หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ถ้ำหินสลักประตูมังกร แห่งลั่วหยาง (洛阳) มณฑลเหอหนาน:ร่องรอยแห่งพุทธ


วัดเฟิ่งเซียน (奉先寺) ณ ถ้ำหินสลักประตูมังกร (หลงเหมินสือคู:龙门石窟)

หนึ่งในสามสุดยอดศิลปะหินสลักแห่งแผ่นดินจีน ...... ถ้ำหินสลักประตูมังกร หรือ หลงเหมินสือคู (龙门石窟)

ถ้ำหินสลัก หรือ ที่ในภาษาจีนกลางเรียกว่าสือคู (石窟) นั้นถือเป็นมรดกตกทอดของศาสนาพุทธ ที่ยังเหลือทิ้งร่องรอยไว้ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียที่ ภูมิประเทศมีภูเขาหินตั้งอยู่เยอะ อย่างเช่น อินเดีย อัฟกานิสถาน และที่สำคัญคือ จีน โดยว่ากันว่าในประเทศจีนมีถ้ำหินสลักกระจายตัวอยู่นับร้อยแห่ง

อย่างไรก็ตาม ถ้ำหินสลักที่ขึ้นชื่อและถือว่าวิจิตรที่สุดในประเทศจีนนั้นมีอยู่ 3 แห่ง เรียงลำดับตามระยะเวลาการเริ่มสร้าง ก่อน-หลัง คือ

1.ถ้ำหินสลักม่อเกา (莫高石窟)แห่งตุนหวง (敦煌) มณฑลกานซู่

2.ถ้ำหินสลักหยุนกัง (云冈石窟) แห่งต้าถง (大同) มณฑลซานซี

3.ถ้ำหินสลักหลงเหมิน (龙门石窟) แห่งลั่วหยาง (洛阳) มณฑลเหอหนาน


แม่น้ำอี (伊河) กับ ถ้ำหินสลักประตูมังกร

สำหรับ ถ้ำหินสลักหยุนกัง และ ถ้ำหินสลักหลงเหมิน นี้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันอยู่ประการหนึ่งก็ คือ ถ้ำหินสลักทั้งสองแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยเว่ยเหนือ (เป่ยเว่ย:北魏)

หลังจากที่ศาสนาพุทธ หลั่งไหลมาตามเส้นทางสายไหม เริ่มเผยแพร่เข้ามาในประเทศจีนในสมัยฮั่นตะวันออก ล่วงเลยมาจนถึงสมัยเว่ยเหนือ ใน ยุคราชวงศ์เหนือใต้ (南北朝; ค.ศ.420-589) ศาสนาพุทธก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งให้ศาสนาพุทธแพร่หลายอย่างมากในช่วงเวลานั้น ก็คือ การได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจาก กษัตริย์ของเป่ยเว่ย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เผ่าเซียนเปย (鲜卑族)

เดิมทีนั้น เมืองหลวงของเป่ยเว่ยตั้งอยู่ ณ สถานที่ซึ่งปัจจุบันคือ เมืองต้าถง มณฑลซานซี และกษัตริย์ของเป่ยเว่ยก็มีดำริให้สร้างถ้ำหินสลักขนาดใหญ่โตมโหฬารขึ้นที่เมืองหลวง ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ถ้ำหินสลักหยุนกัง

ต่อมาในรัชสมัยของ เสี้ยวเหวินตี้ (孝文帝; ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 471-499) พระองค์ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครอง ภายใต้นโยบาย 'ทำให้เป็นฮั่น (汉化政策)' อันมีความหมายก็คือ ให้ชนกลุ่มน้อยพยายามเรียนรู้วัฒนธรรมจาก 'ชาวฮั่น' ชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมก้าวหน้ากว่าใครในตอนนั้น ส่งผลให้เกิดการเร่งกระบวนการหลอมรวมทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ทั้งนี้หนึ่งในนโยบายการทำให้เป็นฮั่นก็ คือ การย้ายเมืองหลวงจาก เมืองต้าถง มายังดินแดนภาคกลาง ก็คือ เมืองลั่วหยาง ในปี ค.ศ.494*

เมื่อย้ายเมืองหลวงมาแล้ว กษัตริย์ของเป่ยเว่ยก็ดำริให้มีการสร้างถ้ำหินสลักขึ้นอีกแห่ง และนั่นก็กลายเป็นต้นกำเนิดของ ถ้ำหินสลักหลงเหมิน อันเลื่องลือ

มีคำถามว่า ทำไมคนจีนเมื่อพันกว่าปีก่อน จึงนิยมแกะสลักถ้ำหินมากถึงเพียงนี้ ......

คำตอบของคำถามนี้นั้น มีความเกี่ยวโยงไปกับการแพร่หลายของศาสนาพุทธในประเทศจีน ก็คือ หลังจากราชวงศ์ฮั่นล่มสลายไปเมื่อปลาย ศตวรรษที่ 2 ประเทศจีนก็เข้าสู่ยุคสมัยของความแตกแยกเป็นเวลานานหลายร้อยปี โดยจะมีช่วงเวลาที่ประเทศรวมเป็นหนึ่งได้ก็เพียงสั้นๆ 50 กว่าปีในสมัยจิ้นตะวันตก (西晋; ค.ศ.265-316) เท่านั้น

ในช่วงเวลาที่ประเทศจีนแตกแยก เกิดภัยธรรมชาติ มีการทำสงครามอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ส่งผลให้ประชาชนทุกหัวระแหงได้รับความยากลำบากนั้น ก็นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการขยายตัวของศาสนาพุทธ เนื่องจากพุทธศาสนานั้นมีความเชื่อใน บุญ-บาป นรก-สวรรค์ โลกหน้า และ การเวียนว่ายตายเกิด

ความเชื่อเหล่านี้ นับได้ว่าเป็น แสงเทียนส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิด ที่นำทางและปลอบประโลม ผู้คนที่กำลังตกระกำลำบากอย่างแสนสาหัส ให้ยังคง 'มีความหวัง' ในการดำรงชีวิตต่อไป และก็เป็นแรงดึงดูดให้ ผู้คนในเวลานั้นหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้นเรื่อยๆ**

ทั้งนี้ในเวลาต่อมาแม้ ราชวงศ์สุย-ถัง ประเทศจีนจะรวมหนึ่งเดียวแล้วแต่อิทธิพลของศาสนาพุทธและการแกะสลักถ้ำหินเพื่อแสดงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา เช่นกัน ถ้ำหินสลักหลงเหมิน ก็ถือเป็นมรดกตกทอดจากอิทธิพลของศาสนาพุทธตั้งแต่ยุคแผ่นดินวุ่นวาย และเมื่อประเทศจีนเข้าสู่ยุครุ่งเรืองและเฟื่องฟูในสมัยราชวงศ์ถัง ความศรัทธาในศาสนาพุทธที่นำมาสู่การแกะสลักถ้ำหินก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย รวมระยะเวลาการแกะสลักแล้ว ยาวนานถึง 4 ศตวรรษ

ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ฮ่องเต้ถัง ชนชั้นเจ้านาย ขุนนาง เศรษฐี และสามัญชนในสมัยถัง ต่างก็ทะนุบำรุงศาสนาพุทธด้วยการมาแกะสลักพระพุทธรูปที่ถ้ำหินสลักหลงเหมิน ด้วยกันทั้งสิ้นเช่น ฮ่องเต้ถังไท่จง ถังเกาจง พระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน) โดยนอกเหนือจากการแกะสลักพระพุทธรูปแล้ว ยังมีการสลัก ศิลาจารึกอักษรจีน หมายเหตุบันทึก รวมถึง เจดีย์อีกจำนวนมหาศาล

แล้ว ถ้ำหินสลักหลงเหมินน้องเล็ก มีความแตกต่างจาก พี่ใหญ่ ถ้ำหินสลักม่อเกา และพี่รอง ถ้ำหินสลักหยุนกัง อย่างไรบ้าง

สำหรับเอกลักษณ์ที่แตกต่างของถ้ำหินสลักของจีนทั้งสามแห่งนั้น ได้มีผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายเอาไว้สั้นๆ ว่า 'ถ้ำหินสลักม่อเกา' เลื่องชื่อในเรื่องของรูปสลักสี-ภาพจิตรกรรมฝาฝนังสี 'ถ้ำหินสลักหยุนกัง' โดดเด่นในเรื่องการแกะสลักเจดีย์ไว้ในถ้ำ ส่วนพระพุทธรูปสลักของ 'ถ้ำหินสลักหลงเหมิน' นั้นถือว่างดงามที่สุด***

งดงามถึงขนาดที่ว่าได้รับการยกย่องเป็น 'หอศิลป์ของหินสลัก' เลยทีเดียว ......


ไปข้างบน