ดูของดี ที่ “วัดโพธิ์”
ความงดงามของวัดโพธิ์บริเวณเจดีย์ 4 รัชกาลในยามค่ำคืน
วัดโพธิ์ นับเป็นอีกหนึ่งในวัดแห่งเมืองหลวงที่มีเรื่องราวและสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยวัดนี้นอกจากความกว้างใหญ่และสวยงามอลังการในทุกส่วนแล้ว ทุกมุมของวัดล้วนสร้างอย่างปราณีตจากฝีมือช่างโบราณ ทำเอาฉันตาโตตื่นตาตื่นใจเพราะไม่เคยเห็นอย่างนี้ในวัดแถวบ้าน ใครจะหาว่าฉันบ้านนอกเข้ากรุงก็ไม่ว่า (เพราะฉันเป็นเด็กตจว.ที่เข้ามาทำงานในกรุงจริงๆ)
วัดโพธิ์เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ กันทุกวันนี้ แต่ชื่อเดิมตั้งแต่เป็นวัดราษฎร์เล็กๆในสมัยอยุธยาคือ “วัดโพธาราม” ต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) โปรดเกล้าให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนาเป็นวัดประจำรัชกาล ส่วนชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบัน “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” นั้นเพิ่งถูกเปลี่ยนใช้เรียกในสมัยรัชกาลที่ 4
โบสถ์วัดโพธิ์ นับเป็นหนึ่งในโบสถ์ที่สวยงามมาก สำหรับวัดในเมืองไทย
สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เห็นสวยงามในปัจจุบันนั้น เป็นมรดกจากการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 โดยใช้เวลานานถึง 16 ปี 7 เดือน ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตก ทั้งส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส สวนมิสกวัน พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้ ซึ่งศิลปะสมัย ร.3 สังเกตง่ายๆได้จากตุ๊กตาจีนรูปต่างๆ ถูกนำมาตกแต่งให้เข้ากับศาสนสถานของวัดอย่างเป็นระเบียบ ดูสวยงามลงตัวทั่วทั้งบริเวณ ซึ่งรูปสลักหน้าตาเป็นจีน มือถือศาสตราวุธที่ยืนเฝ้าประตูทรงจุลมงกุฎมักได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแวะยืมชมและถ่ายรูป
จนบางคนเข้าใจผิดคิดว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” นี้คือยักษ์วัดโพธิ์
รูปสลักหินฤษีดัดตนจากเดิม 80 ท่า ปัจุบันเหลืออยู่ 24 ท่า
สิ่งสำคัญอย่างแรกในวัดโพธิ์ก็คือ โบสถ์หรือพระอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นโบสถ์ที่สวยงามมาก มีบานประตูด้านนอกประทับมุก บานหน้าต่างด้านนอกแกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจก ส่วนด้านในของบานประตูและหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เสาทุกต้นภายในโบสถ์มีลายเขียนสี บริเวณผนังเขียนเป็นภาพจิตรกรรม กำแพงระเบียงของโบสถ์ซึ่งเป็นหินอ่อนแกะสลักเป็นภาพรามเกียรติ์ไว้อย่างงดงาม พระประธานในโบสถ์คือ พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ใต้ฐานชุกชีของพระพุทธรูปเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ 1
ภายในเขตวัดโพธิ์มีพระวิหารอยู่หลายหลัง พระวิหารสำคัญที่พลาดไม่ได้ต้องแวะเข้าไปเยือนคือ วิหารพระพุทธไสยาส ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสิบหมู่สร้างพระพุทธไสยาสหรือพระนอนขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารที่มีระเบียงเดินได้รอบในภายหลัง องค์พระพุทธไสยาสก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองพระพักตร์สูง 15 เมตร ทอดพระองค์ยาว 46 เมตร ที่พระบาทสูง 3 เมตรยาว 5 เมตร พระบาทตกแต่งลายประดับมุกภาพมงคล 108 ที่รับคติมาจากชมพูทวีป ถือเป็นลายศิลปะไทยผสมจีน ผสมผสานกันอย่างประณีตศิลป์
พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ
นอกเหนือจากพระเจดีย์รายที่อยู่รายรอบพระระเบียงชั้นนอกแล้ว เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็น พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งอยู่ในบริเวณกำแพงแก้วสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละคู่ พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสอง องค์ประดับกระเบื้องเคลือบสีเขียวเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่1 นามว่า พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ใกล้กันพระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาวเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่2 ส่วนพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 และที่ 4 คือ พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร และพระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ตามลำดับ
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดโพธิ์คือ เขาฤษีดัดตน ซึ่งเป็นสวนสุขภาพอยู่ใกล้กับพระวิหารทางทิศใต้ รัชกาลที่1 ทรงโปรดเกล้าฯให้รวบรวมแพทย์แผนโบราณและศิลปวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำริเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถ แก้ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกาย ประยุกต์รวมกับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการต่างๆ สมัยแรกนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 หล่อเป็นเนื้อหินทั้งหมด 80 ท่าแต่เหลือให้เห็นในปัจจุบันเพียง 24 ท่า
นอกจากนี้ ความรู้อันเป็นสรรพศาสตร์ด้านต่างๆถูกจารึกไว้แผ่นศิลาประดับอยู่ตามศาลาราย อย่างเช่นที่ศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ส่วนศาลารายด้านทิศตะวันออกทั้ง 2 หลังเปิดสอนการแพทย์และการนวดแผนโบราณจนถึงปัจจุบัน สำหรับการสอนนวดมีทั้งแบบท่าฤษีดัดตน และการนวดประคบด้วยสมุนไพร
วัดโพธิ์ถือเป็นวัดสำคัญที่สุดอีกวัดหนึ่งของเมืองไทยเรา เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะของชาติ ยังเป็นสถานศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพชั้นสูง ใครจะเรียนเป็นนักกลอน จะเรียนการช่างไม่ว่าจะเป็นช่างเขียน ช่างแกะสลัก ช่างพระพุทธรูป ช่างก่อสร้างฯลฯ หรือจะเรียนเป็นหมอยา หมอนวด ก็มาเรียนด้วยตนเองได้ที่วัดโพธิ์ ซึ่งสำหรับฉันแล้วรู้สึกเสียดายเพียงอย่างเดียวที่ไม่มีวิชาให้คนบางคนมาเรียนในวิชาการเป็นนักการเมือง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ 20 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม
หากเดินทางโดยรถประจำทาง มีรถผ่าน สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 43, 44, 47, 48, 53, 60, 82, 91, 123 รถปรับอากาศ สาย ปอ.6, 7, 8, 9, 12, 25, 44, 91
|