หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

วัดโบราณ ‘วันเหมียว’ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนาม



วิหาร ‘วันเหมียว’ เป็นวัดโบราณแห่งหนึ่งของเวียดนาม ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานเกือบพันปี และถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนาม เช่นเดียวกับที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ ‘วัดโพธิ์’ ในบ้านเรา ได้ชื่อว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง แรกของประเทศไทย

‘วันเหมียว’ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘วิหารวรรณกรรม’ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1070 ซึ่งเป็นยุคของ ราชวงศ์ไล โดยพระเจ้าไล ไท ตอง โปรดฯให้สร้างขึ้น เพื่อเชิดชูคุณธรรม โดยอุทิศให้แก่ขงจื๊อ ปราชญ์ชาวจีน ผู้ยึดมั่นในคุณธรรมความถูกต้อง





ต่อมาในปี 1076 ได้มีการสร้างโรงเรียนสำหรับขุนนางขึ้นในบริเวณเดียวกันกับวัด เพื่อให้เหล่าขุนนางได้เข้าศึกษาเล่าเรียนและสอบเป็นจอหงวน เมื่อถึงยุคสมัยของราชวงศ์ตรัน จึงได้เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเรียน วิชาที่สอนนั้นเป็นวิชาปรัชญาของขงจื๊อ ประกอบไปด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติตน วิชาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เป็นต้น

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเวียดนามนี้ ได้เปิดสอนจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 ก็ได้ปิดตัวลง และถูกทิ้งให้รกร้าง เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดเวียดนามเป็นเมืองขึ้น



ปัจจุบัน วิหารวรรณกรรมแห่งนี้กลายเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางการศึกษาของเวียดนาม และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของฮานอย แม้เวลาผ่านไปร่วมพันปี แต่วิหารวรรณกรรมแห่งนี้ ยังได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้คงความเป็นตัวอย่างวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวเวียดนามได้เป็นอย่างดี ภายในบริเวณวัดมีพื้นที่กว้างขวาง โดยมีกำแพงล้อมรอบถึง 5 แห่ง และก่อนจะเข้าสู่ประตูใหญ่ของวิหาร เหนือขึ้นไปของประตูมีข้อความที่ขอร้องให้ผู้มาเยือนลงจากหลังม้าก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด



หลังจากผ่านเข้าประตูทางเข้าวัดแล้ว เป็นที่ตั้งของ ‘เคว วัน กั๊ก’ หรือตึกดาวลูกไก่ ซึ่งเป็นแหล่งที่เหล่านักอักษรศาสตร์ใช้ท่องบทกวี เมื่อผ่านประตูแห่งความ สำเร็จ หรือ ‘ได๋ แถงห์ โมน’ ก็จะพบกับลานโล่งล้อมรอบสระน้ำใหญ่ที่มีชื่อว่า สระแสงงาม หรือ ‘เทียน กวาง ติงห์’ ซึ่งลานบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของแผ่นจารึกชื่อของ จอหงวน ที่ผ่านการสอบหลักสูตร 3 ปี ซึ่งแต่ละแผ่นตั้งอยู่บนหินรูปเต่า ที่มีจำนวนถึง 82 แผ่น จากที่เคยมีอยู่เดิมถึง 117 แผ่น โดยเริ่มมีการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1442-1779



ด้านตรงข้ามกับวิหารมีอาคารแห่งการเฉลิมฉลอง หรือ ‘ไบ๋ เยือง’ ซึ่งเป็นที่ตั้งเครื่องเซ่นสังเวยให้แก่ขงจื้อ อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่กษัตริย์ได้ทรงมอบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้กับอาจารย์ผู้สอนในอดีต ซึ่งบริเวณนี้มีแผ่นไม้ที่สลักไว้ด้านบนแท่นบูชาว่า ‘อาจารย์ของนักเรียนกว่าพันรุ่น’



นอกจากนี้ ภายในวิหารวรรณกรรมแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรม รวบรวมผลงานด้านศิลปกรรม ทั้งงาน ปั้น งานแกะสลัก และรูปภาพ ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน



หากใครยังไม่มีโอกาสไปเยือนวิหารวันเหมียว ลองหาเวลาไปเที่ยววัดโพธิ์ของไทยก่อนก็ได้ค่ะ เพราะที่นี่ก็มีสรรพวิทยาต่างๆให้เรียนรู้มากมายไม่แพ้วันเหมียวเหมือนกัน


ไปข้างบน