ลมหายใจที่รวยริน ของวัดพระบาทน้ำพุ
ชื่อเสียงของวัดพระบาทน้ำพุ ไม่เพียงเป็นที่รับรู้ของคนไทยในประเทศในฐานะที่พึ่งพิงของผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี แต่ยังเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางของชาวโลกด้วย แต่วิกฤตการณ์การเงินในช่วงหลังที่รายจ่ายไม่สมดุลกับรายรับ กลายเป็นปัญหาหนักใจของ 'พระอาจารย์อลงกต' ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผู้ติดเชื้อที่จะต้องหาแนวทางการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
โดยเตรียมตั้งโรงงานขนาดเล็กรับงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้าและตัดเย็บเสื้อผ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ รองรับรายจ่าย 1.25 ล้านบาทต่อเดือน เพียงหวังให้ผู้ป่วยที่ถูกญาติมิตรและสังคมขับไล่มีที่พักพิงในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ค่าใช้จ่ายเกินรายรับ
ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาทางวัดพระบาทน้ำพุซึ่งรับอนุเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวหรือถูกคนรอบข้างขับไล่จนไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ต้องประสบกับวิกฤตการเงินเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวทำให้ยอดเงินบริจาคลดลงจนน่าตกใจและคาดว่าอาจจะต้องปิดรับผู้ป่วยใหม่ในไม่ช้านี้
ด้วยลำพังภาระค่าใช้จ่ายที่ทางวัดต้องแบกรับถึงเดือนละ 1,250,000 บาท ก็ดูจะหนักเกินกำลังเพราะช่วงนั้นเงินบริจาคที่เข้ามามีเพียงเดือนละ 200,000 บาทเท่านั้น ทำให้พระอุดมประชากร หรือ 'พระอาจารย์อลงกต' เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี ต้องตระเวนออกบิณฑบาตและเดินทางมายังกรุงเทพฯเพื่อขอรับบริจาคทุกสัปดาห์ ชนิดทีเรียกว่าในหนึ่งสัปดาห์นั้นหลวงพ่อจะมีเวลาอยู่ที่วัดในวันอาทิตย์เพียงวันเดียวเท่านั้น
ด้วยหวังเพียงประทังชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์ 283 ชีวิต รวมทั้งเด็กกำพร้าซึ่งพ่อแม่เสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ที่หลวงพ่อได้อุปการะไว้
‘พระอาจารย์อลงกต’ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กับเด็กๆที่ทางวัดให้การอุปการะ
เจ้าหน้าที่ของวัดพระบาทน้ำพุ บอกว่า ปัจจุบันทางวัดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่าอาหาร ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าน้ำ-ไฟและโทรศัพท์ ค่าพาหนะ เงินเดือนพนักงาน ซึ่งแม้แต่ละคนจะได้ค่าตอบแทนไม่มากนักแต่เมื่อรวมทุกฝ่ายแล้วก็ไม่ใช่น้อยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีค่าสมุดหนังสือของเด็กกำพร้าที่หลวงพ่อส่งเรียนด้วย
"ทางวัดพระบาทน้ำพุให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ในนามมูลนิธิธรรมรักษ์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โครงการ 1 ซึ่งอยู่ภายในวัดพระบาทน้ำพุ ที่อำเภอเมือง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย และโครงการ 2 อยู่ที่อำเภอหนองม่วง จ.ลพบุรี สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายฟื้นฟูแข็งแรงแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33
ซึ่งหลวงพ่ออลงกตก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ โดยเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 คือเด็กๆพวกนี้ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนปกติได้เพราะสังคมรังเกียจที่พ่อแม่ติดเอดส์ ท่านก็เลยต้องตั้งโรงเรียนขึ้นมารองรับเพื่อให้เด็กเหล่านี้มีการศึกษาจะได้สามารถพึงพาตัวเองต่อไปได้
เจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์อย่างใกล้ชิด
นอกจากจะดูแลรักษาตามอาการแล้ว หลวงพ่อท่านก็พยายามฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย มีการฝึกอาชีพให้ เช่น เย็บผ้า ประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งเป็นงานเบาๆที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เพื่อให้เขาเหล่านี้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย และหากพร้อมจะกลับไปอยู่ในสังคมภายนอกก็จะได้มีอาชีพเลี้ยงตัวต่อไป
บางคนที่แข็งแรงพอที่ทำงานได้ก็จะให้เขาช่วยงานเล็กๆน้อยๆ เช่น โบกรถ ประดิษฐ์ของที่ระลึกออกจำหน่าย เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง
ปัญหาที่นี่จะเยอะมาก เราขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย แม้จะมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยบ้างแต่ก็ยังน้อยอยู่ ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็เยอะ แต่ก็ต้องสู้กันไป เพราะหลวงพ่อท่านมองว่าผู้ป่วยเหล่านี้เขาไม่มีที่ไป อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนรังกียจ ถ้าทางวัดผลักไสเขาอีกเขาก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน" เจ้าหน้าที่วัดพระบาทน้ำพุ กล่าว
อาสาสมัครมาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีท่าทีรังเกียจ
รอธารน้ำใจหลั่งไหลกู้วิกฤต
อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีผู้ทราบถึงความเดือดร้อนของวัดพระบาทน้ำพุจึงได้พิมพ์ข้อความบอกเล่าถึงปัญหาที่ทางวัดประสบแล้วส่งอีเมลต่อๆกันไป จนเกิดเป็นกระแสธารน้ำใจที่หลั่งไหลเข้ามามากมาย ทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและตัวเงินอันเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้ป่วย ทำให้ลมหายใจที่กำลังรวยรินของวัดแห่งนี้กลับฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง
พระอาจารย์อลงกต กล่าวด้วยความตื้นตันใจ ว่า "ช่วงกลางปีนี่เราย่ำแย่มากๆ แต่ตอนนี้สถานการณ์การเงินเริ่มดีขึ้น หลังจากที่ข่าวแพร่ออกไปประมาณเดือนสิงหาคมก็เริ่มมีผู้บริจาคเข้ามาบ้าง ยิ่งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี่มีคนเข้ามาช่วยเยอะมาก เราก็แปลกใจ เพิ่งมารู้ตอนหลังว่ามีผู้ปรารถนาดีช่วยส่งอีเมลบอกข่าวต่อๆกันไปจนกลายเป็นกระแสของสังคม รู้เลยว่ากระแสของคนที่ห่วงใยนั้นมีเยอะ
ก็มีโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม บ้างแวะเข้ามา บางกลุ่มก็มากัน 2-3 คน บ้างก็มาเป็นหมู่คณะ มาช่วยบริจาคกันเยอะมาก ทำให้วัดเราสามารถพลิกจากสถานการณ์วิกฤตกลับมาอยู่รอดได้โดยไม่ต้องปิดรับผู้ป่วย อาตมาก็ต้องฝากขอบใจคนที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้ด้วย"(ยิ้มปลาบปลื้ม)
ให้ผู้ป่วยฝึกอาชีพเพื่อให้เห็นคุณค่าของตัวเอง
แม้สถานการณ์ตอนนี้จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าวัดพระบาทน้ำพุจะไม่ต้องกลับไปเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอีก ดังนั้นพระอาจารย์อลงกตจึงมีแนวคิดที่จะสร้างรากฐานทางการเงินของมูลนิธิธรรมรักษ์ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากว่า 10 ปี ให้มั่นคงขึ้นเพื่อที่จะให้วัดสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรอคอยเงินบริจาค โดยกำลังเตรียมที่จะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อรับงานผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ รวมทั้งจะจัดสรรพื้นที่เพื่อทำการเกษตรเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป
พระอาจารย์อลงกต เล่าถึงโครงการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวของวัดพระบาทน้ำพุ ว่า
"เรามีแนวคิด 2-3 แนวทางเพื่อให้เราไม่ต้องมาเผชิญหน้ากับวิกฤตในอนาคต ก็พยายามหารายได้เข้ามา โดยหลักๆมี 2 โครงการที่วางไว้ โครงการแรกจะทำในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเราได้รับความกรุณาจากทางบริษัทพัฒน์ (บริษัทสหพัฒนพิบูลย์ จำกัด (มหาชน) )ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่จะจ้างให้เราผลิตงานให้ โดยสหพัฒน์จะนำวัตถุดิบมาให้ เราก็ผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆของรองเท้าแล้วก็ส่งให้เขาเอาไปประกอบ หรือรับตัดเย็บเสื้อผ้าให้สหพัฒน์ ซึ่งเราจะให้ผู้ป่วยที่แข็งแรงแล้วเขามาช่วยทำ แล้วกำไรที่ได้ก็นำมาหล่อเลี้ยงองค์กร ส่วนอีกโครงการหนึ่งจะเป็นเชิงเกษตร คือเรามีพื้นที่อยู่แล้ว ก็จะใช้พื้นที่ในการปลูกพืชผักไว้กินไว้ขาย
นอกจากนั้นก็จะหากิจกรรมที่จะปฏิสัมพันธ์กับประชาชนทั้งประเทศ คืออยากให้เขาเข้ามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยเอชไอวี โดยเราจะจัดสร้างพระไภสัชคุรุไวฑูรประภาตถาคต ซึ่งเป็นพระที่ถือหม้อยาและเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์แผนไทย โดยสร้างในนามของมหาเถรสมาคมเพื่อให้สาธุชนได้เช่าไว้บูชา องค์ละ 99 บาท แต่จะให้บูชาได้แค่คนละ 1 องค์เท่านั้น ซึ่งเงินตรงนี้ก็จะเอามาช่วยเหลือผู้ป่วย และไม่ใช่แต่ประชาชนที่มีส่วนร่วมในเรื่องนี้พระภิกษุทั่วประเทศท่านก็เข้ามาช่วยด้วย แต่การที่จะขอบริจาคจากพระก็ดูจะไม่เหมาะ เราจึงให้พระทุกรูปในทุกวัดทั่วประเทศท่านสลักชื่อบนแผ่นทองเหลืองแล้วนำแผ่นทองเหลืองเหล่านี้มาเข้าพิธีหลอมเป็นองค์พระ
เพราะเราอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของโรคและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์"
บ้านพักสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องแยกให้อยู่คนเดียวเพื่อป้องกันโรคติดต่อบางโรค
ที่วัดมีเตาเผาศพเอง
ความสะเทือนใจของหลวงพ่อ
บางคนอาจมองว่าเหตุใดพระภิกษุรูปนี้จึงเข้ามารับอุปการะผู้ป่วยโรคเอดส์และเด็กที่ได้รับผลกระทบ สิ่งเหล่านี้ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ แต่ในมุมมองของท่านแล้วกลับเห็นว่าการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ไร้ที่พึ่งพิงและถูกสังคมไล่ต้อนจนไร้ที่ยืนนั้นเป็นความเมตตาที่ไม่ว่าพระหรือบุคคลทั่วไปพึงมีให้แก่เพื่อนมนุษย์ บ่อยครั้งที่พระอาจารย์อลงกตและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิธรรมรักษ์ต้องพบเจอกับภาพสะเทือนใจและอดไม่ได้ที่จะยื่นมือเข้าไปประคองร่างที่ไร้เรียวแรงเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ของวัดพระบาทน้ำพุ เล่าว่า นอกจากผู้ป่วยที่เข้ามาขออาศัยวัดเพราะถูกญาติๆและสังคมรังเกียจแล้ว ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ญาติๆนำมาทิ้งไว้ที่วัด และมีญาติน้อยคนนักที่จะตามมาดูแลจนวาระสุดท้ายของพวกเขา
"บางคนญาติไม่ได้รังเกียจนะ แต่ที่บ้านเขาค้าขาย มีผู้ป่วยอยู่ชาวบ้านก็รังเกียจไม่เข้ามาซื้อของ เลยต้องเอามาฝากที่วัด แต่ส่วนใหญ่เอาคนป่วยมาไว้ที่วัดแล้วญาติก็หายไปเลย บางรายตามมาดูแลเฉพาะตอนแรกๆเท่านั้น ส่วนคนที่ดูแลจนวาระสุดท้ายของผู้ป่วยนี่มีน้อยมาก แค่ 1% เท่านั้น บางคนญาติเอาทิ้งไว้หน้าวัด เราเห็นก็พาเข้ามา แต่ที่หดหู่ใจมากคือเขาเอามาทิ้งไว้ในป่าข้าวโพดรอบๆวัด คือคนป่วยนี่ผอมแห้ง ลุกไปไหนไม่ไหว นอนรอความตายอย่างเดียว เราเจอแบบนี้ 2-3 ราย คือเขากลัวว่าเข้ามาติดต่อกับทางวัดแล้วเราจะไม่รับตัวผู้ป่วยไว้เลยเอามาทิ้งในดงข้าวโพด ให้เราออกไปเจอเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด จริงๆถ้าพามาเรารับทุกราย ขอเถอะ อย่าทำแบบนี้เลย แค่เอาผู้ป่วยมาไว้ที่วัดนี่เขาก็รู้สึกแย่มากพอแล้ว อย่าทิ้งเขาเหมือนไม่ใช่คน" เจ้าหน้าที่กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
ขณะที่พระอาจารย์อลงกตก็พบเจอกับภาพสะเทือนใจไม่แพ้กัน แม้ท่านจะใช้หลักธรรมในการมองปัญหาและความเป็นไปของโลกที่วนเวียนอยู่แค่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่บางครั้งท่านก็อดรู้สึกเศร้าใจไม่ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งร่างกายแข็งแรงพอที่จะกลับไปอยู่กับครอบครัวได้แต่เมื่อไปถึงบ้านกลับถูกญาติๆปฏิเสธที่จะให้อยู่ร่วมชายคา ทำให้ผู้ป่วยต้องซมซานกลับมาวัดพระบาทน้ำพุและฆ่าตัวตายเพื่อหนีความโหดร้ายของสังคม
"บางคนบอกว่าจะกลับไปบ้าน อีก 2 วันก็กลับมาใหม่ อาตมาก็เริ่มเห็นความผิดปกติ คือเขาดูซึมเศร้า ก็ถามว่าเป็นอะไร แต่เขาไม่บอก ไม่ยอมเล่าให้ใครฟัง แล้วตอนหลังก็ฆ่าตัวตาย บางคนโดดตึกตาย บางคนผูกคอตาย บ้างก็เชือดคอตาย มันเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก ก็อยากให้ญาติและคนในชุมชนเปิดใจรับเขาบ้าง คือเราต้องทำความเข้าใจกับทุกส่วนสังคม ไม่อย่างนั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้ อาตมาไม่ได้มองเรื่องเงินบริจาคเป็นเรื่องใหญ่ แต่อยากให้รณรงค์เพื่อป้องกันมากกว่า ตราบใดที่คนยังไม่เห็นถึงความรุนแรงของโรคเอดส์ วัดพระบาทน้ำพุก็จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี "
เด็กบางคนต้องเผาศพพ่อแม่ของตัวเอง
วอนสังคมอย่าซ้ำเติม
แรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเข้ามาพึงพิงวัดพระบาทน้ำพุก็คือกระแสของสังคมที่นอกจากจะไม่ยอมรับผู้ป่วยแล้วยังซ้ำเติมพวกเขาด้วยการแสดงท่าทีรังเกียจและขับไล่ไม่ให้อยู่ในชุมชน
นารี จันทร์เนตร ผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายที่ยินดีเปิดเผยตัวเพื่อให้สังคมตะหนักถึงปัญหาที่เกิดจากทัศนคติในเชิงลบที่คนในสังคมมีต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ ว่าการที่พวกเขาถูกสังคมรังเกียจนั้นย่อมมิใช่เพียงผู้ป่วยคนเดียวที่เจ็บปวดจนต้องหลบลี้จากโลกภายนอก แม้แต่เด็กน้อยที่ไม่รู้เรื่องราวก็พลอยถูกประณามหยามเหยียดและไร้ที่ยืนในสังคมเพียงเพราะพวกเขามีพ่อแม่เป็นผู้ติดเชื้อ
"สามีพี่เจ้าชู้มาก พี่รู้ตัวว่าเป็นเอดส์ตั้งแต่คลอดลูก แต่ตรวจเลือดของลูกแล้วหมอบอกลูกไม่เป็นเอดส์ เราก็ดีใจ ก็ปิดมาตลอด ไม่ให้ใครรู้ กลัวเขารังเกียจ พี่รับจ้างก่อสร้างหาเงินเลี้ยงลูกจนตอนนี้เขาอายุ 11 ขวบแล้ว เพิ่งมาแสดงอาการเมื่อไม่นานมานี้ เราไม่มีบ้าน อาศัยอยู่กับญาติ พอเขารู้ว่าเป็นเอดส์ก็ไล่ไม่ให้อยู่ จะฝากลูกกับเขาก็ไม่ได้เพราะเขาไม่เชื่อว่าลูกเราไม่ติด ไม่รู้จะไปไหนก็เลยมาขออาศัยที่วัดนี่ เงินก็ไม่มี ก็ขอเงินจากผู้ใหญ่บ้านมา 200 บาทเป็นค่าเดินทาง"
ศิลปะจากเถ้ากระดูกของผู้ป่วยเอชไอวี
ขณะที่ น้องปู (นามสมุติ) ลูกสาววัย 11 ปี ของนารี บอกว่าตอนที่เพื่อนๆที่โรงเรียนรู้ว่าแม่ของเธอเป็นเอดส์เพื่อนๆก็พากันรังเกียจ ไม่มีใครเข้าใกล้ ซึ่งทำให้เธอเสียใจมาก
"เพื่อนๆไม่มีใครเล่นกับหนูเลย คุณครูเขาก็เฉยๆ เขาก็ไม่ช่วยอะไร ตอนนี้หนูมาอยู่เฝ้าแม่ที่วัด เห็นพี่ๆ (เจ้าหน้าที่ของวัดพระบาทน้ำพุ) บอกว่าเปิดเทอมจะให้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ไปอยู่ประจำ หนูดีใจที่จะได้เรียนหนังสือ จะได้มีทำงานดีๆ มีเงินมารักษาแม่" น้องปูบอกกับเราด้วยน้ำเสียงที่สดใส
นารีและลูกสาวอาจไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบจากความโหดร้ายของสังคม ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าสังคมจะเข้าใจและให้โอกาสพวกเขาบ้าง
สุดท้าย พระอาจารย์อลงกต ยังได้อยากฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยแก้ไขปัญหาโรคเอดส์อย่างจริงจัง โดยอาจจะจัดสรรรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมาช่วยรณรงค์ป้องกันและดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งลูกๆของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ปัญหาเบาบางลง
|