หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

'ม่อเกาคู' พุทธศิลป์ชิ้นเลิศที่ตุนหวง


รัชสมัยกวงสูปีที่ 26 (ค.ศ. 1900) นักพรตเต๋านาม หวังหยวนจ้วน ค้นพบถ้ำลึกลับที่เก็บซ่อนคัมภีร์ทางศาสนาโดยไม่ตั้งใจ ภายในถ้ำยังเป็นที่เก็บรักษาจดหมายเหตุบันทึกทางประวัติศาสตร์ไว้ในสภาพสมบูรณ์ ที่จารึกด้วยอักษรฮั่น และอักษรพื้นเมืองโบราณของชนเผ่าในทะเลทราย อาทิ อักษรหุย ทิเบต ถู่ฟาน(บรรพบุรุษของชาวทิเบต) ลี่เท่อ และอักษรชีว์หลู และโบราณวัตถุอื่นๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 ชิ้น ถ้ำแห่งนี้อยู่ในบริเวณถ้ำผาหินสลัก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยคังซี แห่งราชวงศ์ชิงว่า ‘ถ้ำผาม่อเกาคู’ การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ ทำให้ถ้ำผาร้างอันโดดเดี่ยวแห่งเนินทรายหมิงซาซัน กลายเป็นอัญมณีน้ำงามสุดประมาณค่าบนยอดมงกุฎมังกร

ความงามย่อมเป็นที่หมายปอง พลันเมื่อข่าวการค้นพบแพร่กระจายออกไป มืออำมหิตจากทุกสารทิศ ทั้งจากแผ่นดินและเกาะทางตะวันตก โลกใหม่ ไซบีเรีย แดนอาทิตย์อุทัย หรือแม้แต่เขตแคว้นทั่วแผ่นดินจีน ต่างยื่นยาวเข้ามาฉกฉวย และพรากเอา ‘อัญมณี’ ไปจากถ้ำผาแห่งนี้ กว่าที่รัฐบาลจีนจะเริ่มตั้งทีมวิจัยศึกษา สืบค้น และวางแผนการอนุรักษ์ถ้ำผาม่อเกาคู ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ก็ล่วงเลยเข้าสู่ปีค.ศ. 1943 และหลังจากนั้นอีก 44 ปี ชาวโลกจึงเข้ามายกฐานะและบทบาทของถ้ำผาม่อเกาคู ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

งานพุทธศิลป์ชั้นเลิศข้ามสหัสวรรษ


คูหาหมายเลข 96 โบราณสถานหลักของถ้ำผาม่อเกาคู

ถ้ำผาม่อเกาคู หนึ่งในสามถ้ำผาอันโด่งดังของจีน มีอายุราว 1,600 กว่าปี เป็นถ้ำผาที่สร้างขึ้นแรกสุด ในจำนวนถ้ำผาทั้งสาม อันได้แก่ ถ้ำผาหยุนกัง ที่เมืองต้าถง มณฑลซันซี (เริ่มสร้างในปี ค.ศ.453 หรือรัชสมัยซิงอันปีที่ 2 แห่งราชวงศ์เหนือ) และถ้ำผาหลงเหมิน แห่งเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนัน (ยุคราชวงศ์เหนือ รัชสมัยจักรพรรดิเสี้ยวเหวินตี้ ราว ค.ศ.471-477)

ม่อเกาคูผ่านกาลเวลาแห่งการก่อสร้างยาวนานหลายศตวรรษ นับตั้งแต่การเริ่มเจาะสกัดหินก้อนแรกในยุคจิ้นตะวันออก (ค.ศ.317-420) ผ่านการบูรณะ และสรรค์สร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่ยุค 16 แคว้น (ค.ศ.304-439) ยุคราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ.420-589) ต่อเนื่องมาถึงราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) และในยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ผ่านยุค 5 ราชวงศ์ เรื่อยมาถึงราชวงศ์เหลียว (ค.ศ.916-1125) ซ่ง (ซ่งเหนือ-จิน-ซ่งใต้ ค.ศ.960-1279) เซี่ยตะวันตกและหยวน (ค.ศ.1271-1368) รวมเวลามากกว่า 1,000 ปี

ถึงแม้การก่อสร้างโดยส่วนใหญ่เสร็จสิ้นลงไปแล้วในเบื้องต้น ตลอดระยะเวลากว่าพันปีจากนั้น ก็ยังมีการต่อเติม และก่อสร้างโบราณสถานขึ้นเพิ่มเติมต่างยุคต่างสมัยกัน ดังนั้นบริเวณถ้ำผาม่อเกาคูจึงดารดาษไปด้วยงานจิตรกรรม ประติมากรรรม และสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนเอกลักษณ์ทางศิลปะในแต่ละยุคสมัยของจีน

ชาวจีนจึงภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้ำผาในอ้อมกอดของทะเลทรายที่เมืองตุนหวงนี้ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นศูนย์รวมงานศิลปะการแกะสลักหิน งานจิตรกรรมผนังถ้ำ ศิลปะรูปสลักเขียนสี และสถาปัตยกรรมโบราณ ที่มีรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชนชาติ อีกทั้งสะท้อนภูมิปัญญาของชนชั้นแรงงานในสังคมอดีตกาล และเปี่ยมล้นด้วยความงามทางพุทธศิลป์ชั้นสูงเทียบเท่าระดับสากล


รูปปั้นสลักเขียนสีรูปพระโพธิสัตว์ สุดยอดความงามแบบศิลปะตุนหวง

ถ้ำผาม่อเกาคู หรือที่อดีตเรียกกันว่า ถ้ำเชียนฝอ(ถ้ำพระพุทธรูปพันองค์) มีช่องเขาทั้งหมดซึ่งแบ่งเป็น 5 ชั้น ไล่เรียงกันตามลำดับขั้น ประกอบด้วย ถ้ำพระ ถ้ำวัง ถ้ำเจดีย์ ถ้ำหลังคาโค้ง เป็นต้น ถ้ำที่ใหญ่ที่สุดมีความสูงราว 40 เมตร กว้าง 30 เมตร ที่เล็กที่สุดเป็นช่องเขาความสูงไม่ถึง 1 นิ้ว

ปัจจุบัน ในจำนวนถ้ำที่ได้รับการอนุรักษ์ราว 500 กว่าถ้ำ ในบริเวณเขตมรดกโลกถ้ำผาม่อเกาคู มีถ้ำที่มีรูปสลักเขียนสีอยู่ถึง 492 ถ้ำ ภายในบรรจุรูปสลักเขียนสีรวมทั้งสิ้น 2,415 ชิ้น รูปปั้นนางฟ้า 4,000 กว่าชิ้น สถาปัตยกรรมไม้สมัยถังและซ่งรวม 5 หลัง ตลอดจนภาพจิตรกรรมผนังถ้ำรวมความยาวมากกว่า 45,000 ตารางเมตร

และยังได้เป็นขุมทรัพย์โบราณวัตถุอายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 - 14 อันได้แก่ คัมภีร์ทางพุทธศาสนา บันทึกประวัติศาสตร์ ตำราและหนังสือชุดว่าด้วยศาสนาเต๋า ประเพณีชีวิต สังคม การเมือง งานวรรณกรรม ฯลฯ และภาพเขียนจีน รวมทั้งสิ้น 50,000 กว่ารายการ ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานทางโบราณคดีของจีนในการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘ตุนหวงศึกษา’ ในยุคจิ้นตะวันออกจนถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง


ภาพจิตรกรรมผนังถ้ำในคูหาหมายเลข 285 เป็นภาพบรรดาเทพและนางฟ้าบนสรวงสวรรค์ ศิลปะปลายสมัยราชวงศ์เหนือใต้

‘ศิลปะตุนหวง’ บนเส้นทางสายไหม

จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นยุคที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด เริ่มแผ่ขยายราชอาณาจักรไปทางตะวันตกในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราวปี 140-87 ก่อนคริสต์ศักราช) โดยส่งราชทูตจางเชียน เดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับเขตแคว้นทางตะวันตกถึง 2 ครั้ง ในปี 139 และ 119 ก่อนคริสต์ศักราช การเดินทางครั้งนั้นได้เปิด เส้นทางสายไหม(The Silk Road)ทางบก บนผืนทะเลทรายทาคาลามากันอันกว้างใหญ่ เส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้าและศิลปวัฒนธรรมสายนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเมืองชุมทางคมนาคมในอดีตอีกหลายเมือง กินพื้นที่ในมณฑลและเขตปกครองตนเอง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนปัจจุบัน อาทิ ส่านซี กันซู่ ชิงไห่ และซินเจียง

เมืองตุนหวง นอกจากจะตั้งอยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญสายเก่านี้แล้ว ยังเคยเป็นแหล่งบรรจบของศิลปวัฒนธรรมจากดินแดนตะวันออกและตะวันตกที่เฟื่องฟูมาก่อน ทั้งนี้สืบเนื่องจากการเป็นชุมทางคมนาคมเมืองหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมาก ในยุคที่เส้นทางสายไหมยังคงคึกคัก และเต็มไปด้วยบรรยากาศของผู้คนหลากหลายชนชาติภาษา ซึ่งสัญจรไปมาเพื่อประกอบกิจกรรมทางการค้ากับชาวจีนในแผ่นดินใหญ่

อีกทั้งประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในสมัยราชวงศ์ถัง ที่กล่าวถึงการเดินทางของพระถังซัมจั๋งไปยังชมพูทวีป ยังส่งผลให้พุทธศาสนาอันรุ่งเรืองจากประเทศอินเดีย ได้แผ่ขยายมาสู่แผ่นดินจีนผ่านเส้นทางสายประวัติศาสตร์นี้เช่นกัน


กองคาราวานอูฐข้ามทะเลทราย

ชะตากรรมของถ้ำผาม่อเกาคูที่เมืองตุนหวง จึงถูกกำหนดโดยความสำคัญของเส้นทางสายไหมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับแต่ครั้งกำเนิดถ้ำผาแห่งนี้ในยุคจิ้นตะวันออก จนมาถึงก่อนราชวงศ์สุยและถัง ที่นับเป็นก้าวแรกสู่ยุคทองของการก่อสร้างรูปสลักหิน และงานจิตรกรรมผนังถ้ำที่ม่อเกาคู ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบร่มเย็นและรุ่มรวยมั่งคั่ง ตามสภาพการค้าข้ามทะเลทรายที่กำลังเฟื่องอย่างมาก

จวบจนเข้าสู่ราชวงศ์ซ่ง ก็ยังมีการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างสรรค์รูปสลักใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทว่าในช่วงเวลานี้เองที่สภาพเศรษฐกิจบริเวณดังกล่าวซบเซา ความสำคัญของเส้นทางสายไหมทางบกก็เริ่มเสื่อมถอยลง งานก่อสร้างถ้ำผาม่อเกาคูก็เริ่มถูกปล่อยปละละเลย จนกระทั่งมาถึงหลังสมัยราชวงศ์หยวน การก่อสร้างที่ยาวนานข้ามสหัสวรรษจึงยุติลง ม่อเกาคูจึงกลายเป็นถ้ำรกร้าง เงียบเหงาไร้เงาผู้คน


บ่อน้ำเย่ว์หยาเฉวียน จุดท่องเที่ยวลือชื่อของเมืองตุนหวง

ครั้นล่วงเข้าสู่รัชสมัยคังซีแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ถ้ำผาม่อเกาคูจึงค่อยๆกลับมาดึงดูดความกระหายของชาวโลกอีกครั้ง ด้วยการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในปีค.ศ.1900 จนในปัจจุบัน เมื่อเส้นทางสายไหมได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ถ้ำผาม่อเกาคูก็กลายสภาพจากสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนา มาเป็นจุดท่องเที่ยวหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานบนเส้นทางวัฒนธรรมอันโด่งดังสายนี้

เช่นเดียวกับเมืองเกษตรกรรมอย่างตุนหวงในยุคนั้น ก็พลิกโฉมมาเป็นเมืองท่องเที่ยว โด่งดังจนติดกลุ่มเมืองท่องเที่ยวดีเด่นรุ่นแรกของประเทศ ในช่วงปี ค.ศ.1998


ภาพเขียนลีลานางฟ้า แบบฉบับของศิลปะตุนหวง

เมืองตุนหวงก็คล้ายคลึงกับเมืองเอกอีกหลายเมือง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นดินใหญ่ บนอดีตเส้นทางสายไหม ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และซึมซับรับงานศิลปะจากเอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออก เอเชียกลาง และยุโรปมาไว้ด้วยกัน ทั้งนี้การผสมผสานความหลากหลายนี้ได้แทรกซึมอยู่ในงานศิลปะรูปแบบต่างๆในถ้ำผาม่อเกาคู และที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดในหมู่งานศิลปะทั้งมวลที่ถ้ำผาแห่งนี้ คือ ประติมากรรมรูปสลักเขียนสี และภาพจิตรกรรมที่ผนังถ้ำ

ศิลปะตุนหวง ได้พัฒนาขึ้นบนรากฐานของพุทธศิลป์จีนแห่งจงหยวน ของชนชาติฮั่น ที่ซึมซับและผสมผสานงานศิลปะแห่งชนชาติพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ เช่น ศิลปะอินเดีย ศิลปะกรีก และศิลปะเปอร์เซียจากอิหร่าน จนพัฒนาขึ้นเกิดเป็นความงามวิจิตรเพริศแพร้ว

งานศิลปะที่พบที่ถ้ำผาม่อเกาคูโดยส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์สุยและถัง แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศแห้งแล้งในทะเลทราย ทำให้งานศิลปะบางส่วนถูกทำลายไปตามธรรมชาติ ปัจจุบันยังคงหลงเหลืองานศิลปะที่สมบูรณ์อยู่น้อยมาก


รูปปั้นสลักเขียนสี งานศิลปะที่ขึ้นชื่อของถ้ำผาม่อเกาคู (ซ้าย-รูปปั้นพระโพธิสัตว์ ในคูหาหมายเลข 438 ก่อนสมัยราชวงศ์สุย ขวา-รูปปั้นศิลปะสมัยถังยุครุ่งเรือง ในคูหาที่ 45)

งานประติมากรรมรูปสลักเขียนสี
หินในถ้ำที่ม่อเกาคูนี้มีลักษณะร่วน ไม่เหมาะแก่การแกะสลัก จึงนิยมปั้นเป็นรูปสลักที่ทำขึ้นจากดินเหนียว เหตุนี้เองรูปสลักที่สร้างขึ้นก่อนสมัยราชวงศ์ถังจึงไม่เหลือจนมาถึงปัจจุบัน งานประติมากรรมรูปสลักเขียนสี ที่ปรากฏอยู่ภายในถ้ำผานับร้อยๆคูหานั้น สลักเป็นรูปต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปสลักพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระสาวก เทวดา อสูร เทพองค์รักษ์ ฯลฯ ด้วยรูปทรงหลากหลาย ทั้งรูปทรงกลม รูปสลักนูน รูปสลักเป็นฉากกั้น และที่สร้างขึ้นด้วยกุศลจิต รูปสลักที่มีความสูงที่สุดวัดได้ 34.5 เมตร และที่เล็กที่สุดมีขนาดเพียง 2 เซนติเมตร


ภาพนักดนตรีเล่นเครื่องคนตรีชนิดต่างๆ ในยุคกลางของสมัยราชวงศ์ถัง อันทรงคุณค่าด้านคีตศิลป์โบราณของจีน

ภาพจิตรกรรมที่ผนังถ้ำ
ภาพที่เขียนตามผนังถ้ำที่ม่อเกาคู มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ฉากทิวทัศน์ ภาพสิ่งก่อสร้าง สวนดอกไม้ เทวดานางฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ภาพจิตรกรรมผนังถ้ำได้สะท้อนค่านิยมและสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของสังคมศักดินาของจีน ตามยุคสมัยต่างๆกันในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุค 16 แคว้นจนถึงยุคราชวงศ์ชิง จึงเปรียบเสมือน ‘ตำราประวัติศาสตร์ศิลป์’ อันทรงคุณค่าของชาติ


ภาพจิตรกรรมฉากการรบในสงคราม บนผนังถ้ำม่อเกาคู หมายเลข 285 ศิลปะก่อนสมัยราชวงศ์สุย

อาจกล่าวได้ว่า คุณค่าที่รวมอยู่ในหินทุกก้อน ณ ถ้ำผาแห่งนี้ ไม่เพียงอบอวลอยู่ในศิลปะที่งามสง่าอลังการ หากทว่ายังซุกซ่อนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ หลังผ่านกาลเวลามาหลายชั่วอายุคน ซึ่งทุกวันนี้ยังคงฉายเงาแห่งความรุ่งโรจน์ ท้าทายความวิริยะอุตสาหะของชาวจีนรุ่นหลัง ในการหวงแหนรักษาคุณค่าเหล่านี้ให้ดำรงสืบไป

ข้อมูล
มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปี 1987

ที่ตั้ง : เขา(เนินทราย)หมิงซาซัน ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองตุนหวง 25 กิโลเมตร ในมณฑลกันซู่

สร้างเมื่อ : เริ่มก่อสร้างในปีเฉียนฉินเจี้ยนหยวนที่ 2 (ค.ศ. 366 สมัยจิ้นตะวันออก) ถึงสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368)

อาณาเขต : ความยาวจากเหนือจรดใต้ 1,680 เมตร


รูปสลักเขียนสีต่างอารมณ์ของ พระสาวก พระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าแห่งสวรรค์ ในคูหาที่ 45 สัญลักษณ์ของยุคทองแห่งศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง

ข้อมูลท่องเที่ยว
ราคาบัตร : บัตรชมถ้ำผาม่อเกาคูราคา 80 หยวน (มีบริการให้เช่าไฟฉาย) แหล่งโบราณคดีอี้ว์เหมินกวน 30 หยวน หยางกวน 20 หยวน

ขี่อูฐเดินทางในทะเลทรายระยะใกล้ ราคาประมาณ 80 หยวน ระหว่างทางมีช่างภาพบริการถ่ายรูปให้ เก็บเงินที่ปลายทาง 20 หยวน (หากท่านใดไม่ต้องการ สามารถปฏิเสธได้)

ที่พักมีตั้งแต่ราคา 15 -50 หยวน / คน / วัน ทั้งที่เป็นโรงแรม และเกสต์เฮ้าส์แบบห้องรวม 4 คน

การเดินทาง : มีเครื่องบินสายการบินในประเทศ บินจากเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น ฉงชิ่ง เฉิงตู ซีอัน อูหลู่มู่ฉี ฯลฯ ลงจอดที่เมืองตุนหวง หรือเลือกเดินทางโดยรถไฟ ลงที่สถานีหลิ่วหยวน(柳园站) แล้วต่อรถยนต์เข้าเมืองตุนหวงอีก ราว 2 ชม. มีรถ 2 ชนิดเข้าเมืองตุนหวง คือ รถบัสโดยสารขนาดกลาง ราคาตั๋ว 10-15 หยวน ต้องรอจนผู้โดยสารเต็มรถจึงออกได้ และบริการให้เช่ารถยนต์ซันตาน่า ราคาประมาณ 100-120 หยวน

อาหารแนะนำ : เนื้อย่างของชนชาติหุย เครื่องดื่มที่เหมาะกับการเดินทางในทะเลทราย คือ น้ำเปลือกต้นเหงบริสุทธิ์ (杏皮水) มีจำหน่ายทั่วไปราคาต่ำสุด 1 หยวน / แก้ว

ข้อควรระวัง : เมืองตุนหวงเป็นเมืองท่องเที่ยวเก่าแก่ ข้าวของราคาค่อนข้างแพง เดินทางในทะเลทรายควรเตรียมอุปกรณ์กันแดดให้พร้อม เพราะแดดจัดมาก ให้ดีควรดื่มน้ำมากๆ ทานผลไม้ทุกวัน และติดยาอมแก้เจ็บคอไปด้วย เดินทางขึ้นเนินทรายหมิงซาซัน ควรสวมรองเท้าโปร่งไม่มีส้น ช่วงเดือนที่เหมาะกับการท่องเที่ยวตุนหวงที่สุด คือ มิถุนายน-กันยายน

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง : เมืองเก่าซาโจว(沙洲古城) เนินทรายหมิงซาซัน และบ่อน้ำเย่ว์หยา(月牙泉) มีบริการรถรับส่ง 30 หยวน / คน สามารถเดินทางไปกลับใน 1 วัน สำหรับแหล่งโบราณคดีอี้ว์เหมินกวน(玉门关) และหยางกวน(阳关) ต้องใช้เวลาเดินทางและเที่ยวอย่างน้อย 2 วัน


ไปข้างบน