"รัฐประหาร" ซ้อน "รัฐประหาร"
สกัดเหตุ...เลือดนองแผ่นดิน!?
มีรายงานข่าว "ทางลับ" ที่เชื่อได้ว่า แม้จะไม่มีเหตุการณ์ "รัฐประหาร" ในค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน แต่ประเทศนี้ก็ยากที่จะหลีกพ้นวงจร "รัฐประหาร" ไปได้
อย่างเร็วที่สุดวันที่ 20 กันยายน ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดรวมพลชุมนุมใหญ่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
ข่าวยังแจ้งด้วยว่า มีนักการเมือง 2 คนในซีกรัฐบาลได้ระดมกำลังประมาณ 200 คน มีจักรยานยนต์รับจ้าง รปภ. นักเลงหัวไม้ และลูกจ้างส่วนราชการแห่งหนึ่ง เพื่อมา "ป่วน" การชุมนุมใหญ่
ความรุนแรงถึงขั้นมุ่งทำร้ายเอาชีวิตแกนนำพันธมิตร โดยที่ไม่คำนึงถึงว่าใครในกลุ่มผู้ชุมนุมจะบาดเจ็บล้มตายไปด้วย
ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางรองรับ ประกาศภาวะฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เพราะถึงขั้นนั้น ตำรวจไม่สามารถควบคุมฝูงชนเอาไว้ได้ จำเป็นต้องใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุม เพื่อควบคุมให้สถานการณ์อยู่ในความสงบ
นั่นคือการประเมินสถานการณ์ ทั้งจากกองทัพบก และจากกองบัญชาการทหารสูงสุด
การประเมินดังกล่าวดูเผินๆ อาจจะเกินเลยจากความเป็นจริง แต่เมื่อได้เห็นการอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อค่ำวันที่ 19 กันยายน แล้วก็ทำให้การประเมินมีน้ำหนักมากขึ้น
ตามรายงานข่าวของผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย ซึ่งติดตามไปทำข่าวการปฏิบัติราชการต่างประเทศ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ รู้ข่าวรัฐประหารในเวลาประมาณ 07.00 น. (ตามเวลาสหรัฐ) ซึ่งจะตรงกับเวลาในประเทศไทย ประมาณ 19.00 น. จึงเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง และเรียกผู้สื่อข่าวโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เข้าพบเพื่อขอให้ประสานสัญญาณประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
แต่ทีวีพูล "ปฏิเสธให้เชื่อมสัญญาณ" ทำให้นายกฯ ถึงกับแสดงอารมณ์หงุดหงิด
จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ทีมงานประสานไปยังสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์และไอทีวี เบื้องต้นได้รับการยอมรับที่จะลิงค์สัญญาณจากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ แต่เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถออกอากาศได้
ดังนั้น แถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงออกอากาศได้ทางโมเดิร์นไนน์เพียงช่องเดียว ในเวลาประมาณ 21.15 น. หลังจาก "รู้ข่าว" ประมาณ 2 ชั่วโมง
นั่นจึงเป็นที่มาของ "แถลงการณ์ข้ามทวีป" ที่โผล่มาถึงเมืองไทยแค่ช่วงสั้นๆ และถูก "ตัดสัญญาณ" จากทหารฝ่ายยึดอำนาจในเวลาต่อมา
แถลงการณ์ฉบับที่ 1 (ตัดทอนบางตอน)
"...ในภาวะความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างร้ายแรง...อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5, 6, 11 วรรค 1 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548...นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 21.15 น...."
แถลงการณ์ฉบับที่ 2 (ตัดทอนบางตอน)
"...เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างฉุกเฉินและทันท่วงที...จึงให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และให้รายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี..."
นอกจากนี้ ว่ากันว่า ในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้แต่งตั้งให้ พล.อ.พรชัย กรานเลิศ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ขึ้นรักษาการ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แทน พล.อ.สนธิ ซึ่งถูกสั่งปลดในวันเดียวกันอีกด้วย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับแถลงการณ์อันยาวเหยียดทั้ง 3 ฉบับก็คือ เหตุใดถ้อยคำในแถลงการณ์ทั้งหมดจึงดูสละสลวย และเต็มไปด้วย "ภาษากฎหมาย" ล้วนๆ ทั้งที่ไม่มี "เนติบริกร" ติดสอยห้อยตามไปด้วย
จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า...หรือแถลงการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้ถูกร่างขึ้นในช่วงเวลาอันฉุกละหุก แต่ "ถูกร่างขึ้นมาก่อน" จน "เสร็จสมบูรณ์" และพร้อมจะหยิบมาใช้ได้ทุกเมื่อ !?!?
หากข้อสงสัยเป็นจริงก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ก่อนหน้านั้นอาจจะมีแผน "รัฐประหารตัวเอง" เกิดขึ้น โดยอาศัย "กองกำลัง" สองส่วนหลักๆ ก็คือ
- กองกำลัง "จัดตั้ง" ของขุนพลในฟากรัฐบาล
- กองกำลังทางทหารที่ภักดีต่อ "ระบอบทักษิณ"
แต่แผนการที่วางไว้เป็นอย่างดี กลับถูกกองกำลัง "ฝ่ายตรงข้าม" ที่เฝ้าจับตามองมาตลอด และ "อ่านเกม" ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ชิงลงมือตัดหน้า
ก่อนที่เลือดจะนองแผ่นดิน!!!
19 กันยายน 2549 จึงมิใช่รัฐประหารธรรมดา เพราะหากเรื่องราวดำเนินมาเช่นนี้ ต้องเรียกว่า "รัฐประหาร...ซ้อน...รัฐประหาร"
|