที่เป็นทหารอดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งจะต้องมีพันธกิจสอดคล้องต่อเนื่อง และสนธิกันอย่างเป็นเนื้อเดียว แล้วยังต้องรับภารกิจของการเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตามธรรมนูญการปกครอง
เริ่มภาพใหม่ของความเป็นประชาธิปไตยให้ปรากฏ
ทั้ง “พันธกิจ” และ “ภารกิจ” เช่นนี้ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีความแตกต่างกว่านายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ เพราะต้องรับสถานการณ์/ปัญหาจาก คปค.ที่อาจจะต้องเรียกว่า คปค.ต้องพึ่งพารัฐบาลให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแล คปค.มากกว่าจะให้ คปค.เป็นผู้ดูแลช่วนเหลือรัฐบาล, และยังต้องปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลเอง บริหารราชการบ้านเมืองต่อไป โดยที่ผู้จะมารับทั้งพันธกิจ และภารกิจพร้อมๆ กันไปทั้ง 2 ด้านอย่างนี้
ความเหมาะสมมาลงตัวอยู่ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มากกว่าผู้อื่นที่อาจจะรับได้ในภารกิจ แต่เข้าร่วมพันธกิจกับ คปค.ไม่ได้ โดยเหตุผลเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นการเพียงพอแล้วต่อการตัดสินใจของ คปค.ต่อการขอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการประชุมของผู้นำ คปค.ทั้ง 6 คนนั้น มีความกังวลใจอยู่เพียง 2 อย่างคือ
1. ทางตำแหน่งองคมนตรีนั้น ประธานองคมนตรีคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะมีความเห็นอย่างไรในการที่องคมนตรีจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี คือต้องขอความเห็นชอบจาก “ป๋าเปรม” ก่อน และ
2. ตัว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะยินดีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่?
จึงเป็นหน้าที่ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คปค.ต้องไปดำเนินการทั้ง 2 ด้านคือ ขอความเห็นชอบจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และขอความกรุณาจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้รับหน้าที่นายกรัฐมนตรี
รายงานพิเศษนี้ ขอกล่าวถึงพันธกิจและภารกิจของ พล.อ.สุรยุทธ์ ไว้เพื่อการชี้ให้เห็นประเด็นเท่านั้น ยังไม่ลงไปสู่รายละเอียดใดๆ แต่จะขอเป็นรายงานเฉพาะตัวของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ควรจะรู้รักกันให้มากยิ่งขึ้น คือหากว่ารู้จักมากขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจกับสถานการณ์ว่าต้องคลี่คลายไป และหมดความกังวลใจต่อกระแสต่างๆ ที่ว่า บ้านเมืองของเราจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ จะให้มีความวางใจต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเต็มที่
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นเตรียมทหารรุ่น 1 (ตท. 1) ที่เปลี่ยนจากนักเรียนเตรียมนายร้อย (ตน.) เมื่อมีการตั้งโรงเรียนเตรียมทหารขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และในรุ่นของนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ร.ร.จปร.) คือ จปร.รุ่น 12 มีหมายเลขประจำตัว ร.ร.จปร. 6893 เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เลือกเหล่าทหารราบ (เหล่า ร.) โดยมีคะแนนสอบที่สามารถจะเลือกกลับเหล่าทหารปืนใหญ่ (เหล่า ป.) ได้ แต่ก็เลือกเหล่าทหารราบหรือเหล่าทหารม้า (เหล่า ม.) เพราะต้องการเป็นทหารที่ทำการรบ และในที่สุดเลือกเหล่าทหารราบ เพราะเป็นเหล่าที่ทำการรบแบบประชิดตัว และเห็นว่าผู้เป็นบิดา (พ.ท.โพยม จุลานนท์) เป็นเหล่าทหารม้าอยู่แล้ว จึงอยากจะเป็นทหารราบบ้าง
พล.อ.สุรยุทธ์ มีญาติสนิดชิดกัน เป็นทหารอากาศ คือ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช รองสมุหราชองครักษ์ (ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรมวังผู้ใหญ่อยู่วังศุโขทัย ประจำ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) โดยคุณแม่ของ พล.อ.อ.โยธิน เป็นน้องสาวของคุณแม่ พล.อ.สุรยุทธ์ ทั้ง 2 จึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกันทางสายมารดา
พล.อ.อ.โยธิน นั้นเป็นเตรียมทหารรุ่น 6 และเพื่อนนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นเดียวกันที่มีความรักและผูกพันกันอย่างยิ่งคือ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.ไพโรจน์ รัตนพล หัวหน้าสำนักงาน พล.อ.อ.ธเรศ (เพิ่งเกษียณอายุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา) ดังนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จึงเป็นพี่ของทั้ง พล.อ.อ.ธเรศ พล.อ.อ.ชลิต และพล.อ.อ.ไพโรจน์ ด้วย ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ ก็รักเพื่อนของน้องคือ พล.อ.อ.โยธิน เหมือนกับน้องของตัวเองด้วย
บิดาของ พล.อ.อ.โยธิน คือ พ.อ.ประกอบ ประยูรโภคราช เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นทหารม้าเหล่าเดียวกัน และเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีกทั้ง พ.อ.ประกอบ เป็นเพื่อนกับ พ.ต.พโยม จุลานนท์ บิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ ดังนั้น ทั้งพล.อ.สุรยุทธ์ และพล.อ.อ.โยธิน จึงอยู่ในฐานะ “หลาน” หรือจะเป็น “ลูก” ของพล.อ.เปรม ได้ โดยเป็นผู้ที่ พล.อ.เปรม เห็นมาตั้งแต่เกิดก็ว่าได้
นี่เป็นรายงานที่ไม่เชิงจะเป็นการ “ซุบซิบ” คอลัมน์สังคม แต่เป็นการชี้ให้เห็นความโยงใยสายสัมพันธ์ที่เชื่อว่า จะเป็นการเปิดเผยครั้งแรกโดยรายงานพิเศษนี้
พล.อ.สุรยุทธ์ นั้นมีชื่อเล่นว่า “แอ่ด” คือมาจากชื่อของรถรบสมัยนั้น ที่ทหารม้าหรือทหารรถรบ (ม้าเหล็ก) ตั้งฉายาว่า “รุ่นไอ้แอ่ด” คุณพ่อของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงเอาชื่อเล่นของรถถังรุ่นไอ้แอ่ดมาเป็นชื่อเล่นของลูกชาย ดังนั้น ที่เรียกกันว่า “แอ๊ด” หรือ “บิ๊กแอ๊ด” นั้น จึงเป็นการเรียกผิดและเขียนผิด เปลี่ยนชื่อกันไปเองโดยความเข้าใจผิด เพราะชื่อเล่นที่แท้นั้นคือ “แอ่ด” คือออกเสียงเป็น ไม้เอก ไม่ใช่ไม้ตรี
พล.อ.สุรยุทธ์ ถือกำเนิดเป็นชาวเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านเดิมของบิดา และสนิทคุ้นเคยกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานที่เป็น “คนเมืองเพชร” ด้วยกัน และขณะนี้ ดร.สุเมธ เป็นนายกสมาคมชาวจังหวัดเพชรบุรี และจากบ้านเกิดก็มาถึงสถาบันการศึกษาคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพราะเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ แล้วความเป็นสวนกุหลาบฯ ทำให้เป็นศิษย์ร่วมสถาบันกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ “บิ๊กจ๊อด” ด้วย ความสัมพันธ์กันในทางลึกของสวนกุหลาบฯ นี้ มีผลความผูกพันกันมากยิ่งขึ้นในหลายๆ ด้านกับ พล.อ.เปรม และพล.อ.สุนทร ซึ่งเป็นศิษย์เก่า จปร.รุ่นพี่อีกสถาบันหนึ่ง
จากการเป็นทหารพลร่ม/รบพิเศษ มาตั้งแต่เป็นร้อยตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีความผูกพันมากกับหน่วยและลักษณะทหารที่แตกต่างจากทหารบกอื่นๆ มีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ เป็น พ.อ.(พิเศษ) ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 ที่เรียกกันว่า “พลร่มป่าหวาย” จะได้เป็น “พลตรี” ขึ้นเป็นนายทหารคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยอัตรา พล.ต.นี้เป็นการได้นายพลนอกเส้นทางปกติ, การจะได้เป็นนายพล แต่อยู่นอกหน่วยพลร่ม/รบพิเศษนี้ มีความกังวลต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่า ถ้าหากออกนอกเส้นทางไปอย่างนั้นแล้ว อาจจะไปมีตำแหน่งต่อไปในหน่วยอื่น ไม่ได้กลับมาสวมหมวกเบเรต์แดงอีก และครั้งนั้น พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งเป็น พล.ท.ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ต้องให้ความมั่นใจว่า “แอ่ดไปอยู่กับป๋าก่อนสักพัก แล้วพี่จะขอตัวจากป๋ากลับมาอยู่กับพวกเราอีก ขอรับรองว่าต้องได้กลับ...”
จึงเป็น พล.ต.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารคนสนิทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อจาก พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ (ขณะนั้นยศ พล.ต.) ที่ไปได้ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี
ต่อมา, จึงได้ย้ายกลับมาเป็นผู้บัญชากองพลรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ บังคับบัญชากรมรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 2 และกรมรบพิเศษที่ 3 ที่อยู่ลพบุรีทั้งหมด เป็นไปตามที่ “บิ๊กจ๊อด” บอกไว้ว่า “ขอรับรองว่า ต้องได้กลับ...” จากนั้นเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และเป็น พล.ท.ในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในเวลาต่อมา
จากการเป็นพลร่ม/รบพิเศษนี้, พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นผู้ที่ผ่านหลักสูตรของกระบวนยุทธ์ทั้งหลายเหล่ของทหารพลร่ม/รบพิเศษมาทั้งหมด รวมทั้งหลักสูตรการกระโดดร่มแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธีแบบ “ฮาโล” ในระยะความสูง 18,000 ฟุต และสูงไปกว่านั้นคือ 3 หมื่นฟุต ซึ่งระยะความสูงขั้นสูงสุดนี้ ต้องใช้หน้ากากออกซิเจนในการช่วยหายใจด้วย หลักสูตร “พรานเวหา” นี้ถือเป็นสุดยอดแล้วของทหารพลร่ม/รบพิเศษ ซึ่งพล.อ.สุรยุทธ์ ปฏิบัติได้ตลอดเวลาที่อยู่ในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และเมื่อมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ก็ยังกระโดดร่มแบบนี้ได้อยู่ จากการเคยเป็นผู้นำหมู่กระโดดร่มลงท้องสนามหลวง ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษาด้วย
|