วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง ท่านมหาปิ่น
ปี 2460 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาที่ป่าบ้านดงปอ ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ง จ.อุดรธานี
จากบันทึกของ พระญาณวิริยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์) ทำให้ได้รู้ว่า หลักการในการจำพรรษาของท่าน
ท่านไม่ต้องการให้อยู่รวมกันหลายรูป เพราะจะทำให้ไม่วิเวก
"ดังนั้น ท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังจะได้รับผลที่แน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์"
ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาชิกท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์ 2 องค์ จะได้อบรมตนให้ยิ่งไม่ต้องกังวลกับใคร แต่หากเกิดความสงสัยในการปฏิบัติขึ้นแต่ละองค์ก็จะมากราบนมัสการเพื่อให้ช่วยแก้ความสงสัยเป็นรายๆ ไป
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
การให้บรรดาศิษย์แยกกันไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ก็ใช่ว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะทอดธุระแต่อย่างใด
ตรงกันข้าม ท่านก็คอยสดับตรับฟังทุกจังหวะก้าวการเคลื่อนไหว
อย่างน้อยที่สุด การสดับตรับฟัง ด้าน 1 ก็จะทราบถึงจังหวะก้าวการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ก็จะได้เข้าไปช่วยเหลือแนะนำอย่างทันท่วงที
อย่างเช่นกรณีของพระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งต้องการแสดงอภินิหารให้เป็นที่ปรากฏ
เหตุเกิดขึ้นระหว่าง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาที่บ้านโคก ต.ดองโขม อ.เมือง จ.สกลนคร
ปรากฏว่าได้กิตติศัพท์พระอาจารย์รูปหนึ่งจำพรรษาอยู่บนภูค้อ
พระอาจารย์รูปนี้ประกาศเป็นผู้ที่รู้ในหมู่ชาวบ้านว่า จะไม่ฉันอาหารตลอด 3 เดือนที่อยู่ในพรรษา
สร้างความแตกตื่นให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก
พระอาจารย์รูปนี้ไม่ได้เป็นศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านจึงเพียงแต่แนะนำศิษย์คนอื่นๆ ของท่านว่า
"การไปอยู่ป่าอยู่เขาทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง"
ที่ว่าไม่ถูกต้อง "เพราะไปทำอภินิหารอดอาหารอยู่ถ้ำ เพื่อที่จะได้คนไปหา เป็นการผิดวิสัย"
พร้อมกันนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็แนะนำว่า
"พวกเราอย่าได้พากันทำเช่นนั้น เพราะตามความเป็นจริงแล้วการอยู่ป่าต้องทำตัวเก็บตัวแสวงหาความสงบด้วยใจจริง โดยความบริสุทธิ์ในการแสวงหาธรรมปฏิบัติ การอยู่ป่าอยู่เขาโดยการเพื่อแสวงหาลาภหาปัจจัยนั้นไม่ถูกต้อง"
"พวกเธอถ้าหากว่าจะพึงแสวงหาความสงบแล้วต้องอย่าทำอะไรที่ชวนให้คนหลงตามไปหามันจะไม่เป็นการบริสุทธิ์ใจของนักปฏิบัติ"
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
หรือในกรณีของ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล
ทุกคนย่อมทราบกันอยู่แล้วว่า พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นน้องชายของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
เมื่อพระผู้พี่ชายนำตัวมามอบเป็นศิษย์ หลังจากนั้น พระอาจารย์ปั่น ภูริทัตโต ได้พิจารณาเห็นว่า พระมหาปิ่น ปัญญาพโล มีบุญวาสนาได้บำเพ็ญมาพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ ท่านถึงพยายามแนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดลึกซึ้ง
อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาปิ่น ปัญญาพโล นั่งพักอยู่ในกุฎีหลังเล็กมุงด้วยหญ้าแฝกในเสนาสนะป่า
เป็นเวลาประมาณ 23.00 น.เศษ ท่านได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว 2 ชั่วโมง
ระหว่างนั้นท่านนั่งพลางนึกถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า "ท่านอาจารย์มิได้ร่ำเรียนปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง 5 ประโยคจะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน ที่ท่านสอนเราก็ไม่รู้ว่าจะถูกหรือว่าผิดกันแน่"
ทันใดนั้นก็ต้องสะดุ้งสุดขีดเมื่อมีเสียงเคาะข้างฝาดังขึ้นพร้อมกับคำพูดของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า
"ท่านมหาปิ่น นี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา ท่านมหา"
ได้ยินดังนั้น พระมหาปิ่น ปัญญาพโล ออกจากเสนาสนะตรงไปกราบเท้า พร้อมกับกล่าวว่า
"กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้า จงอโหสิแก่กระผมเถิด ตั้งแต่วันนี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิตใจมิให้นึกคิดถึงสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก"
เป็นคำสารภาพของพระมหาเปรียญธรรม 5 ประโยค
เป็นการยอมรับผิดต่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งกายและใจโดยแท้
|