หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ชื่นชมสวนสวย...สันติ...สงบ “ภูฏาน”


งานจิตรกรรมตรงประตูทางเข้า

พื้นที่ในสวนเฉลิมพระเกียรตินานาชาติ กว่า 500 ตารางเมตร ในงานราชพฤกษ์ 2549 ที่เชียงใหม่ ถูกเนรมิตให้เป็นสวนแห่งเทือกเขาหิมาลัย สะท้อนแนวคิด “อยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ” (Living in harmony with nature) ของประเทศภูฏาน เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และเข้าชมกันอย่างคึกคัก




ภายในสวน

ซิงยี วังมอ (Singyi Wangmo) ผู้ประสานงานของสวนภูฏานที่มาลงหลักปักฐานใน เชียงใหม่เพื่อดูแลสวน กล่าวว่า สวนแห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ความสงบและสันติ รูปแบบสวนสร้างเหมือนกับสวนในประเทศภูฏาน ทั้งงานสถาปัตยกรรม ต้นไม้ป่า ดอกกล้วยไม้ป่า และสัญลักษณ์ต่างๆ โดยใช้งบประมาณถึง 11 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าขนส่ง ค่าเดินทางและที่พัก มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 12 คน ประกอบด้วย วิศวกร สถาปนิก ช่าง คนสวน คนดูแลกล้วยไม้ และช่างไม้ โดยใช้เวลาทำสวนทั้งหมด 2 เดือน




กำแพงหินก่อด้วยโคลน

สิ่งที่โดดเด่นในสวนแห่งนี้ คงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ขนข้ามประเทศมาถึงเมืองไทยโดยตรง และทั้งหมดมีเอกลักษณ์ของงานแกะสลักหินอันประณีตสวยงาม ประกอบด้วยสัญลักษณ์นำโชคต่างๆ รวมถึงสัญลักษณ์ทางศาสนา ซึ่งนำมาแกะสลักประดับบริเวณประตู และซุ้มแบบท้องถิ่น และงานฝีมือแกะสลักหินและไม้อันงดงาม

มุมโปรดที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ คงเป็นสะพานไม้แห่งมิตรภาพ เป็นสัญลักษณ์ของสะพานที่เชื่อมระหว่างประชาชนชาวไทยและชาวภูฏาน งดงามด้วยงานแกะสลักไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในภูฏาน โดยช่างไม้ระดับอาจารย์ ที่เรียกว่า โซวส์ (Zows) และงานสลักบนกระดานไม้ ที่ทำขึ้นโดยช่างแกะภูฏานดั้งเดิมที่เรียกว่า ป๊าปส์ (Paps)




สะพานมิตรภาพ

งานแกะสลักบนสะพานไม้อันนี้ สื่อถึงความสัมพันธ์ ตั้งแต่ราวไม้ตั้งสะพานที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหายทั้งสี่ คือ ช้าง ลิง กระต่าย และนก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทสอนใจทางจริยธรรมในเรื่องความแข็งแกร่ง และไมตรีจิต ที่สืบเนื่องมาจากมิตรภาพ ส่วนราวสะพานไม้แนวนอนสลักเสลาเป็นรูปดอกป๊อบปี้สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติภูฏาน และดอกไม้ประจำชาติของไทย (ดอกราชพฤกษ์สีเหลือง) และงานแกะสลักในส่วนล่างของขอบสะพาน สื่อความหมายถึงมิตรภาพระหว่างชาวไทย และภูฏาน ซึ่งแกะสลักเป็นรูปนกฟีนิกซ์ ที่คนภูฏานเรียกว่า จาห์ เชอริง ในเทพนิยาย บอกว่า นอกนี้ไม่มีวันตาย ฉะนั้นมิตรภาพระหว่างชาวไทยและภูฏานจะไม่มีวันตาย และจะเจริญรุ่งเรืองตลอดไป




ดอกกุหลาบที่นำมาปลูกแทนดอกบานชื่น

ส่วนต้นไม้ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนแห่งนี้ ล้วนมาจากบนภูเขา โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่า หลากสีที่มีอยู่ในประเทศกว่า 360 สายพันธุ์ และพบได้ในแถบภูเขาหิมาลัยเท่านั้น ทางเจ้าของสวนก็นำตัวอย่างกล้วยไม้ที่พบในป่าชัคของภูฏาน ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,000 เมตร มาอวดโฉมให้ผู้เข้าไปชมสวนได้ยล เมื่อมาเจออาการร้อนของเมืองไทย ก็แห้งเหี่ยวไปตามสภาพภูมิอากาศ

ส่วนดอกไม้ป่าของภูฏานที่มีอยู่เพียงพันธุ์เดียวนั้น ปลูกไว้ใกล้ๆ ลำธาร และกำลังรอผลิบานในช่วงเดือนธันวาคม




วงล้อแห่งธรรม

ซิงยีฝากบอกถึงนักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมสวนว่า “ไม่ควรเหยียบหรือเดินบนหญ้า และไม่ควรพิงราวสะพาน เพราะทำจากไม้ คนที่มาเที่ยวมักจะยืนพิงแล้วถ่ายรูป และวันหนึ่งมันอาจพังลงมาได้”

สวนภูฏานแห่งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ชาวภูฏานได้มีโอกาสจัดขึ้นในต่างประเทศ และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงสวนเพื่อต้อนรับเจ้าชาย จิกมี นัมเกล วังซุก แห่งภูฏาน เสด็จมาเยือนในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้

หากใครมีโอกาสไปเที่ยวงานราชพฤกษ์ 2549 อย่าลืมแวะไปสัมผัสความสงบและสันติที่สวนภูฏานแห่งนี้...เพราะตัวแทนสาวชาวภูฏาน ซิงยี บอกว่า ยินดีต้อนรับทุกคน


ไปข้างบน