วัดร่องขุ่น “สร้างพุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน โดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์”
"ความตายเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะหยุดเสรีภาพแห่งจินตนาการของผมได้ครับ"
ผมเป็นจิตรกรอาชีพ ชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ ผมตั้งมั่นที่จะเป็นศิลปินเขียนรูปเพียงอย่างเดียว จึงขยันฝึกฝนตัวเองจนสามารถเรียนจบวิชาศิลปะจากสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร
ผมผ่านการได้รับรางวัลที่ ๑ เหรียญทองจากการประกวดผลงานศิลปะระดับชาติ เมื่อปี ๒๕๒๐ หลังจากนั้นไม่ส่งผลงานเข้าประกวดอีกเลย เพราะคิดว่าการได้รับรางวัลไม่ใช่จุดสูงสุดในชีวิตที่ผมได้ตั้งเป้าหมายไว้
ระหว่างปี ๒๕๒๓ ถึงปี ๒๕๓๙ ผมออกเดินทางไปแสดงผลงานเพื่อหาประสบการณ์และเผยแพร่งานพุทธศิลป์ในต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ผมเดินทางไปอยู่ถึง ๔ ปี เพื่อเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดไทย ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นวัดของรัฐบาลไทย ชื่อวัดพุทธประทีป เริ่มปี ๒๕๒๗ ถึงปี ๒๕๓๑ เพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าและประเทศชาติของผม
โดยไม่คิดค่าจ้าง เพราะผมปรารถนาที่จะเป็นผู้นำงานพุทธศิลป์ร่วมสมัยของชาติผมให้ชาวโลกได้รู้จักได้สัมผัสสุนทรียภาพทางอารมณ์และปรัชญาที่แตกต่าง
ผมเรียนธรรมมะของพระพุทธเจ้ามากกว่า ๒๐ ปี ผมเข้าใจสัจธรรมการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ผมฝึกฝนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อตัดกิเลสได้มากพอควร ผมนำหลักพุทธธรรมเป็นผู้นำชีวิตผมให้เดินทางสายกลางทั้งภายนอกและภายในจนประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม
วัดร่องขุ่น อ.เมือง จ.เชียงราย
ทางโลกนั้น ผมมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั้งประเทศ มีนักสะสมผลงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศหาซื้อผลงานของผม จนไม่มีในตลาดศิลปะ ทำให้หลังปี ๒๕๔๐ ผลงานของผมมีราคาสูงมาก และหาซื้อไม่ได้ในขณะนี้
ปี ๒๕๓๔ ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รับใช้ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของผมหลายชิ้น
ส่วนในทางธรรมนั้น ผมมีจิตใจที่งดงามมากขึ้น มีความสุข จิตราบเรียบสงบ ไม่ฟุ้งซ่านดิ้นรนเหมือนอดีตก่อนผมรู้จักธรรมะของพระพุทธองค์
ธรรมะทำให้ผมมุ่งปรารถนาที่จะเป็นผู้ให้แก่มวลมนุษยชาติ และเป็นที่มาของการตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะคืนชีวิตของตนเองให้แก่ชาติ แก่พระศาสนา และแก่มนุษย์ทั้งโลก
ผมตั้งความหวังที่จะมอบชีวิตในวัยที่มีค่าที่ดีพร้อมที่สุดของอาชีพจิตรกร ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ฝีมือ จินตนาการให้แก่โลกไปจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ขุดสระและสร้างสะพานข้ามเข้าสู่อุโบสถ
ผมเริ่มงานก่อนตามตั้งใจไว้ถึง ๓ ปี โดยการเริ่มสร้างวัดร่องขุ่น วัดบ้านเกิดของผม เมื่ออายุเพียง ๔๒ ปี ด้วยเงินที่ผมเก็บสะสมไว้กว่า ๒๐ ปี จากการจำหน่ายผลงานศิลปะของผม
ผมหวังที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผมให้ปรากฏเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของโลกมนุษย์นี้ให้ได้ เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติของผมไปสู่มวลมนุษยชาติทั้งโลก
อุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก
ผมเริ่มสร้างอุโบสถก่อนเมื่อปี ๒๕๔๐ บนพื้นที่เดิมของวัด ๓ ไร่ ผ่านมาบัดนี้ ปี ๒๕๔๗ เข้าปีที่ ๗ ที่ผมอุทิศตน ผมขยายวัดเป็น ๑๒ ไร่ จากการซื้อที่ดินเพิ่ม และคุณวันชัย วิชญาชาคร ร่วมบริจาค
ณ เวลานี้อุโบสถเสร็จไปประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ คาดว่าภายนอกจะเสร็จอีก ๕-๖ ปีข้างหน้า ส่วนภายในซึ่งเป็นงานตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังจะใช้เวลาอีก ๘ ปี จึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ภายในบริเวณวัดจะประกอบไปด้วยอาคารที่มีลักษณะรูปทรงที่แตกต่างกันทั้งหมด ๙ หลัง เพื่อสร้างให้เป็นเมืองสวรรค์อันยิ่งใหญ่อลังการ
ผมคงไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อตกแต่งลวดลายเสร็จหมดทั้ง ๙ หลัง เพราะศิลปะยืนยาวแต่ชีวิตสั้น เพียงผมคาดว่าโครงการของสถาปัตยกรรมทั้งหมดคงจะเสร็จภายใน ๓ ปี ข้างหน้า ปี ๒๕๕๐ หากเมื่อผมตาย คณะลูกศิษย์ที่ผมสอนไว้จะสานต่อจินตนาการของผมจนแล้วเสร็จทั้งหมด ผมได้เตรียมการบริหารจัดการหลังความตายไว้พร้อมแล้ว
ลักษณะเด่นของวัดคือพระอุโบสถที่ประดับตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกบนปูนปั้นเป็นลายไทย
ท่านที่มาเยี่ยมชมวัดแล้วอย่ากังวลใจกลัวว่าผมจะสร้างไม่เสร็จ เพราะสาเหตุที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และยังจำกัดจำนวนเงินของผู้บริจาคไม่ให้เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท เงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผม มาวันนี้ผมจ่ายไปแล้วกว่า ๓๐ ล้านบาท ผมมั่นใจในตนเอง มั่นใจต่อจิตอันเป็นผู้ให้ของผม ขอทุกท่านอย่าได้เป็นห่วง
ผมไม่ปรารถนาขอเงินใคร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรเอกชน หรือเศรษฐีผู้ร่ำรวย เพระผมไม่อยากอยู่ใต้อำนาจทางความคิดของใคร ไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจเหนือจินตนาการของผม ผมต้องการอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่า “เงินจำนวนมาก ย่อมมาพร้อมอำนาจของผู้บริจาค”
ผมสร้างงานพุทธศิลป์ด้วยความศรัทธาจริต ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดๆ ตอบแทน ไม่ต้องการและไม่ชอบการทำบุญเอาหน้า
วัดนี้ไม่เคยเรี่ยไรเงินด้วยกฐินผ้าป่า วัดนี้ไม่รีบร้อนสร้างเพื่อฉลองในโอกาสใดๆ ทั้งสิ้น ผมคิดเพียงอย่างเดียว ต้องดีที่สุดสวยที่สุด สร้างจนหมดภูมิปัญญาทางโลกและทางธรรมของผม
"ผมสร้างวัดโดยไม่เคยเรี่ยไรเงินจากใคร ผมต้องการปัจจัยที่มาจากแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ใจของชาวพุทธ ที่ปรารถนาจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนา และงานพุทธศิลป์ของชาติเท่านั้น ผมไม่ต้องการปัจจัยจากผู้ที่หวังผลประโยชน์จากการบริจาค"
ธรรมะของอาจารย์เฉลิมชัย
“กูสุขจริงหรือ?”
ในช่วงหนึ่งของความสับสนวุ่นวายในจิตใจของตนเอง เกิดคำถามหนึ่งว่า
“กูมีความสุขจริงหรือ?” เพราะในสมัยที่กำลังบ้าวัตถุ บ้าเรื่องทางโลก ก็จะเสวยสุขไปตามกระแสของโลก ดื่ม กิน เที่ยวกลางคืน สำส่อนทางเพศ ทำทุกอย่างเพราะรู้สึกว่านั่นคือความสุขของตัวเอง
สุดท้าย กลับมาถึงบ้านตีสอง ตีสาม ตีสี่ ด้วยความเมื่อยล้า
เมื่ออยู่คนเดียวจะชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่า กูสุขจริงหรือ? สุดท้ายแล้วก็เริ่มรังเกียจตัวเอง เบื่อหน่ายตัวเอง เบื่อหน่ายชีวิตเหลวแหลกที่ทำอยู่
อาจจะเป็นเพราะบุญกุศลของตัวเอง เลยทำให้เริ่มรู้สึกและตั้งคำถามขึ้นมา
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็ เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง
ไม่ช้าก็เริ่มหันเข้าหาธรรมะ ได้อ่านหนังสือของอาจารย์พุทธทาสและหนังสือธรรมะต่างๆ เพื่อขุดค้นสภาวะภายใน ทั้งนี้เพราะสภาวะภายนอกนั้นเราลุยมาจนเยอะแล้ว เรารู้ว่าความสุขที่เกิดขึ้นภายนอกจากการเสพ ดังนั้นตัณหาอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสามารถดับมันได้ด้วยการกระทำของเรา อันที่จริงแล้วมันไม่ดับเลย มันดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์มากกว่า
สิ่งนี้คือที่มาของการศึกษาธรรมะเรื่อยมา คนเรามีกิเลส มันไม่สามารถแก้กิเลสได้มันก็พอกพูน เช่น คนอายุมากแต่ยังมีอะไรกับเด็กๆ ก็เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าคนที่จะสามารถจัดการตัดกิเลสได้ต้องมีธรรมะ กาม ตัณหา ราคะ ไม่มีทางพอสำหรับมนุษย์ เพราะเป็นสันดานของสัตว์ที่ต้องเสพกาม ดังนั้นสิ่งที่ทำให้หยุดคือธรรมะ
หากเราเข้าใจธรรมะ เราจะค่อยๆ เข้าใจการกระทำของตัวเองว่าเมื่อสร้างเหตุดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ได้ผลดีคือมีความสุข ตรงกันข้าม เมื่อคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ผลก็ไม่ดีคือมีความทุกข์ เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงดังนี้แล้ว เราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้ดีขึ้น เคยฆ่าสัตว์ เบียดเบียนชีวิตสัตว์ก็เลิก เคยขี้ขโมยเมื่อเห็นโทษก็หยุด เรียกว่านิสัยเก่าๆ ที่ไม่ดี ถ้าอยากให้สิริมงคลแก่ชีวิตดีขึ้นกับชีวิตต้องพัฒนาชีวิตให้เรียบง่าย รักษาศีล ๕ ชีวิตจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ประพฤติดีงามทั้งกาย วาจา ใจ จิตใจก็จะพัฒนาสูงขึ้น ใช้หลักศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางในการละเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้ชีวิตมีความสบายใจ สุขใจ ผลคือการดับทุกข์หรือทุกข์น้อยลง รู้จักปล่อยวางจิตใจก็มีความสงบ สบายใจ”
|