หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

รู้จัก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้มากกว่าที่เคยรู้ (2)ตอน : สองพี่น้องบ้าน “ป่าหวาย”

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สุภาพบุรุษนักรบจาก “พลร่ม-ป่าหวาย” ผู้มีลักษณะสมคำขวัญ “วินัย ใจเย็น สู้ตาย” และเป็นพลังเงียบ-เฉียบขาดที่แท้จริง เป็นผู้นำในการ “เป็นเช่นนั้น” คือต้องเป็นทหารในลักษณะนั้นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา และน้องๆ เช่น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ก้าวเดินตาม

กองพันพลร่ม (พัน.พร.) ตั้งอยู่ที่บ้านป่าหวาย ตำบลป่าตาล อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี และชื่อบ้านป่าหวาย เป็นที่มาของคำว่า “พลร่มป่าหวาย” หรือ “พวกป่าหวาย”-“ทหารป่าหวาย” แม้ว่าเวลานี้มีทหารพลร่ม/รบพิเศษอยู่ทั่วประเทศ เมื่อคนเห็นทหารใส่เบเรต์สีแดง ก็จะบอกว่าเป็น “ป่าหวาย” ทั้งหมด ยกเว้นชาวจังหวัดลพบุรี ที่รู้ว่าทหารหน่วยนี้ ยังมีอยู่ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ค่ายเอราวัณ ค่ายสฤษดิ์เสนา ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนที่ป่าหวายนั้น เป็นที่ตั้งของกรมรบพิเศษที่ 1 มีนามค่ายพระราชทานว่า “ค่ายวชิราลงกรณ์” และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษของทหารหน่วยนี้ ที่อยู่ในค่ายตามพระนามของพระองค์ด้วย




จากกองพันพลร่ม กองพันเดียว ทหารเบเรต์แดง ให้ปฏิบัติภารกิจทั้งเปิดเผยและลับ ทั้งภายนอก ภายในประเทศ ทอดร่างพลีชีวิตกันมามากกว่าจะเป็นศูนย์สงครามพิเศษ แล้วเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทหารพลร่มมีคำว่า “ออกประตูเดียวกัน” คือการกระโดดร่มออกมาจากประตูเครื่องบินด้วยกัน มีความเป็นพี่น้องกัน ใครเก่งคนนั้นก็ได้รับการยอมรับ ดังเช่น พ.อ.(พิเศษ) วิสุทธิ์ กาญจนสิทธิ์ ได้เป็นผู้บังคับการ “ป่าหวาย” ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร.แต่ก็เป็นผู้บังคับบัญชาได้ เพราะว่าเป็นคนเก่ง รบเก่ง สำหรับผู้ที่เก่งระดับสั่งสอนผู้อื่นอยู่ในระดับ “ครู” ก็ถูกเรียกว่า “ครู” แม้ว่าจะไม่ใช่นายทหารสัญญาบัตร หรือเป็นนายทหารยศน้อยๆ ผู้ที่มียศสูงกว่า ก็อาจทำความเคารพก่อนได้ เพราะถือว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อ “ครู” ระหว่างครูกับศิษย์นั้น ไม่มียศและตำแหน่งมากันไว้

ชุดปฏิบัติการพิเศษ (ชป.) ในการรบพิเศษ ที่มีจำนวน 12 คนนั้น การเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ จะเป็นลักษณะใดก็แล้วแต่พื้นที่ อาจจะเดินไป หรือไปทางเรือยาง หรือการกระโดดร่มลงพื้นที่อันเป็นการเดินทางในลักษณะปกปิด แฝงตัว ซ่อนเร้น ทั้ง 12 คนมีนายทหารยศร้อยเอกเป็นผู้บังคับชุดมีร้อยโทหรือร้อยตรีเป็นรองผู้บังคับชุด กำลังประกอบด้วยจ่า และนายสิบ แบ่งหน้าที่เป็นพลยิง ทั้งพลแม่นปืน และพลยิงธรรมดา สำหรับพลแม่นปืนนั้น สามารถยิงเป้าหมายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ในระยะ 300 หลา ได้โดยมีเปอร์เซ็นต์ผิดพลาดเพียง 5% คือประมาณ 2 เซนติเมตร มีพลพยาบาล พลสื่อสาร ซึ่งยิงปืนได้ ทำการรบได้อย่างทัดเทียมและทดแทนหน้าที่กันได้ด้วย ทั้ง 12 คนนี้จะหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อไปปฏิบัติการ

ที่กล่าวถึงชุดปฏิบัติการพิเศษนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นว่า มีความต่อเนื่องผูกพันกันมา เช่น พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก เคยเป็นผู้บังคับชุดปฏิบัติการพิเศษ และมีน้อง เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยเป็นรองผู้บังคับชุด หรือรองหัวหน้าทีม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เขยิบเป็นผู้บังคับชุด เมื่อเป็นร้อยเอก ก็มีรองผู้บังคับชุดคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เพิ่งจบมาจากโรงเรียนนายร้อย จปร.

เพราะต้องเป็นเนื้อเดียวกันมาเช่นนี้ จึงไม่มีการแยกออกจากกัน ผูกพันกันไปชั่วชีวิต เพราะภารกิจของชุดปฏิบัติการพิเศษที่ 12 คน จะต้องเป็นร่างเดียวและหัวใจเดียวกันนั้น มีสิ่งที่ต้องตระหนักว่า ทุกภารกิจคือความตาย คือถ้าหากฝ่ายตรงข้ามไม่ตาย ฝ่ายเราก็ต้องตาย จะเป็นความตายของใครเท่านั้น?

คำว่า “ไปราชการ” เป็นคำที่หน่วยรบพิเศษ ทหารพลร่มสั่งสอนกันมาว่า ภารกิจต้องปิดลับ แม้กระทั่งลูกเมีย จะไปทำงานที่ไหน อย่างไร ใช้คำเดียวว่า “ไปราชการ” โดยถือว่า คำว่า “ราชการ” ก็เป็นสิริมงคลแก่ตัวอยู่แล้ว คือไปทำการถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหน้าที่ มีชัยชนะนำชีวิตกลับมาก็เป็นชัยชนะของราชการ และหากตาย ก็เป็นการตายโดยหน้าที่ราชการในยามที่ตัวไปราชการแดนไกล ไปรบในลาวหรือในเขมร

ทุกคนจะต้องลาออกจากราชการทหาร ไม่มีความผูกพันอะไรกับกองทัพ ในการศึกสงครามสู้รบที่ไม่มีการประกาศ เพราะนี่เป็นงานลับ ตามแบบฉบับของหน่วยรบพิเศษ เมื่อเสร็จภารกิจก็กลับหน่วยที่ลพบุรี และบางคนก็ไม่ได้เข้าหน่วยแต่ไปอยู่ วัดเสาธงทอง หรือ วัดตองปุ



“เงินเพิ่มพิเศษจากการปฏิบัติการสู้รบ” หรือ พสร.

แม้จะเป็นเงินไม่มาก ตามขั้นเงินเดือนของตัวเองในขณะนั้น เช่น พสร. 2 ขั้น หรือ 3 ขั้น ขณะเป็นร้อยเอก ร้อยโท ก็น้อย แต่สำหรับผู้ที่อยู่หน่วยรบพิเศษนั้น แม้ยศและเงินเดือน จะไปถึงระดับใดแล้วก็ตาม เงิน พสร.คือสิ่งบ่งบอกของการเป็นนักรบโดยแท้ และจะภูมิใจใน พสร.นี้มากกว่าอย่างอื่น ใครที่มี พสร.น้อยจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักรบที่ด้อยกว่าเพื่อน

ในสัญญาณของหน่วย ได้ปลูกฝังซึมซับให้เป็นวิญญาณหรือสัญชาตญาณของคน โดยที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มิใช่จะมีแต่ผู้น้อย หรือทหารยศต่ำลงไป ผู้มียศระดับนายพล นายพัน คงไม่เป็นเช่นนั้นกระมัง...ในความเป็นพลร่ม/รบพิเศษนั้น สิ่งเหล่านี้คือสมบัติติดกาย อยู่กับลมหายใจของพวกเขา ที่ฝึกหนักรับการ “ใส่” จนเป็นความรู้สึกที่ตกผลึกไปจนวันตาย

ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ทั้งการส่งทางอากาศ (พลร่ม) ที่แยกแขนงออกไปเป็นการกระโดดร่มแบบต่างๆ รวมทั้งพลาธิการส่งทางอากาศ หลักสูตรจู่โจม “เสือคาบดาบ” หลักสูตรรบพิเศษ สงครามนอกแบบ การต่อต้านก่อการร้าย หลักสูตรการทำลาย และอีกมากมายนั้น เป็นการเข้าหลักสูตรโดยไม่มียศ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ ไม่มีผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา มีแต่นักเรียนซึ่งทุกคนมีฐานะเป็นนักเรียนเท่ากันหมด และมี “ครู” ที่ต้องเคารพ

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคง

ก็เคยเป็นอย่างนี้ ได้รับการศึกษาเช่นนี้ และยังคงลักษณะของการเป็นผู้ที่ นิ่ม-นิ่ง-ลึก และแสดงออกซึ่ง “วินัย ใจเย็น สู้ตาย” ที่มีความหมายมากจาก “วินัย” คือความรู้สึกที่บอกกับตัวเอง สอนตัวเอง เตือนตัวเองเป็นพิเศษ ให้แตกต่างไปจากความรู้สึกของบุคคลทั่วไป และเป็นความใจเย็น รอบคอบ พินิจพิเคราะห์ความใจเย็นสร้างวิจารณญาณอย่างพิเศษ และทำให้เป็นบุคลิกที่ลึกจนยากจะจับทางหรือประเมินได้ถูกว่า กำลังคิดอย่างไร และกำลังจะทำอะไร ความเป็นคนใจเย็น ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผลมากกว่าคนในร้อน และเมื่อต้องเข้าสู่สถานการณ์อันอยู่ในระดับที่ว่า-ไม่เราก็เขาต้องตาย...ก็เป็นคนกล้าหาญ กล้าเผชิญ กล้าแลก คือแลกกันถึงสิ่งที่มีค่าที่สุด คือ

แลกกันด้วยความตาย!

นี่เป็นลักษณะโดยทั่วไป และลักษณะเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ทั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มีอยู่ ซึ่งแต่แรกนั้น มีแต่ พล.อ.สนธิ หัวหน้าคณะ คปค. แต่เวลานี้มีผู้ซึ่งนำคุณลักษณะอย่างเดียวกัน มาจากเบ้าหลอมเดียวกัน มาจาก “ป่าหวาย” เหมือนกันเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ระบอบอื่นๆ เป็นฝ่ายตรงข้าม รวมทั้ง “ระบอบทักษิณ”


ไปข้างบน