หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook
อ่านมิลินทปัญหา คลิกที่นี่
อ่านจตุคามรามเทพ  คลิกที่นี่
อ่านฐานิโยธรรม  คลิกที่นี่
อ่านฮาธรรมะ พระพยอม  คลิกที่นี่
ขอต้อนรับสู่ โรงแรมเดอะริช

ม่อเกาคู : จากแรงศรัทธาสู่รอยจารึก (1)


รูปปั้นพระพุทธรูปในถ้ำหมายเลข 45 (ยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ถัง) ณ ถ้ำหินสลักม่อเกา (莫高窟) แห่งตุนหวง

จากเจียยู่กวน รถบัสวิ่งปุเลง ปุเลง ฝ่าทะเลทราย และเปลวแดด ไอร้อนจากผืนดินทำให้ผมต้องกระดกน้ำหยดสุดท้ายจากก้นขวด ก่อนวางขวดพลาสติกเปล่าขวดที่สามไว้ข้างเพื่อนๆ ของมัน ......

จริงๆ แล้วระยะทางระหว่าง เจียยู่กวนกับตุนหวงนั้นไม่ไกลกันมากนัก เพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร แต่วันนี้คงเป็นโชคร้ายของผมที่ถนนเชื่อมระหว่างสองเมืองนี้กำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซม ทำให้เวลาเดินทางที่ควรจะเป็นสี่ชั่วโมง ต้องเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าตัว

เบื้องลึกในจิตใจของนักเดินทางแล้ว ตุนหวง (敦煌; ชื่อตุนหวงนี้มีมาตั้งแต่ 111 ปีก่อนคริสตศักราชในสมัยฮั่นตะวันตก)' เป็นนามอันศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่อดีตกาล เพราะพื้นที่แห่งนี้คล้ายเป็นโอเอซิส ผืนสุดท้ายของนักเดินทาง เป็น 'ประตูสู่แดนตะวันตก (西域的门户)' ของพ่อค้าและนักเดินทางผู้ที่กำลังจะก้าวเท้าข้ามไปสู่ดินแดนอันไกลโพ้นทางตะวันตก แต่ในทางกลับกันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากแดนตะวันตก ตุนหวงถือเป็น 'ประตูชัย' ที่นำพาพวกเขาผ่านเข้าสู่แผ่นดินจีนด้วยเช่นกัน

สำหรับนักเดินทางแล้ว 'ทะเลทราย' ช่างเป็นชื่อที่น่าสะพรึงเสียนี่กระไร ความเวิ้งว้าง พายุทราย แดดที่แผดเผา ลำคอที่แห้งผาก ฯลฯ อย่าว่าแต่ในอดีตกาล แม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปมากแล้ว แต่การเดินทางข้ามผ่านทะเลทรายทางบกก็มิใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใด

นับเป็นพันปีแล้วที่เมื่อ พระสงฆ์ พ่อค้า นักแสวงโชค นักเดินทางทั้งหลาย เลียบผ่านระเบียงเหอซีบากบั่นมาจนถึงสถานที่ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่าตุนหวง ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางออกไปสัมผัสกับทะเลทรายอันโหดร้ายของแดนตะวันตกก็จะต้องหยุดพักผ่อนเพื่อ เตรียมสัมภาระ เตรียมร่างกาย และที่สำคัญที่สุด - - - เตรียมจิตใจ ให้พร้อมรับกับเส้นทางหฤโหด


แผนที่โดยคร่าวของเส้นทางสายไหม สังเกตว่าจากซีอานเมื่อเดินทางถึงตุนหวง เส้นทางสู่ดินแดนตะวันตกจะแยกออก โดยทางหนึ่งผ่านทางด่านยู่เหมิน (玉门关) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองตุนหวงห่างออกไปราว 102 กิโลเมตร อีกทางหนึ่งผ่านทางด่านหยาง (阳关) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากเมืองตุนหวงไปราว 70 กิโลเมตร

ปี ค.ศ.366 ช่วงเย็นย่ำของวันหนึ่ง ขณะที่พระสงฆ์นามเย่ว์จุน (乐僔) ธุดงค์ผ่านดินแดนที่อยู่บริเวณภูเขาหินทรายสองลูกคือ ซานเวยซาน (三危山) และ ม่อเกาซาน (莫高山) แสงตะวันยามพลบค่ำสาดสะท้อนกับภูเขาซานเวยซานส่องเป็นแสงทองเหลืองอร่าม เมื่อท่านเพ่งมองก็พบว่าเมื่อสะท้อนกับแสงอาทิตย์ยามอัสดงก้อนหินและโพรงตะปุ่มตะป่ำบนหน้าผาของเขาซานเวยซานคล้ายกับพระพุทธรูปนับพันๆ องค์ กำลังเปล่งประกายรัศมีออกมา

พระเย่ว์จุนเมื่อพบเห็นกับปาฏิหาริย์ดังกล่าวจึงหยุดลงปฏิบัติภาวนา จากนั้นเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ณ ดินแดนแห่งนี้คงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตย์อยู่เป็นแน่แท้ ท่านจึงตัดสินใจลงมือขุดถ้ำเพื่อสร้างพระพุทธรูป และสร้างที่บำเพ็ญภาวนา ณ เนินผาด้านตรงข้าม นี่เองคือตำนานจุดเริ่มต้นของ ถ้ำหินสลักม่อเกาคู (莫高窟) แห่งตุนหวง

ทั้งนี้ ขณะที่สร้างถ้ำหินสลักนั้น พระเย่ว์จุนมีความคิดว่า "พระพุทธรูปนับพันองค์ที่อาตมาพบเห็นนั้น แสดงให้เห็นว่า มิเพียงแต่คนระดับเจ้าชายสิทธัตถะ กษัตริย์ ฮ่องเต้ เท่านั้นที่สามารถบรรลุนิพาน เข้าถึงสัจธรรมได้ แต่พระธุดงค์อย่างข้า หรือสามัญชนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงต่างก็สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้เช่นกัน ทุกชีวิตต่างเท่าเทียม ลึกเข้าไปภายในทุกคนต่างมีจิตวิญญาณของพระพุทธองค์ และทุกคนสามารถที่จะบรรลุธรรมได้เช่นพระพุทธองค์ ..... "

ต่อมาได้มีพระเซ็น (禅) อีกรูปหนึ่งนามฝ่าเหลียง (法良) ตามรอยพระเย่ว์จุนเข้ามาสร้างพระพุทธรูปและปฏิบัติธรรม ณ เขาม่อเกาด้วย หลังจากนั้นศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบเข้ากับการที่ตุนหวงเป็น 'ประตูสู่ดินแดนตะวันตก' ซึ่งผู้เดินทางจะต้องผ่านไม่ว่าจะเข้าสู่ดินแดนจีนหรือออกสู่ทะเลทรายอันเวิ้งว้างของดินแดนตะวันตก ทำให้ผู้คนเริ่มนิยมมาทำบุญ บำเพ็ญภาวนาที่ตุนหวงด้วยการปั้นพระพุทธรูป แกะสลัก วาดภาพฝาผนัง ฯลฯ สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางจากดินแดนตะวันตกมาถึงจีน การกระทำดังกล่าวนั้นก็เพื่อแสดงความขอบคุณที่พระพุทธองค์คุ้มครองตนให้เดินทางมาถึงตุนหวงได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้ที่กำลังจะเดินทางออกไปยังดินแดนตะวันตกก็กระทำเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับการเดินทางของตัวเอง


หน้าผาที่เรียงรายไปด้วยถ้ำน้อยใหญ่นับร้อยของถ้ำหินสลักม่อเกา

นับจากนั้นมา ภูผาในบริเวณเขตตุนหวงโดยเฉพาะ ที่ถ้ำหินสลักม่อเกา ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมของพุทธศิลป์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาดฝาผนัง ภาพวาดบนผ้าไหม รูปแกะสลัก ประติมากรรม พระพุทธรูป จากทั่วทุกสารทิศ นอกจากนี้แล้วยังบรรจุไว้ด้วยพระคัมภีร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของหลายชนเผ่า-ภาษา ภาพวาดวิถีชีวิตของคนทุกระดับชั้น ในยุคสมัยต่างๆ ฯลฯ (หมายเหตุ : ถ้ำหินสลักตุนหวง (敦煌石窟) นั้นมิได้หมายความถึงเพียงแค่ถ้ำหินสลักม่อเกา เพียงแห่งเดียว แต่ยังหมายความถึงถ้ำอื่นๆ ในบริเวณตุนหวงด้วยเช่น ถ้ำพันพระแห่งตะวันตก (西千佛洞) ถ้ำหินสลักอันซีอี๋ว์หลิน (安西屿林) อีกด้วย)

ในช่วงระยะเวลาราวพันกว่าปีของการสร้างและทำนุบำรุงถ้ำหินสลักตุนหวงนั้น สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุด โดยในสมัยถังนั้นบริเวณตุนหวงปรากฎถ้ำหินสลักมากกว่า 1,000 แห่ง เฉพาะถ้ำหินสลักม่อเกาแห่งเดียวก็มีพระพุทธรูปมากกว่า 1,000 องค์แล้ว ทั้งนี้ถ้ำของม่อเกาคูนั้นเรียงรายอยู่บนหน้าผาภูเขาม่อเกาซานเป็นทางยาวกกว่า 1.6 กิโเลเมตร และยังมีการแบ่งถ้ำออกเป็นชั้นๆ หลายซับหลายซ้อน จนคล้ายกับเป็นหมู่บ้านบนผาหิน

อย่างไรก็ตาม หลังจากราชวงศ์ถังล่มสลายลง ด้วยอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่แผ่เข้ามายังดินแดนในแถบระเบียงเหอซี ส่งให้ถ้ำหินสลักของตุนหวงนั้นไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองดังเช่นอดีตได้อีกเลย ตราบกระทั่งในสมัยของราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) ถ้ำม่อเกาก็ก้าวเข้าสู่ยุคของการสาบสูญ

ทำไมถ้ำหินสลักขนาดมหึมาอย่างม่อเกาจึงสาบสูญไปได้?


พระโพธิสัตว์อันงดงาม หนึ่งในเอกลักษณ์ของม่อเกาคู ณ ถ้ำหมายเลข 45

จริงๆ คำตอบของคำถามนี้นั้นถึงปัจจุบันยังคงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ขณะที่สมมติฐานของนักโบราณคดี และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวก็มีความแตกต่างและหลากหลายออกไปมาก

สมมติฐานที่ปรากฎขึ้นแรกๆ นั้นมาจาก Paul Pelliot นักผจญภัยชาวฝรั่งเศสผู้เดินทางมาถึงถ้ำหินสลักม่อเกาเป็นคนแรกๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดย Pelliot ระบุว่าจากการรุกรานเข้าสู่พื้นที่แถบตุนหวงของชนเผ่าซีเซี่ย (西夏) ทำให้พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ ณ ถ้ำม่อเกาต้องซ่อนพระไตรปิฎก คัมภีร์ วัตถุโบราณ และปิดตายถ้ำแห่งนี้เอาไว้ให้รอดพ้นจากสายตาของพวกซีเซี่ย

สมมติฐานอีกประการหนึ่งที่ตั้งไว้ตรงกันข้ามกับ Pelliot นั้นมาจากนักโบราณคดีชาวจีน โดยนักโบราณคดีชาวจีนนามเฉียนป๋อเฉวียน (钱伯泉) ระบุว่าสาเหตุที่ถ้ำหมายเลข 17 (หมายเลขถ้ำที่ระบุนี้ เป็นการให้หมายเลขของนักโบราณคดีรุ่นหลัง เพื่องายแก่การศึกษา) ถ้ำที่มีการค้นพบวัตถุโบราณไว้มากที่สุดของม่อเกาคู นั้นถูกปิดลงก็อันเนื่องมาจาก ในปี ค.ศ.1093 ชนเผ่าซีเซี่ยซึ่งในเวลานั้นครองดินแดนในแถบตุนหวงอยู่ถูกโจมตีจากกองทัพผสมระหว่างกองทัพของอาณาจักร Karakhanid (ชนเผ่าอุยกูร์ ที่นับถือศาสนาอิสลาม) กับกองทัพของราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ขุนนางของซีเซี่ยต้องหลบหนีออกจากบริเวณตุนหวง โดยก่อนหลบหนีไปขุนนางซีเซี่ยได้ปิดซ่อนถ้ำพระพุทธรูปเหล่านี้เอาไว้เพื่อไม่ให้ถูกกองทัพของพวก Karakhanid ที่เป็นมุสลิมบุกเข้ามาทำลาย


จิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหมายเลข 112 เป็นรูปนางรำกำลังเล่นผีผาในท่าพิสดาร (反弹琵琶) โดยนอกจากจิตรกรรมฝาผนังชิ้นนี้จะงดงามยิ่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของจิตรกรสมัยถังอีกด้วย

ขณะที่สมมติฐานอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 ประเทศซึ่งนับถือศาสนาพุทธและมีอิทธิพลในแถบตุนหวงนามว่า อี๋ว์เถียน (于阗 ; รัฐแห่งหนึ่งที่ในสมัยฮั่นตะวันตกหันมานับถือศาสนาพุทธ และในสมัยซ่งเหนือได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม) ถูกอาณาจักรอิสลามที่แผ่นอาณาเขตมาจากดินแดนตะวันตก (มณฑลซินเกียงในปัจจุบัน) เข้าโจมตี ทำให้พระสงฆ์ของอี๋ว์เถียน ที่อาศัยอยู่ในตุนหวงต้องรีบเก็บซ่อนทรัพย์สิน วัตถุโบราณต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ และปิดถ้ำม่อเกาไว้ ก่อนเดินทางกลับไปยังอี๋ว์เถียน อย่างไรก็ตามด้วยสาเหตุที่ในเวลาต่อมาประเทศอี๋ว์เถียนเสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็วจากการศึกสงคราม และเหล่าพระสงฆ์ที่รับรู้ถึงถ้ำม่อเกาต่างก็ทยอยเสียชีวิตไปกันหมด ทำให้ไม่มีใครมีโอกาสได้กลับมาที่ตุนหวงอีกเลย

เวลาผ่านไป ผ่านไปนับเป็นร้อยๆ ปี ถ้ำหินสลักม่อเกา ได้หายสาบสูญไปจากการรับรู้ของมนุษยชาติ ......


ภาพนางฟ้าเหิน (เฟยเทียน:飞天) หนึ่งในจิตรกรรมแห่งถ้ำหินสลักม่อเกา ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศจีน


ไปข้างบน