หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

สุขง่ายๆ ด้วย “โยคะอาสนะ”

ปัจจุบัน โยคะถือเป็นศาสตร์แห่งโลกตะวันออกที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก และไม่เว้นสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากการฝึกโยคะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ




อย่างไรก็ตาม ขณะที่กำลังฝึกโยคะกันนั้น เคยย้อนถามตัวเองบ้างไหมว่า เล่นโยคะทุกวันเพื่อจุดประสงค์ใดกันแน่ และถ้าคำตอบที่ได้คือเพื่อความสุขล่ะก็ นี่คืออีกหนึ่งแง่มุมของศาสตร์โยคะที่ยึดหลักการง่ายๆ ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

วิทยา ยิ่งศิริรัตน์ ครูสอนโยคะสถาบันโยคะวิชาการและครูสอนประจำองค์การสหประชาชาติ อธิบายหลักการฝึกโยคะเพื่อความสุขของผู้เล่นว่า จริงๆ แล้วความสุขเกิดจากหลายองค์ประกอบของชีวิตทั้งสุขภาพกายและจิตใจรวมไปถึงสภาพแวดล้อมรอบๆตัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกับบุคคลนั้นๆด้วย

การฝึกโยคะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถทำให้ผู้ฝึกเกิดสมาธิ สติ และเกิดความสงบ แต่ในปัจจุบันเมื่อเอ่ยถึงการเล่นโยคะคนทั่วไปมักนึกถึงการทำท่าทางแปลกๆ ยากๆ ซึ่งนั่นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของศาสตร์โยคะเท่านั้น เพราะจริงๆแล้วโยคะมีหลากหลายรูปแบบมากและหากย้อนกลับไปดูตำราดั้งเดิมตามหลักโยคะสูตราแล้วความหมายโดยรวมของโยคะคือการดับการปรุงแต่งของจิตใจ เพราะเมื่อจิตดับการปรุงแต่งอันเกิดมาจากกิเลสก็จะไม่มี





ทั้งนี้ ตามที่ได้บอกไปแล้วว่าในปัจจุบันมีการนำศาสตร์โยคะมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ ที่นิยมกันมากคือการนำเอาโยคะมาใช้ในการออกกำลังกายหรือในผู้หญิงก็มักนำมาใช้ในการลดความอ้วนเพื่อเพิ่มความสวยความงาม แต่ในที่นี้หากจะเอ่ยถึงการที่จะนำโยคะมาใช้ในการสร้างความสุขให้แก่ชีวิตนั้น มีหลักการง่ายๆที่ทุกคนไม่ว่าจะในเพศหรือวัยใดก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยท่าพื้นฐานที่ว่านี้เรียกว่าท่า “อาสนะ” หรือในทางพุทธศาสนาหมายถึงที่นั่งของพระสงฆ์นั่นเอง เป็นท่าที่ว่าด้วยการนั่ง ลักษณะเหมือนการนั่งสมาธิจุดประสงค์ของท่านี้ก็เพื่อให้ผู้ฝึกสามารถอยู่ในท่านั่งให้ได้เร็วและนานที่สุด

“ท่านั่งสมาธิดูเหมือนว่าง่ายแต่ความจริงแล้วเป็นท่าพื้นฐานที่ทำได้ยากเพราะหากจะให้เกิดผลดีต้องนั่งให้ได้นานๆหรือถ้าเป็นไปได้ประมาณ 3 ชั่วโมง หลักสำคัญของอาสนะอยู่ที่กระดูกสันหลังทำอย่างไรให้ตั้งตรงเพราะกระดูกสันหลังเปรียบเสมือนทางหลวงของร่างกายบ่งบอกถึงสุขภาพของเรา ดังนั้นร่างกายจะสมดุลได้ต้องคำนึงถึงจุดนี้ อีกทั้งโยคะในขั้นพื้นฐานนี้เน้นการใช้จิตเป็นตัวกำหนดในการนำร่างกายซึ่งต่างจากโยคะที่ฝึกกันในฟิตเนสทั่วไปอันนั้นจะใช้กายนำเป็นหลักมุ่งเน้นในทางดึงพลังของร่างกายออกมาเหมือนการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง”





ครูวิทยายังเล่าอีกว่าการฝึกอาสนะนั้นไม่เน้นให้ใช้แรงมากเช่นการนั่งนิ่งๆแต่ให้กำหนดจิตอยู่ที่ปราณหรือลมหายใจ จึงดูเหมือนว่าในท่าอาสนะร่างกายไม่ได้ทำอะไรทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปกติภายในร่างกายของคนเราแม้ไม่ได้เคลื่อนไหวแต่กระบังลมซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำงานขยับขึ้นๆลงๆอยู่ตลอดเวลาเปรียบเสมือนร่างกายนวดตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเราหายใจก็ยิ่งไปเพิ่มแรงขับเคลื่อนภายในอีกโดยผ่านกลไกลของอาสนะ ดังนั้นแม้ไม่ได้ออกแรงแค่นั่งเฉยๆฝึกลมหายใจเข้า-ออกให้สงบนิ่ง ควบคุมให้ได้เท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นการทำโยคะได้อย่างง่ายๆ

นอกจากท่านั่งแล้วโยคะอาสนะยังมีท่าอื่นๆที่ฝึกกันได้ง่ายๆที่บ้านด้วยตนเอง อาทิ ท่าศพ ท่างู ท่าตั๊กแตน ท่าพวกนี้ดูเหมือนทำง่ายเพราะเป็นท่าพื้นฐาน แต่เรื่องที่ท้าทายกว่านั้นคือจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหากต้องการให้เห็นผลและเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งมีสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ต้องลงมือปฏิบัติทุกวัน อย่างท่าศพเป็นท่าสบายๆนอนนิ่งๆ แต่จะฝืนความรู้สึกภายในอย่างไรไม่ให้เผลอหลับเพราะส่วนใหญ่ทำท่านี้ทีไรเหมือนการได้พักผ่อนสบายจนเคลิ้มหลับไป





“ในโยคะสูตราระบุไว้ว่าปัจจัยสำคัญของการทำโยคะคือต้องนิ่งและทำให้ร่างกายเสถียรโดยใช้แรงให้น้อยที่สุด ดังนั้นโยคะไม่ควรเป็นการออกกำลังกายเหมือนที่คนชอบเข้าใจกันและนำมาเป็นทางเลือกหนึ่งของการออกกำลังกายในปัจจุบันอย่างนั้นเรียกว่าเพาเวอร์โยคะ แต่ในขณะเดียวกันโยคะก็ถูกนำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคเพราะโยคะทำให้ร่างกายเกิดสมดุลซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพียงให้นึกอยู่เสมอว่าอย่าฝืนสังขาร ยิ่งส่วนของกระดูกสันหลังหากรู้สึกเจ็บปวดให้หยุดเล่นทันทีโดยเฉพาะคนที่ฝึกทำเองที่บ้าน”

ครูวิทยาบอกอีกว่าเวลาที่เหมาะสมแก่การเล่นอาสนะโยคะควรเป็นช่วงที่ท้องว่างฉะนั้นทำในตอนเช้าจะดีที่สุด ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศควรอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติ สวมเสื้อผ้าสบายๆ และไม่ว่าจะเล่นท่าไหนทุกๆท่าควรจบลงด้วยท่าอาสนะหรือท่านั่งทุกครั้ง อีกทั้งห้ามกลั้นลมหายใจ

หลักการฝึกที่ควรจดจำอีกอย่างคือทำอย่างไรให้กระดูกเคลื่อนไหวได้หลายทิศทางการก้ม แอ่น เอียง บิด พยายามทำให้ครบ แม้จะมีท่าทางมากมายแต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าการเล่นทุกครั้งจะทำท่าไหนก่อน-หลัง ให้ทำตามความชอบใครพอใจที่จะเล่นท่าไหนก็ทำและไม่จำเป็นต้องฝึกเล่นเยอะๆถึงขนาดหักโหม

จงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี ค่อยๆพัฒนาไปทีละขั้นตอนจนเกิดสติรับรู้ เมื่อมีสติ จิตใจสงบ นั่นคือความสุขที่เชื่อว่าหลายคนกำลังค้นหากัน




ไปข้างบน