ถ้ำผาหยุนกัง ที่ต้าถง พลังศรัทธาแห่งบวรพุทธศาสนา
นับตั้งแต่ภิกษุผู้ใหญ่นาม ถันเยี่ยนเฟิ่ง ได้ดำริให้มีการขุดเจาะถ้ำผาที่เชิงเขาอู่โจวซัน จวบจนถึงวันนี้ ‘ถ้ำผาหยุนกัง’ ได้เปล่งพลังศรัทธาแห่งบวรพุทธศาสนา มายาวนานถึง 1,500 กว่าปีแล้ว ถ้ำผาหยุนกังใช้เวลาในการดำเนินการขุดเจาะถ้ำ และช่องเขาทั้งที่ปรากฏเป็นคูหาใหญ่และเล็กรวมทั้งสิ้นเกือบ 50 ปี ใช้แรงงานช่าง 40,000 กว่าคน ในจำนวนนี้มีผู้มีจิตศรัทธาจากประเทศศรีลังกาเดินทางมาร่วมในการรังสรรค์ผลงานครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
รูปสลักพระอมิตตาพุทธ ที่ถ้ำผาหยุนกัง
กลุ่มโบราณสถานถ้ำผาหยุนกังที่เห็นในปัจจุบัน คือส่วนที่ทางรัฐบาลจีนได้ประกาศในปีค.ศ.1961 ให้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ อาณาบริเวณทั้งหมดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ถ้ำผาทิศตะวันออก กลาง และทิศตะวันตก โดยที่กึ่งกลางคูหาในแต่ละถ้ำจะมีแท่นบูชาพระพุทธรูป รูปคชสารถวายรวงผึ้ง และช่องเขาใหญ่กลางเล็กกระจายอยู่แน่นขนัด
บริเวณถ้ำผาทิศตะวันออกส่วนใหญ่มีหินสลักรูปเจดีย์เป็นหลัก ซึ่งเดิมทีเรียก ‘ถ้ำเจดีย์’ ส่วนถ้ำผาส่วนกลางในแต่ละถ้ำจะแบ่งเป็นห้องด้านหน้าและหลัง มีพระประธานประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ทั่วผนังถ้ำและตามกำแพงเต็มไปด้วยประติมากรรมสลักนูน
สำหรับบริเวณถ้ำทิศตะวันตก เต็มไปด้วยช่องเขาขนาดกลางและเล็ก และเสริมแต่งด้วยแท่นบูชาขนาดย่อม งานสลักในถ้ำส่วนนี้ได้รับการบูรณะหลังสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะภายหลังจากย้ายเมืองหลวงจากเว่ยเหนือมาที่เมืองลั่วหยัง ในยุคราชวงศ์เหนือ
งานศิลปะที่ปรากฏอยู่ทั่วถ้ำผาหยุนกังงามวิจิตรด้วยฝีมือแกะสลักอันละเอียดลออ อีกด้านหนึ่งก็เต็มไปด้วยมนต์ขลัง อลังการโอ่อ่าน่าเกรงขาม และยังสะท้อนถึงศิลปะและเทคนิคการสลักเสลาหินผาอันล้ำเลิศ ที่เจริญรุ่งเรืองและตกทอดมาจากต้นแบบในสมัยฉิน-ฮั่น นอกจากนี้ยังผสมผสานศิลปะคันธารของอินเดียมาไว้อย่างกลมกลืน นับเป็นงานศิลปะที่ควรค่าในการศึกษาทั้งในแง่ศิลปศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์
ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาเรื่องราวที่อยู่บนภาพสลักนูนในถ้ำผาแห่งนี้ ยังเก็บงำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีค่ายิ่งต่อการศึกษาด้านโบราณคดี คติความเชื่อ และดนตรีในยุคโบราณด้วย
ดังเช่น ภาพประกอบที่สาม ซึ่งเป็นภาพภายในถ้ำผาหยุนกังคูหาที่ 6 ณ กึ่งกลางถ้ำประกอบด้วยเสาเจดีย์ 2 ชั้นสูง 15 เมตร ยอดเสาเชื่อมต่อกับเพดานถ้ำ แต่ละชั้นมีรูปสลักทั้งสี่ด้าน เป็นรูปพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ และนางฟ้า เพดานถ้ำแกะสลักรูปเทวดาทรงพาหนะต่างๆ 33 องค์ ที่ผนังถ้ำแกะสลักเป็นเรื่องราวของการแสดงธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รูปสลักนางฟ้า ในถ้ำผาหยุนกังคูหาที่ 6
แม่แบบศิลปะถ้ำเชื้อสายจีน
ประติมากรรมรูปสลักนูนที่ถ้ำผาหยุนกังเกิดขึ้นจากการเจาะสกัดหินบนผนังเขา มีความยาวกว้างใหญ่จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร ประกอบด้วยถ้ำผาใหญ่ 45 คูหา และช่องเขาใหญ่เล็กซึ่งเป็นแท่นบูชาพระพุทธรูปที่สำคัญ 252 แท่น รูปสลักนูนที่ปรากฏอยู่ทั้งภายในและภายนอกมากกว่า 51,000 ชิ้น
รูปสลักขนาดใหญ่สุดสูงถึง 17 เมตร เล็กสุดสูงไม่กี่เซนติเมตร รูปสลักพระโพธิสัตว์ ยักษ์ และนางฟ้าอรชรอ่อนช้อยมีชีวิตชีวา งานสลักบนยอดเจดีย์วิจิตรตระการตา สะท้อนศิลปะแนวเหมือนจริง (เรียลลิสม์ Realism)ในยุคสมัยฉิน-ฮั่น ( 221-220 ก่อนคริสต์ศักราช) ขณะเดียวกันยังเป็นต้นธารของศิลปะแนวจินตนิยม (โรแมนติก Romanticism) ในยุคราชวงศ์สุย-ถัง (ค.ศ.581-907)
รูปสลักพระโพธิสัตว์ในคูหาที่ 11 ซึ่งตกแต่งด้วยเสาเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม แกะสลักทั้งสี่ด้านด้วยรูปพระพุทธเจ้า ด้านตรงสลักรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างสมบูรณ์ ตามผนังเจาะเป็นช่องแท่นบูชาเล็ก ภายในบรรจุพระพุทธรูปองค์เล็ก และรูปสลักต่างๆ
เนื่องจากใช้เวลาในการก่อสร้างข้ามรัชกาลถึงครึ่งศตวรรษ ทำให้รูปสลักหินที่ถ้ำผาแห่งนี้มีความแตกต่างซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัยด้วยกัน คือ ยุคแรก ยุคกลาง และยุคหลัง
โดยรูปสลักในยุคแรกนั้นจะมีลักษณะยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม เรียบง่ายแต่มีพลัง แสดงออกด้วยอารมณ์บริสุทธิ์ใสซื่อ ในขณะที่รูปสลักของยุคกลางกลับมีรายละเอียดมาก งานสลักประณีตบรรจง การประดับตกแต่งด้วยเครื่องทรงอลังการ ซึ่งสะท้อนศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ในสมัยราชวงศ์เหนือที่เต็มไปด้วยลวดลายงามวิจิตร ขณะเดียวกันก็โอ่อ่ารโหฐาน
ส่วนรูปสลักในยุคหลังนั้น ถึงแม้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่มีฝีมือการแกะสลักที่สามารถถ่ายทอดภาพลักษณ์ของบุคคลที่มีความสะโอดสะอง และความรูปงามหล่อเหลาได้อย่างมีแบบแผน ทั้งนี้รูปแบบการสลักหินเช่นนี้ยังถือเป็นแม่แบบของความงามทางศิลปะ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแถบภาคเหนือของจีนในเวลาต่อมา
รูปสลักที่ถ้ำผาหยุนกังนอกจากจะนำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับมหรสพดนตรี เครื่องดนตรีโบราณ การละเล่น กายกรรมต่างๆในยุคอดีต ซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ยังสะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา และวิถีชีวิตในสังคมยุคราชวงศ์เหนือที่หาดูได้ยากอีกด้วย
พระพุทธรูปยืน ณ กิ่งกลางคูหาที่ 18 สูงราว 15 เมตร ห่มจีวรที่แกะสลักเป็นพระพุทธรูปพันองค์งดงามพลิ้วไหว
ในด้านศิลปะแล้ว ถ้ำผาหยุนกังมีลักษณะเป็นพุทธศิลป์แบบจีน ที่มีวิถีการเจริญงอกงามมาจากพุทธศิลป์ของอินเดียและพุทธศิลป์แถบเอเชียกลาง เป็นกระจกสะท้อนถึงกระบวนการสรรสร้างประติมากรรมทางศาสนาพุทธที่ค่อยๆแผ่ขยายเข้ามาสู่ประเทศจีน และสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตชนชาวจีนซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงพัฒนาขึ้นเป็นศิลปะเฉพาะตัวนามว่า ‘ศิลปะแบบหยุนกัง’ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในเส้นทางการเจริญเติบโตของพุทธศิลป์ในจีนที่สำคัญ และยังส่งอิทธิพลถึงงานศิลปะถ้ำในที่ต่างๆของประเทศด้วย อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะถ้ำแบบหยุนกังเป็นจุดกำเนิดของรูปแบบงานศิลปะถ้ำเชื้อสายจีนโดยแท้
รูปสลักภายนอกถ้ำที่เจาะผนังเขาเป็นรูปพระพุทธรูป ที่คูหาหมายเลข 20
ถ้ำผาหยุนกังที่เมืองต้าถงเป็นสุดยอดของงานศิลปะรูปสลักหินของจีนแห่งยุคศตวรรษที่ 5 และเป็นหนึ่งในสามของขุมทรัพย์ด้านศิลปะการแกะสลักหินที่ลือนามไปทั่วโลก ทั้งนี้ถ้ำผาอันโด่งดังของประเทศจีนอีกสองแห่งคือ ถ้ำผาหลงเหมิน ในมณฑลเหอหนัน และถ้ำผาม่อเกาคูที่เมืองตุนหวง ในมณฑลกันซู่ ซึ่งงานประติมากรรมที่ถ้ำผาทั้งสองแห่งนี้ ก็ได้รับอิทธิพลจากงานแกะสลักหินของถ้ำผาหยุนกังระดับมากน้อยแตกต่างกันไปด้วย
ส่วนหนึ่งของรูปสลักในถ้ำผาหยุนกัง (ราชวงศ์เหนือ รัชสมัยซิงหยวนถึงไท่เหอ ปีที่ 18 ค.ศ.471-494)
รูปสลักองค์พระครึ่งบนที่ได้รับการดูแลรักษาในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ พระพักตร์กลมกลึงอิ่มเอิบ พระกรรณยาวคล้อยจรดพระอังสะ พระเนตรฉายแววเมตตา ห่มจีวรลวดลายประณีตบรรจง ท่วงท่าแข็งแกร่งเปี่ยมด้วยพลัง ผลงานที่เปรียบเสมือนเป็นเอกลักษณ์ของ ‘ศิลปะหยุนกัง’ (ภายนอกถ้ำคูหาที่ 20)
ภาพสลักภายในถ้ำ แต่ละคูหาจะมีพระประธานองค์ใหญ่ และช่องเขาเล็กใหญ่รายล้อมทั่วผนังถ้ำ ภายในช่องเขาเหล่านี้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์น้อย บ้างแกะเป็นเรื่องราวของพระพุทธองค์ นางฟ้า หรือเทวดา ฯลฯ
ข้อมูล
มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ.2001
ที่ตั้ง- เชิงเขาอู่โจวซัน ห่างจากเมืองต้าถงไปทางทิศตะวันตก 16 กิโลเมตร ในมณฑลซันซี
ปีที่สร้าง- เริ่มสร้างในปี ค.ศ.453 (ปีที่ 2 แห่งรัชสมัยซิงอัน ราชวงศ์เหนือ) สร้างเสร็จในปี ค.ศ.494
อาณาเขต- หินสลักบนผนังเขายาวราว 1 กิโลเมตร
ข้อมูลเดินทาง - เมืองต้าถงเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงปักกิ่ง (360 กม.) สามารถเดินทางสู่เมืองต้าถงด้วยรถยนต์หรือรถไฟ เมื่อลงที่สถานีรถไฟเมืองต้าถง มีรถโดยสารประจำทางสายพิเศษ มุ่งสู่แหล่งท่องเที่ยวถ้ำผาหยุนกัง หรือนั่งรสบัส (5 หยวน) หรือใช้บริการเท็กซี่ (ราคาประมาณ 30 หยวน)
ราคาบัตรผ่านประตู - 60 หยวน (ควรใช้บริการไกด์นำเที่ยวอธิบายระหว่างชม)
แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในเมืองต้าถง - เขาอู่ไถซัน(五台山) วัดเสวียนคง(悬空寺)ราคาบัคร 60 หยวน เขตทิวทัศน์เขาเหิงซัน(恒山) ราคาบัตรขึ้นเขา 20 หยวน ชมแหล่งท่องเที่ยวในวัดเก็บค่าตั๋วต่างหาก
|