หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ถ้ำผาหยุนกัง แห่งต้าถง มณฑลซานซี:ร่องรอยแห่งพุทธ (2)


พระใหญ่ จากถ้ำที่ 3 อันถือได้ว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดของ หยุนกังสือคู

การเดินชมถ้ำหินสลักหยุนกังที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ให้ชนรุ่นหลังได้ชมเพียง 45 ถ้ำ แต่ก็มีพระพุทธรูปรวมแล้วกว่า 51,000 องค์นั้น ถ้ำอยู่บนแนวหน้าผาของภูเขาอู่โจว (武州山) ที่ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถแบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนตะวันออก (ถ้ำที่ 1-4) เป็นส่วนที่แยกตัวออกมาจากถ้ำส่วนที่เหลือ โดยจุดเด่นของส่วนตะวันออกก็คือ รอยล้อรถศึกโบราณที่อยู่บนหิน และถ้ำ 3 อันถือได้ว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาถ้ำทั้งหมดที่มีใน หยุนกัง เนื่องจากหน้าผาของถ้ำมีความสูงถึง 25 เมตร แต่น่าเสียดายที่ ถ้ำที่ 3 และ 4 ต่างก็สร้างไม่เสร็จเพราะ ราชวงศ์เป่ยเว่ยได้มีการย้ายเมืองหลวงจาก นครต้าถง ไปยัง นครลั่วหยาง เสียก่อนเมื่อปี ค.ศ.494 เช่นเดียวกันกับ ถ้ำที่ 4 ซึ่งมีขนาดใหญ่น้องๆ ถ้ำที่ 3 ก็เป็นถ้ำที่สร้างไม่เสร็จ

ส่วนถ้ำที่ 1 และ 2 จะเป็นถ้ำคู่เชื่อมต่อกัน ที่สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ.470-493 ภายในบรรจุไว้ด้วย พระพุทธรูป และเจดีย์เล็กๆ ขนาด 3 ชั้น โดยนักโบราณคดีระบุว่า เจดีย์เช่นนี้นั้นมีประโยชน์มากสำหรับการศึกษารูปแบบการสร้างเจดีย์ในสมัยโบราณ


ถ้ำที่ 5 กับ พระพุทธรูปหินแกะสลักที่มีความสูงถึง 17 เมตร

ส่วนกลาง (ถ้ำที่ 5-20) ส่วนนี้เป็นถ้ำอันเรียกได้ว่าเป็น 'หัวใจ' ของถ้ำหินสลักหยุนกัง เนื่องจากงานแกะสลักยังคงมีความสมบูรณ์มากที่สุด และผสมผสานงานศิลปะจากหลายแหล่งอารยธรรมของโลก เข้าไว้ด้วยกัน มีร่องรอยของการการแกะสลักหินเป็นรูปอาวุธของชาวเปอร์เซียน ไบเซนไทน์ สามง่ามของชาวกรีก รวมถึง พระศิวะ พระวิษณุ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูของอินเดีย

ในบรรดาถ้ำส่วนกลาง ถ้ำที่น่าตื่นตะลึงมากที่สุด เป็นถ้ำคู่ ถ้ำที่ 5 และ ถ้ำที่ 6 โดยด้านหน้าของถ้ำสร้างค้ำไว้ด้วยโครงไม้ที่มีความสูงราวตึก 5 ชั้นและด้านในแบ่งเป็น 4 ห้อง

ถ้ำที่ 5 ประดิษฐานไว้ด้วยพระพุทธรูปนั่งที่มีความสูงถึง 17 เมตร และเป็นพระพุทธรูปหินสลักที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ใน ถ้ำหินสลักหยุนกัง ซึ่งสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ.470-493 ส่วนถ้ำที่ 6 ที่คู่กันนั้น เป็นถ้ำหินแกะสลักที่สูงประมาณตึก 2-3 ชั้น มีเสาใหญ่สี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง โดยเสาทั้งสี่ด้านนั้นแกะสลักพระพุทธรูปไว้อย่างวิจิตรงดงามยิ่ง


ความวิจิตรของการแกะสลักภายในถ้ำที่ 6 ซึ่งผนังด้านล่าง (ขวาล่างของรูป) มีการสลักภาพพุทธประวัติไว้ 33 ภาพ

ส่วนถ้ำที่ 6 นอกจากพระพุทธรูปอันหลากหลายที่ประดิษฐานอยู่แล้ว ก็ยังมีการสลักภาพพุทธประวัติไว้ 33 ภาพตั้งแต่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ จนถึงปรินิพพาน ขณะที่เมื่อเงยหน้ามองขึ้นไปยังเพดาน ก็จะพบกับงานแกะสลักพระพุทธรูป นางฟ้า เทวดา และสัตว์ในตำนาน สถิตย์อยู่ทุกแห่งหน ....


เพดานภายในถ้ำที่ 6

ถัดมาเป็นถ้ำคู่ ถ้ำที่ 7 และ 8 สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.470-493 แบบของการแกะสลักออกไปทางศิลปะแบบฮินดู ประดิษฐานไว้ด้วยพระศิวะ 8 กร 3 เศียร ประทับอยู่บนพระโค จะสังเกตได้ว่า นอกจากการแกะสลักแล้ว รูปสลักที่อยู่ในถ้ำทั้งสองนี้ยังหลงเหลือสีสันที่งดงามอยู่ เนื่องจากในสมัยชิง ถ้ำหินสลักหยุนกังได้รับการซ่อมแซมและบูรณะเพิ่มเติม


ความทรุดโทรม สังเกตได้จากความแตกต่างของสี

ถ้ำที่ 12 ได้ชื่อว่าเป็น ถ้ำแห่งดนตรี (音乐窟) เนื่องจากบรรจุเอาไว้ด้วยภาพของ เทพ เทวดา และนางฟ้าที่ต่างก็ถือเครื่องดนตรี หรือไม่ก็ออกท่าทางเต้นรำ โดยหินสลักในถ้ำนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ ในการศึกษา เครื่องดนตรีในสมัยเป่ยเว่ย ที่หลายชิ้นก็มีการตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ขลุ่ย ผีผา กลอง เจิ้ง ฯลฯ โดยผู้เชี่ยวชาญได้นับอย่างละเอียดแล้วว่า หมดทั้งถ้ำแห่งนี้มีการแกะสลักเครื่องดนตรีทั้งสิ้น 47 ชิ้นรวม 14 ประเภท


องค์พระเมตตรัยยะนั่งขัดสมาธิองค์ใหญ่ขนาดความสูงถึง 13 เมตร จากถ้ำที่ 13

ถ้ำที่ 13 เป็นถ้ำที่บรรจุไว้ด้วยองค์พระเมตตรัยยะนั่งขัดสมาธิองค์ใหญ่ขนาดความสูงถึง 13 เมตร ใส่มงกุฎอัญมณี ประดับด้วย สร้อยข้อมือ และสร้อยคอ ส่วนพระหัตถ์ด้านขวาก็ถูกหนุนไว้ด้วยพระพุทธรูปยืนองค์เล็ก


ถ้ำที่ 15 มีลักษณะยาวรีเหมือนเครื่องบิน ได้ชื่อว่าเป็น "ถ้ำพระพุทธ 1,000 รูป" นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักรูปสัตว์หลายชนิดอย่างเช่น นกและปลา

ถ้ำที่ 16 ถึง 20 เป็นถ้ำที่ถูกสร้างขึ้นในลำดับแรกๆ ของ ถ้ำหินสลักหยุนกัง โดยสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.460-465 โดยพระสงฆ์ผู้คุมการก่อสร้างมีนามว่า ถานเย่า (昙曜) จึงมีการเรียกรวมๆ กันว่า '5 ถ้ำถานเย่า' โดยถ้ำทั้ง 5 นี้ต่างก็ประดิษฐานไปด้วยพระพุทธรูปหินสลักองค์ใหญ่มหึมา สูงในระดับ 10 กว่าๆ ไปถึง 15-16 เมตร ทั้งนี้บางองค์นั้นฐานพระพุทธรูปอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นดินลงไป อันชี้ให้เห็นว่า การแกะสลักพระพุทธรูปในสมัยนั้นเริ่มจาก เศียรพระด้านบนไล่ลงมาด้านล่าง


สำหรับ ถ้ำที่ 20 อันเป็นถ้ำสุดท้ายของกลุ่มถ้ำส่วนกลาง ปัจจุบันองค์พระพุทธรูปที่สูง 13.7 เมตรนั้นประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เพราะกำแพงถ้ำพังไปตั้งแต่สมัยราชวงศ์เหลียว (ค.ศ.907-1125) นอกจากนี้พระยืนที่อยู่ด้านขวาขององค์พระก็พังไปด้วย เหลือแต่เพียงองค์ด้านซ้าย

ด้วยความที่ออกมาตั้งอยู่กลางแจ้งนี้เองทำให้ องค์พระพุทธรูปของถ้ำที่ 20 จึงคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ของ ถ้ำหินสลักหยุนกังไปโดยปริยาย


ส่วนตะวันตก (ถ้ำที่ 21-45) ส่วนใหญ่จะเป็นถ้ำเล็กถ้ำน้อยที่ถูกสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.494-525 หลังจาก ราชวงศ์เป่ยเว่ย ได้ย้ายนครหลวงจาก ต้าถง ไปยังลั่วหยางแล้ว โดยบางถ้ำแม้จะเล็กแต่ก็ประดิษฐานไปด้วยพระพุทธรูปหินสลักองค์เล็กๆ นับพัน

ระหว่างเดินชมทั้ง 45 ถ้ำ ผมพบว่า รูปสลักหินในบางแห่ง องค์พระพุทธรูปก็ไม่มีเศียร หรือบางองค์ก็ไม่มีพระหัตถ์ อันเป็นสิ่งที่น่าตกใจและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

การสูญเสียมรดกอันทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ เช่นนี้ สาเหตุหนึ่งก็มาจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในของจีนในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้เมื่อ การปฏิวัติวัฒนธรรม ใกล้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน นั้นได้มาเยือน ถ้ำหินสลักหยุนกัง ก็สั่งให้ทำการบูรณะอย่างเร่งด่วน ระหว่างปี พ.ศ.2517-2519


อย่างไรก็ตามด้วยความที่เมืองต้าถง เป็นเมืองอุตสาหกรรม เหมือนแร่ถ่านหิน ถ่านหินที่ต่างก็อยู่รายรอบที่ตั้งถ้ำหินสลักหยุนกัง ได้ส่งผลร้ายต่อการอนุรักษ์มรดกของโลกแห่งนี้ สังเกตได้จากพระพุทธรูปสลักต่างก็มอมฝุ่นถ่านหินไปตามๆ กัน ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 8 ของจีน (ระหว่าง พ.ศ.2534-2538) ทางรัฐบาลจีนจึงได้มีนโยบายปรับเปลี่ยนเส้นทางถนนให้อ้อมผ่านถ้ำหินสลักหยุนกังเสีย ทั้งยัง ออกแบบ ซ่อมแซม และบูรณะ สถานที่แห่งนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

องค์กรยูเนสโก ขึ้นทะเบียนถ้ำหินสลักหยุนกัง เป็นมรดกโลกไปแล้วเมื่อปลายปี 2544 ถ้ำหินสลักแห่งนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือน เมืองต้าถง แห่งมณฑลซานซี


องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ของไทยเราก็เคยเสด็จมาทอดพระเนตร ถ้ำหินสลักหยุนกังเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2543 ทั้งยังทรงพระอักษรเป็นภาษาจีนเป็นที่ระลึกทิ้งไว้ด้วย

Tips สำหรับการเดินทาง:
- การเดินทางจากตัวเมืองต้าถง ไป ถ้ำหินสลักหยุนกัง ค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะมีทั้งรถประจำทาง (ไปถามสายกันเอาเองนะครับ) หรือรถแท็กซี่ก็จะตกอยู่ที่ราว 20-30 หยวน (เที่ยวเดียว) หรือใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที

- หากไปถ้ำหินสลักหยุนกัง ช่วงหน้าร้อนควรพกร่มติดไปด้วย เพราะบริเวณที่เดินชมถ้ำหินสลักนั้นส่วนใหญ่อยู่นอกอาคาร

- หากเป็นนักเรียน บัตรนักเรียนจีน (学生证; ขอย้ำว่าบัตรนักเรียนอินเตอร์ ของ STA หรือที่ทำเอาแถวถนนข้าวสารไม่มีประโยชน์ที่เมืองจีนนะครับ) ยังคงมีประโยชน์สำหรับการเยี่ยมชม ถ้ำหินสลักหยุนกัง เพราะสามารถลดค่าเข้าชมจากราคาเต็ม 60 หยวน ได้เหลือครึ่งราคาเพียง 30 หยวน

- ถ้าเข้าไปเดินชมบริเวณถ้ำ 5-6 แล้วไฟดับกระทันหัน อย่าใจร้อนรีบไปเช่าไฟฉายจากพนักงานที่ดูแลด้านหน้า (ค่าเช่าครั้งละ 5 หยวน) เนื่องจากอาจเป็นวิธีการหลอกเงินนักท่องเที่ยวประการหนึ่ง


ไปข้างบน