หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช
การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา

'บ้านเมือง'เป็นของศักดิ์สิทธิ์ พาท่านไปรู้จัก 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง'

ด้วยความเชื่อแบบไทยๆที่ให้ความเคารพนับถือทั้งพระและเทพ จึงไม่แปลกที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาข้าราชการและนักการเมืองให้ความเคารพ เราจะพาท่านไปรู้จัก 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง' ที่เหล่ารัฐมนตรีซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งต้องสักการะก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่




'พระพิรุณ' ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ทำเนียบ

ด้วยปัจจุบันมีกระทรวงต่างๆกว่า 30 กระทรวง ในที่นี้จึงขอพูดถึงเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงหลัก 5 กระทรวงเท่านั้น

หน่วยงานแรกที่จะกล่าวถึงคือทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเป็นหัวใจในการบริหารประเทศด้วยเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีอันมีฐานะเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นายกรัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยต้องมาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่นั้นมี 2 สิ่ง ได้แก่ 'ศาลพระภูมิ' ซึ่งมักมีอยู่ทุกกระทรวง ทบวง กรม และ 'พระพรหม' พระผู้สร้างโลกตามหลักศาสนาพราหมณ์




สำหรับ 'ศาลพระภูมิ' นั้นตั้งอยู่ใกล้กับประตูทางออกด้านทิศตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล ติดกับด้านข้างของตึกสันติไมตรี ซึ่งว่ากันว่าจุดนี้เดิมเป็นที่อยู่ของแขกยามที่รักษาเวรยามอยู่ใน 'บ้านนรสิงห์' (ชื่อบ้านของ 'พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฑพ' ก่อนที่จะขายให้แก่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมืองและเป็นที่ทำการทำเนียบรัฐบาล) ซึ่งเรียกกันว่า 'ซุ้มแขก' แต่เมื่อมีการปรับปรุงสถานที่และใช้บ้านนรสิงห์เป็นทำเนียบรัฐบาลแล้วจึงเคลื่อนย้ายศาลพระภูมิของบ้านจากจุดเดิมที่อยู่บริเวณมุมกำแพงด้านทิศตะวันออกบรรจบกับกำแพงด้านเหนือมาอยู่ตรงจุดนี้

ส่วน 'พระพรหม' นั้นประดิษฐานอยู่บริเวณระเบียงหลังคาด้านหน้าของตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งตึกนี้นอกจากจะใช้เป็นที่ต้อนรับแขกคนสำคัญแล้วยังเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีด้วย พระพรหมองค์นี้เป็นโลหะสัมฤทธิ์ มี 4 พระพักตร์ 4 พระกร หน้าตัก 24 นิ้ว และมีกำแพงเตี้ยๆบังฐานอยู่ด้านหน้า โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้สั่งการให้กรมศิลปากรจัดสร้างขึ้นโดยปั้นขึ้นรูปและหล่อเป็นโลหะสัมฤทธิ์ แต่ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นบริเวณระเบียงหลังคาตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 เม.ย.2507 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำการปรับปรุงตึกไทยคู่ฟ้าพร้อมกับได้จัดสร้างซุ้มที่ประดิษฐานพระพรหมขึ้นใหม่ให้สูงขึ้นและสง่างามกว่าเดิม และทำพิธีประดิษฐานพระพรหมอีกครั้งในวันที่ 13 ก.พ.2540 ณ เวลาฤกษ์ 09.09 น. ซึ่งการสักการะพระพรหมนั้นนิยมถวายด้วยดอกดาวเรือง

สิ่งศักดิ์ทั้งสองนั้นเป็นที่เคารพของทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการประจำทำเนียบฯมาทุกยุคสมัย




'กรมพระยาดำรง' ผู้สถาปนามหาดไทย


'อนุสาวรีย์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ' ผู้ก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงต่อมาคือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนให้ความเคารพอยู่ 4 อย่าง คือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ศาลพระภูมิ 2 ศาล คือศาลในบริเวณกระทรวง และศาลซึ่งอยู่บริเวณประตูตรงกรมการปกครอง , และพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและปฏิรูปการปกครองของไทย รวมทั้งการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทย

สำหรับ 'อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ' ถูกสร้างขึ้นหลังจากมีกระทรวงมหาดไทยได้ระยะหนึ่ง คือในช่วงประมาณปี 2500 กว่าๆ ซึ่งแต่เดิมฐานของอนุสาวรีย์สูงกว่าพื้นเล็กน้อย ต่อมาในสมัยรัฐบาล รสช. พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี รมว.มหาดไทยขณะนั้นเห็นว่าอนุสาวรีย์อยู่ต่ำกว่าห้องทำงานของรัฐมนตรีซึ่งดูจะไม่สมพระเกียรติจึงได้สั่งให้ทำการปรับฐานอนุสาวรีย์ให้สูงเท่ากับห้องทำงานของรัฐมนตรีดังที่เห็นในปัจจุบัน


พล.อ.อิสระพงษ์ หนุนภักดี รมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาล รสช.ได้สั่งให้ทำการปรับฐาน 'อนุสาวรีย์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ' ให้สูงเท่ากับห้องทำงานของรัฐมนตรี

เต็มศักดิ์ ไตรโสภณ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำกระทรวงมหาดไทย แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เล่าว่า

"ปกติแล้วรัฐมนตรีแต่ละคนก็จะมีฤกษ์ในการทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดยส่วนมากก็มักนิยมเลขเก้า ซึ่งพ้องกับคำว่าก้าวหน้า เช่น 9 โมง 9 นาที สำหรับเครื่องสักการะนั้นทางข้าราชการจะเป็นผู้จัดเตรียมให้ ที่นิยมก็เป็นพวงมาลัย ถ้าพูดถึงอนุสาวรีย์ฯกรมพระยาดำรงฯแล้วทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการ และนักข่าวมหาดไทยทุกคนให้ความเคารพท่านมากเพราะพระองค์ถือเป็นบิดาของการมหาดไทย เดินผ่านก็ยกมือไหว้กันทุกวัน นอกจากนั้นชาวบ้านทั่วไปก็มักมากราบไหว้บนบานกับท่าน ส่วนใหญ่จะแก้บนด้วยไม้เท้า อาจเป็นเพราะเห็นที่อนุสาวรีย์ พระองค์ท่านถือไม้เท้าเลยมีคนเอาไม้เท้ามาถวาย แล้วก็เป็นธรรมเนียมต่อๆกันมา”

สำหรับพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพนั้นเดิมทีประดิษฐานอยู่ภายในห้องทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นห้องทำงานเดิมของกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งพระองค์ท่านนำมาประดิษฐานไว้ตั้งแต่ครั้งรับตำแหน่งเสนาบดีคนแรกของกระทรวงมหาดไทย แต่ในสมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้สั่งให้ย้ายพระพุทธรูปดังกล่าวออกไปเนื่องจากท่านนับถือศาสนาอิสลาม



ร.5 ทรงก่อตั้งกระทรวงคลัง


พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนากระทรวงการคลัง

สำหรับกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญอย่างกระทรวงการคลังนั้นก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนให้ความนับถือไม่น้อยไปกว่ากระทรวงอื่นๆเช่นกัน อันได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนากระทรวงการคลัง , ศาลพระพรหม , ศาลพระภูมิ และช้างดำ 2 เชือก ที่ตั้งอยู่หน้าตึกที่ทำการของรัฐมนตรี

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ในสมัยที่ หม่อมราวงศ์จตุมงคล โสณกุล หรือ 'หม่อมเต่า' เป็นปลัดกระทรวงการคลัง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามกุฎราชกุมารเสด็จฯแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิด ณ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2539 ส่วนเครื่องสักการะนิยมใช้ดอกกุหลาบสีชมพู หมาก พลู และซิกการ์ ซึ่งเป็นของโปรดของรัชกาลที่ 5

สำหรับศาลพระภูมินั้นเดิมตั้งอยู่ริมรั้วตรงมุมกำแพงด้านหน้ากระทรวง ติดกับทางด่วนพระรามเก้า แต่ในสมัยที่หม่อมเต่าเป็นปลัดกระทรวงการคลัง มีผู้ทักว่าสะพานลอยตรงริมรั้วอยู่สูงกว่าศาลซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมจึงมีการย้ายศาลออกมาอยู่บริเวณใกล้กับประตูทางเข้ากระทรวง และในช่วงที่พราหมณ์มาทำพิธีหาทิศที่ตั้งศาลพระภูมิก็ได้แนะนำให้ตั้งศาลพระพรหมในบริเวณใกล้กันด้วย แต่พระพรหมมาแล้วเสร็จและประดิษฐานหลังจากที่สมใจนึก เองตระกูล ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง



'ศาลพระพรหม' ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่กระทรวงการคลัง

คชสารกระเด็น เมื่อ'อาชา'แผลงฤทธิ์

ส่วนช้างดำทั้ง 2 เชือกนั้นเป็นช้างจากโรงแรมเอราวัณซึ่งนำมาไว้ที่กระทรวงการคลังตั้งแต่สมัยที่ พนัส สิมะเสถียร เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งว่ากันว่านอกจากจะเป็นสิ่งหนึ่งที่บรรดารัฐมนตรีมาสักการะก่อนรับตำแหน่งแล้ว ข้าราชการยังนิยมมาขอหวยอีกด้วย และทุกครั้งที่ถูกรางวัลก็มักจะนำพวงมาลัย 7 สี 7 ศอก หรือพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาแก้บน


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีต รมว.คลัง เมื่อครั้งนำพวงมาลัยดอกดาวเรืองไปสักการะช้างทั้ง 2 เชือก ที่อยู่หน้าตึกที่งานของรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง

"ช้างทั้ง 2 เชือกนี้เคยถูกสั่งย้ายออกไปจากกระทรวงอยู่ช่วงหนึ่ง คือช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งท่านบรรหาร (ศิลปอาชา ) เข้ามาเป็น รมว.คลัง ซึ่งท่านค่อนข้างถือโชคลาง ดังนั้นเมื่ออาชาจะมา คชสารซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่กว่าก็ต้องระเห็จออกไป ท่านก็สั่งให้ข้าราชการย้ายช้างออกไป ก่อนที่ท่านจะเข้ากระทรวงในตอนเช้า ท่านก็บอกว่าให้ทำกันเงียบๆนะ อย่าให้นักข่าวรู้ ก็ย้ายกันตอน 3 ทุ่ม ปรากฏว่าพอถึงเวลานักข่าวแห่กันมาเพียบเลย (หัวเราะร่วน) แต่หลังจากย้ายช้างออกไปสัก 10 กว่าวัน รัฐบาลชุดนี้ก็ถูก รสช. ยึดอำนาจ ตอนหลังสมัย รมว.สุรเกียรติ์ (เสถียรไทย) ก็สั่งให้ไปเอากลับมาตั้งไว้ที่เดิม" ข้าราชการเก่าแก่ของกระทรวงการคลัง บอกเล่าถึงชะตากรรมของช้างทั้ง 2 เชือก




'พระพิรุณ'เทพแห่ง ก.เกษตร

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 4 อย่างด้วยกัน คือ รูปปั้นองค์พระพิรุณทรงนาค ซึ่งอยู่ด้านหน้ากระทรวง , ศาลพระพรหม , ศาลตายาย และศาลท้าวเวชสุวรรณ

พระพิรุณทรงนาคนั้นสร้างขึ้นในสมัยที่ปองพล อดิเรกสาร เป็น รมว.เกษตรฯ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์จึงเห็นว่าพระพิรุณทรงนาคเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงเกษตรฯอยู่แล้ว โดยพระพิรุณเป็นเทพที่ดลบัลดาลให้ฝนตก ส่วนพระยานาคก็เป็นสัตว์ที่เชื่อว่าให้น้ำ จึงสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ดังนั้นจึงให้กรมศิลปากรออกแบบและจัดสร้างรูปหล่อของพระพิรุณทรงนาคขึ้นประดิษฐานที่กระทรวงเกษตรฯดังที่เห็นในปัจจุบัน


'ศาลตายาย' สร้างอุทิศให้แก่เจ้าของที่ดินซึ่งบริจาคให้กระทรวงเกษตรฯใช้สร้างสำนักงานกระทรวง

สำหรับศาลตายายนั้นเป็นศาลที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เจ้าของที่ดินซึ่งบริจาคให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้สร้างสำนักงานกระทรวง และได้มีการปรับปรุงศาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในสมัยที่ เนวิน ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ส่วนศาลท้าวเวชสุวรรณ ซึ่งเป็นยักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมืองนั้นเพิ่งแยกออกมาจากศาลพระพรหมเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากในช่วงที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ นั้นได้เกิดปัญหาความขัดแย้งวุ่นวาย ที่ปรึกษาของนายสมศักดิ์จึงได้เสนอให้แยกท้าวเวชสุวรรณออกจากพระพรหมเพื่อแก้เคล็ด เพราะเชื่อว่าการที่เวชสุวรรณซึ่งเป็นยักษ์มาอยู่ร่วมกับพระพรหมซึ่งเป็นเทพจึงเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน


'ท้าวเวชสุวรรณ' หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข้าราชการรุ่นใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ท่านหนึ่ง บอกว่า " ถ้าถามว่ารัฐมนตรีเกษตรฯ คนไหนเชื่อเรื่องโชคลางมากๆ ก็น่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) เพราะในสมัยท่าน ตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งก็ให้ซินแสมาดูฮวงจุ้ยวุ่นวายไปหมด แล้วก็สั่งให้ปรับภูมิทัศน์ใหม่หมด ให้นำโต๊ะหินมาตั้งที่บริเวณชั้น 1 ของกระทรวงฯ นัยว่าเพื่อความมั่นคงในตำแหน่ง แล้วก็สั่งให้เอาต้นไม้ที่ไม่ถูกโฉลกกับท่านออกให้หมด (หัวเราะ) จริงๆแล้วมันก็ไม่น่าจะเกี่ยวนะ เป็นเรื่องของคนมากกว่า ความขัดแย้งมันก็เกิดจากคน แผ่นหินจะใหญ่แค่ไหนก็ช่วยไม่ได้ หรือท้าวเวชสุวรรณท่านก็อยู่ศาลเดียวกับพระพรหมมาตั้งนานแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร"



'พระพุทธคมนาคมบพิธ'


'พระพุทธคมนาคมบพิธ' พระพุทธรูปประจำกระทรวงคมนาคม

สุดท้ายคือกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2 สิ่ง คือ 'พระพุทธคมนาคมบพิธ' พระพุทธรูปประจำกระทรวงคมนาคม และศาลหลวงปู่

โดยพระพุทธคมนาคมบพิธนั้นเป็นพระพุทธสิหิงค์จำลอง ซึ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 1 เม.ย. 2539 ในโอกาสครบรอบวันสถาปนากระทรวงคมนาคมครบ 84 ปี และเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ซึ่งเดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ภายในห้องประชุม 2 ของกระทรวงคมนาคม แต่ภายหลังผู้บริหารของกระทรวงได้สร้างหอพระและอัญเชิญท่านไปประดิษฐานบริเวณด้านหน้ากระทรวงเพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสกราบไหว้


'ศาลหลวงปู่' ซึ่งรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงคมนาคมให้ความเคารพ

ส่วนศาลหลวงปู่นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กระทรวงคมนาคมมาช้านานแต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

ข้าราชการระดับบริหารของกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่ง เล่าว่า " ไม่รู้เป็นเพราะอะไรนะ มีการคิดสร้างหอพระมาหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ คือสมัยปลัดฯมหิดล (จันทรางศุ) ท่านดำริที่จะสร้างที่หน้าตึก 1 แต่ท่านเกษียณอายุเสียก่อนโครงการเลยระงับไป พอมายุคท่านรองปลัดฯ สามารถ (ยลพักย์) ท่านก็เอาโครงการมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ก็มองว่าน่าจะตั้งที่ชั้น 3 ของอาคารสโมสร แต่แบบไม่เหมาะสม จึงชะงักไปอีกก็ เพิ่งมาสำเร็จในสมัยปลัดฯวันชัย ( ศารทูลทัต) นี่แหละ สร้างหอพระเสร็จท่านก็ให้ตั้งไว้ที่ด้านหน้าอาคารประชุม

ก็คิดว่าพระท่านศักดิ์สิทธิ์จริงนะ กระทรวงคมนาคมนี่ทุกครั้งที่มีพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีปัญหาเลย แม้แต่ฝนก็ไม่เคยตก"



'พระนารายณ์เกษียรสมุทร' สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม

ไม่ว่า 'สิ่งศักดิ์สิทธิ์' ประจำแต่ละกระทรวงจะมีฤทธิ์ปกปักรักษาสถานที่แห่งนั้นจริงหรือไม่ คงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์



ชม VDO ที่เกี่ยวข้อง
•สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชาคู่พระราชหฤทัย ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง




ไปข้างบน