หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ร.ร.“สัตยาไส” เก่ง- ดี -มีสุข.... สู่คุณค่าความเป็นมนุษย์


....นานมาแล้วโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีครู 1 คน และนักเรียน 20 คน ทั้งครูและนักเรียน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเหมือนกับเป็นครอบครัวเดียวกัน กระทั่งมาวันหนึ่งเด็กชายคนหนึ่งในโรงเรียนมาบอกครูว่า ของใช้ส่วนตัวเขาหายไป!! ซึ่งสงสัยว่าจะโดนเพื่อนขโมย ครูรับปากที่จะดูแลเรื่องของที่หายไป เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป ของใช้ ของเด็กๆเริ่มหายไปทีละคน แต่ครูก็ยังไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้

เด็กๆทุกคนรายงานต่อครูให้ทราบ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ของหายอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งเด็กๆทั้ง 19 คน วางแผนที่จะบอกครูว่า จะขอลาจากโรงเรียน เพราะไม่เห็นว่าครูจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้เลย ในที่ประชุมวันนั้นนักเรียนครบทั้ง 20 คน ครูได้กล่าวชมนักเรียนทั้ง19 คน ว่า “พวกเธอทั้ง 19 คนเป็นคนดี ครูขอยกย่องและยอมให้นักเรียนทั้ง 19 คนลาออกจากโรงเรียน เพราะเป็นคนดีแล้วครูคงไม่ต้องสอนพวกเธออีกต่อไป”

นักเรียนทั้ง 19 คนได้ยินเช่นนั้น ก็ถึงกับประหลาดใจกับคำพูดของครู (เพราะไม่เป็นเหมือนที่เด็กๆคิด คือ ครูจะต้องไล่เพื่อนคนเดียวที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นคนขโมยของออกจากโรงเรียน) จากนั้นครูก็พูดต่อว่า “เด็กคนนี้ยังมีปัญหา ครูคงของร้องพวกเธอที่จะยังให้เขาอยู่ที่โรงเรียนนี้ต่อไป เพราะเขายังเป็นคนดีไม่ได้ ครูคงต้องอบรมให้เขาเป็นเด็กดีให้ได้เสียก่อน”


เด็กชายคนที่ขโมยของ เมื่อได้ยินคำพูดของครู ก็ตกใจ !! เมื่อรู้สึกตัว ก็คลานมากราบที่เท้าครู และพูดทั้งน้ำตาว่า “ตั้งแต่วันแรกที่ผมเริ่มขโมยของ ครูก็มาเตือนผม แต่ผมก็ยังคงขโมยของอีกซ้ำๆ ไม่เชื่อฟังครู... แต่วันนี้ ผมก็เห็นแล้วว่าครูก็ยังรักผมให้โอกาสได้เรียนได้ศึกษาต่อ” เด็กเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจครู และสัญญาว่าจะเป็นคนดี พร้อมทั้งหันไปพูดกับกลุ่มเพื่อนๆว่า “ขอให้ทุกคนให้อภัยผมด้วย ผมทำผิดแล้ว และสัญญาว่าจะเอาของที่ได้ขโมยไป มาคืนให้กับเพื่อนๆทุกคน” ครูเมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็รู้สึกยินดีและดีใจที่เด็กชายคนนั้นยอมรับผิด และกลับตัวกลับใจ เป็นคนดี


ขณะที่เด็กทั้ง 19 คน ก็กราบขอโทษครู และพูดว่า “เป็นสิ่งที่เขาเข้าใจผิดกันมาตลอดว่าครูไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาหรือสนใจนักเรียนเลย ตรงกันข้ามครูได้ใส่ใจและพยายามทำทุกวิถีทาด้วยความรัก ความเมตตา เพื่อให้เพื่อนที่มีปัญหาได้กลับตัวเป็นคนดี” ทั้งนักเรียนและครูกลับมากอดกันและร้องไห้ ปรับความเข้าใจกันและอยู่ร่วมกันเอื้ออาธรต่อกันอย่างมีความสุข

นี่เป็นเพียงหนึ่งในนิทานนับร้อยเรื่อง ที่ทุกๆ เช้า ระดับผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดังอย่าง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา (คนไทยผู้ประดิษฐ์คิดค้นยานไวกิ้งและวิธีการจอดยานไวกิ้ง บนดาวอังคารได้สำเร็จ) จะมาเล่านิทานให้เด็กๆ ในโรงเรียนสัตยาไส ฟังทุกๆเช้า พร้อมทั้งสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อทำสมาธิ ชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส และมีความสุขในการเรียนในแต่ละช่วงวัน



โรงเรียนสัตยาไส ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

กว่า 15 ปีในการก่อตั้งสถาบันการศึกษาสัตยาไส ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้คิดค้นนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ อาศัยกระบวนการ “จัดการความรู้” ที่โดดเด่นและแตกต่างจากโรงเรียนส่วนใหญ่ ตรงที่เป็นการจัดการกับ “จิตใจ” ของมนุษย์ อาศัยหลักคุณธรรม 5 ประการ คือ มีความรักความเมตตา , ความจริง , ความประพฤติชอบ , สันติ และ อหิงสา คือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เมื่อเป้าหมายของการการจัดการศึกษา คือ การให้นักเรียนเป็นคนดีแล้ว กระบวนการจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น คือการออกแบบการเรียนรู้ ร.ร.สัตยาไส จึงจัดการเรียนการสอนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งจากผู้บริหาร ครู และนักเรียน เพื่อยกระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ในหลายๆช่วงเวลาในหนึ่งวัน อย่างเช่น เช้าตรู่ (ประมาณตีห้าครึ่ง) ดร.อาจอง จะเป็นผู้นำกระบวนการให้เด็กทำสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ พร้อมทั้งการเล่านิทาน ปลูกฟังคุณธรรม จริยธรรม โดยที่เด็กๆไม่รู้ตัว / ถัดมาในคาบเรียนวิชาแรก นักเรียนทุกคนจะได้นั่งสมาธิช่วงเช้าร่วมกันประมารณ 50 นาที ก่อนเข้าเรียน เป็นการเรียกสติให้นักเรียนมีความมุ่งมั่นและตั้งใจเรียน / ช่วงต่อไป คือ ระหว่างคบเรียนแม้จะเป็นการเรียนกลุ่มสาระวิชาทั้ง 8ตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาฯ ก็ตาม แต่ครูจะมีบทบาทในการบูรณาการคุณค่าความเป็นมนุษย์เข้าไปในกลุ่มสาระ


โดยอาศัยการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายรูปแบบ เปรียบเทียบแก้บทเรียนด้านลบเป็นด้านบวก การตัดสินใจ และการระดมความคิด ในห้องเรียนเต็มไปด้วยการเล่านิทาน เล่นเกม มีดนตรีประกอบเป็นระยะๆ และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นต้น และช่วงสุดท้าย ทุกๆวันศุกร์ จะมีคาบเรียนบูรณาการกลุ่มสาระวิชาในช่วงชั้นเดียวกัน ครั้งละ 2 ชั่วโมง ครูผู้สอนจะต้องมาประชุมกันในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ จัดเป็น “ฐาน” กิจกรรมหมุนเวียนกันครบทุกฐาน และนักเรียนจะต้องสรุปได้เรียนรู้อะไร เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความรักความสามัคคี เป็นต้น

โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงองค์ประกอบและปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์หลายประการ ตั้งแต่การเลือกสถานที่ ที่มีความสงบ เป็นธรรมชาติ มีป่า ภูเขา และแม่น้ำ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจของนักเรียนและครู

ครูจะอยู่ในบทบาท ผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ โดยการประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง จะต้องมีความรักความเมตตา ต้องสามารถสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นให้นักเรียนนำคุณค่าความเป็นมนุษย์ออกมาจากภายใน โดยมีการฝึกสมาธิ เป็นเครื่องมือสำคัญ


“ผมใช้วิธีการฝึกสมาธิด้วยการให้เด็กฝึกนำแสงสว่างไปยังจุดต่างๆของร่างกาย เช่น เมื่อมีจินตนาการว่ามีแสงสว่างไปอยู่ที่มือ ผมจะบอกเขาว่า เราจะทำแต่ความดี ใช้สองมือนี้อย่างสร้างสรรค์ ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ เด็กจะคิดตามและคิดถึงแต่สิ่งดีๆที่ครูเป็นผู้นำให้คิด” ดร.อาจองเล่าถึงวิธีการสร้างสมาธิ และย้ำว่า “จุดสำคัญที่สุดครูจะต้องมีบทบาทในการนำไปสู่การคิดในเรื่องที่ดี และมีคุณค่า มิใช่การให้เด็กนั่งสมาธิในความเงียบตามลำพัง”

“น้องภู” ด.ช.ศรัณญ์ ถาวรกูล นักเรียนชั้น ป. 6 เล่าให้ฟังว่า บ้านผมอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ พ่อกับแม่ให้มาเรียนที่ลพบุรีตอน ป.1 ผมเรียนที่นี่แล้วมีความสุขมาก ครูที่สอนดีและใจเย็น บางครั้งผมไม่ตั้งใจเรียนเวลาอยู่ในห้อง แต่การได้ทำสมาธิทุกเช้า ทำให้ผมรู้สึกว่าผ่อนคลาย มีสติมีสมาธิมาก เวลาท่องหนังสือก็จำได้ดีและเอาไปทำข้อสอบได้ออกมาดีด้วย

ขณะที่ “น้องตาหนู” ด.ช.ชานนท์ จุลศิลป์ เพื่อนร่วมห้องน้องภู เล่าเสริมให้ฟังว่า “บ้านผมอยู่จังหวัดอุดรธานี ย้ายมาเรียนที่นี่ตอน ป.5 แรกๆเข้ามาก็ยังรู้สึกแปลกๆ ที่เพื่อนๆที่นี่ไม่ค่อยเหมือนกับโรงเรียนเก่าที่ตนเคยอยู่ ซึ่งเวลาต่อมาก็ปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆได้ ที่นี่เพื่อนๆ จะมีน้ำใจ ช่วยกันเรียน ไม่แข่งขันกัน อาจเป็นเพราะที่เป็นโรงเรียนประจำด้วยพวกเราเลยเป็นเหมือนพี่น้องกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด” น้องตาหนูเล่าถึงความประทับใจในโรงเรียนใหม่

แม้ความมุ่งหวังของผู้ปกครองส่วนมาก ต้องการจะให้ลูกหลานของตนเองมีความฉลาด และต้องเก่งด้านเนื้อหาวิชาการ กอปรโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นการเรียนที่แข่งขันทั้งเรื่องคุณภาพวิชาการรวมไปถึงพฤติกรรมเด็กที่ต้องแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ หากแต่ขาดความขาดความสุขในการเรียนรู้ ขาดการพัฒนาด้าน “จิตใจ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผล 3 ประการ คือ เก่ง ดี และมีสุข แนวทางนี้ล้วนสอดคล้องและสัตยาไสเป็นหนึ่งในน้อยโรงเรียนที่ตอบสองความต้องการนั้นได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา จะมีเสวนาพิเศษ เกี่ยวกับการสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration –based Communication)ในหัวข้อ “เมื่อคุณธรรม นำการศึกษา” ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 3 ขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” จัดโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ในวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ผู้สนใจร่วมรับฟังเสวนาพิเศษ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0- 2298 0664-8 หรือติดตามได้ที่ http://www.kmi.or.th


ไปข้างบน