ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูป
พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า
ชาวพุทธให้ความเคารพศรัทธามากบางแห่งก็มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หลวงพ่อพุทธโสธร วัดโสธรวราราม
จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ พระพุทธชินราชวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้น
มีตำนานเล่าขานกันมามากบ้างน้อยบ้างสุดแท้แต่ความศรัทธาของชาวบ้าน
แต่สิ่งที่เหมือนกันของรูปเปรียบหรือตัวแทนของพระพุทธเจ้านี้ ที่สังเกตเห็นได้มีอยู่ด้วย กัน 3 ประการ คือ
1. พระเศียรแหลม
มีคำถามว่า
ทำไมพระพุทธรูปจึงมีพระเศียรแหลมในเมื่อพระพุทธเจ้าของเราก็เป็นมนุษย์
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้คิดเป็นปริศนาธรรม พระเศียรที่แหลมนั้นหมายถึง สติปัญญาที่เฉียบแหลมในการดำเนินชีวิต
สอนให้ชาวพุทธแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญาไม่ใช่ใช้อารมณ์
หากใช้ปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงทำ ความผิดพลาดเกิดขึ้นน้อย หรือไม่เกิดขึ้นเลย
2. พระกรรณยาน หรือหูยาน
เป็นปริศนาธรรมให้ชาวพุทธเป็นคนหูหนัก คือมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงนั่นเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่คิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอันแยบคาย
แล้วจึงเชื่อในฐานที่เป็น ชาวพุทธก็ต้องเชื่อในกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น
เชื่อว่าไม่มีอะไรทำให้ใครเป็นอะไรๆ
ทั้งนั้นแต่ตัวเราเองนั่นแหละทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์
คนเราจะดีจะชั่วจะเสื่อมจะเจริญไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ขึ้นอยู่กับการทำ
การพูดการคิดของตนเองนี้เป็นการเชื่อตามหลักของพระพุทธศาสนา
3. พระเนตรมองต่ำ
พระพุทธรูปที่สร้างโดยทั่วไปจะมีพระเนตรมองลงที่พระวรกายของพระองค์
อย่างในพระอุโบสถของวัดทั่วไป จะนั่งมองดูพระวรกาย
ไม่ได้มองดูหน้าต่างหรือมองดูประตูพระอุโบสถว่าจะมีใครเข้ามาไหว้บ้าง นี้เป็นปริศนาธรรม
สอนให้มองตนเองพิจารณาตนเอง
ตักเตือนแก้ไขตนเองไม่ใช่คอยจับผิดผู้อื่น
ซึ่งตามปกติของคนแล้วมักจะมองเห็นความผิดพลาดของบุคคลอื่น
แต่ลืมมองของตนเองทำให้สูญเสียเวลาและโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง ใครเล่าจะตักเตือนตัวเราได้ดี
กว่าตัวเราเองจึงมีพุทธพจน์ตรัสให้เตือนตนเองว่า
"อตฺตนา โจทยตฺตาน" = จงเตือนตนด้วยตนเอง
จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน ตนเตือนตนเตือนไม่ได้ใครจะเตือน
ตนแชเชือนรีบเตือนตนให้พ้นภัย
ที่กล่าวมาทั้ง 3 ประการนั้นเป็นการสอนโดยใช้ปริศนาธรรม จากพระพุทธรูปเป็นสื่อการสอนใจตนเอง
ดังนั้น
ชาวพุทธเมื่อมีปัญหาอะไรแก้ไขไม่ได้คิดไม่ตกก็เข้าวัดเสียบ้าง นั่งประนมมือตรงหน้าพระพุทธรูป
หรือถ้าที่บ้านมีพระพุทธรูป ก็นั่งประนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป ที่บ้านนั่นแหละ ค่อยๆเพ่งพินิจที่พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
ก่อนที่จะกราบ จะมองเห็นพระเศียรแหลม สอนใจตนว่า "อย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์นะ ใจเย็นๆ ปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไม่มีอะไรแก้ไขไม่ได้ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลม เหมือนพระพุทธเจ้าของเราที่พระองค์ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา"
เห็นพระกรรณยานก็บอกตนเองว่า "สุขุมเยือกเย็นมีเหตุผลเข้าไว้ อย่าปล่อยใจตามอารมณ์หรือหุนหันพลันแล่น เดี๋ยวจะผิดพลาดได้ ต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล"
เห็นสายพระเนตรที่มองต่ำก็บอกตนเองว่า "มองตนเองบ้างนะ อย่าไปมองคนอื่นมากนักเลยเดี๋ยวจะไม่สบายใจ และอาจมีปัญหาได้ การมองตนเองบ่อยๆ จะได้พิจารณาตนเองปรับปรุงตนเอง
และแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น"
จากนั้นก็ค่อยกราบพระพุทธรูปด้วยสติปัญญาและจิตใจที่ชื่นบาน นี้เรียกว่า "ยิ่งกราบยิ่งฉลาด" สมกับเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่แท้จริง
ทั้งนั้นแต่ตัวเราเองนั่นแหละทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์
คนเราจะดีจะชั่วจะเสื่อมจะเจริญไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอก หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ขึ้นอยู่กับการทำ
การพูดการคิดของตนเองนี้เป็นการเชื่อตามหลักของพระพุทธศาสนา
|