หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

'โปตะลา'พระราชวังแดงบนหลังคาโลก


พระราชวังโปตะลา

พระราชวังโปตะลา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลาซาบนเขาแดง มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,700 เมตร คำว่า ‘โปตะลา’ มาจากภาษาอินเดียโบราณหมายถึง ‘ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของพระโพธิสัตว์’

พระราชวังโปตะลา สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสรองตาสันคัมโปกษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งราชวงศ์ถู่ฟาน โดยมีชื่อว่า ‘พระราชวังแดง’ ต่อมาราชวงศ์ถู่ฟานล่มสลาย พระราชวังแห่งนี้จึงถูกทิ้งให้รกร้างทรุดโทรมลง จวบจนเมื่อศตวรรษที่17 พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในดินแดนแห่งนี้

ในปีค.ศ. 1642 องค์ทะไลลามะที่ 5 ได้รวมอำนาจของศาสนจักรและอาณาจักรเข้าไว้ด้วยกัน ลาซากลับเป็นศูนย์กลางของทิเบตอีกครั้ง พระองค์ได้ทำการซ่อมแซมพระราชวังแดงแห่งนี้เสียใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ว่าราชการและที่ประทับ แล้วเปลี่ยนคำเรียกมาเป็น ‘พระราชวังโปตะลา’ นับจากนั้นมา สถานที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมอำนาจทางการเมืองและศาสนาของทิเบตในเวลาต่อมา

พระราชวังโปตะลาเป็นหมู่สถาปัตยกรรมขนาดใหญ่โตโอฬาร สร้างขึ้นตามลักษณะของขุนเขา เป็นอาคาร 13 ชั้น สูง 117 เมตร มีลักษณะเหมือนป้อมปราการแบบทิเบต เป็นการผสมผสานศิลปะทางสถาปัตยกรรมของทิเบตและจีนโบราณ โดยได้ชื่อว่าเป็น ‘ไข่มุกราตรีแห่งหลังคาโลก’


วังขาว

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของพระราชวังโปตะลาได้แก่ วังขาวและวังแดง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างบริเวณเชิงเขาในละแวกใกล้เคียง วังขาว สร้างขึ้นในปี 1648 เป็นสถานที่ซึ่งองค์ทะไลลามะใช้ในการดูแลบริหารบ้านเมืองและพระศาสนา เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ

ส่วนวังแดง ตั้งอยู่กึ่งกลางพระราชวังโปตะลา สิ่งปลูกสร้างหลักสร้างเสร็จในปี 1964 แบ่งออกเป็น 6 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานองค์สถูปของทะไลลามะ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

โดยรอบของพระราชวังโปตะลายังประกอบไปด้วย โรงเรียนสอนศาสนา กุฏิพระ และห้องหับต่าง ๆ ทางปีกตะวันออกและตก นอกจากนี้ ยังมีเขตเมืองเก่า เทศบาลท้องถิ่น โรงพิมพ์พระคัมภีร์ คุกคุมขัง สระน้ำและสวน เป็นต้น

จากช่วงกลางศตวรรษที่ 17 จนถึงก่อนหน้าที่กองทัพแดงของจีนจะเข้าปลดแอกทิเบตในปี 1959 พระราชวังโปตะลามีสถานะเป็นพระราชวังฤดูหนาวขององค์ทะไลลามะ และเป็นที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง และศาสนกิจมาโดยตลอด ถือเป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งในทางอาณาจักรและศาสนจักรของทิเบต และยังเป็นตัวแทนชิ้นเอกของผลงานทางศิลปวัฒนธรรมและศาสนาของชนชาติทิเบตอีกด้วย


วัดต้าเจา หรือวัดชอคัง แหล่งรวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวทิเบต ที่ปัจจุบันยังคงมีชาวทิเบตหลั่งไหลมาสักการะไม่ขาดสาย

วัดต้าเจาหรือวัดชอคัง

วัดต้าเจาตั้งอยู่ทางทิศตะวันวันออกเฉียงใต้ของเมืองลาซา สร้างขึ้นในปีค.ศ. 601 (ราชวงศ์ถัง) วัดต้าเจามีความหมายว่า ‘สถานที่ประดิษฐานพระคัมภีร์’ เป็นทางสถาปัตยกรรมที่ผ่านการผสมผสานอย่างลงตัวของศิลปะสมัยถังของจีนและศิลปะทิเบต เมื่อแรกสร้างวัดต้าเจามีพื้นที่เพียง 8 ห้อง ต่อมาเมื่อถึงศตวรรษที่ 17 องค์ทะไลลามะที่ 5 ได้ทรงซ่อมสร้างและต่อเติมครั้งใหญ่ กลายเป็นอารามหลวงที่มีขนาดพื้นที่กว่า 25,100 ตารางเมตร

สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญของวัดต้าเจาได้แก่ พระวิหารหลวง ขนาด 4 ชั้น มีลักษณะตัวอาคารแบบจีน แต่หลังคาส่วนบนประดับตกแต่งด้วยศิลปะทิเบต ชั้นล่างของพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ที่องค์หญิงเหวินเฉิงแห่งราชวงศ์ถังนำติดตัวมาเมื่อครั้งอภิเษกกับพระเจ้าสรองตาสันคัมโป (ค.ศ. 618 – 904)

ชั้น 2 ประดิษฐานรูปปั้นของพระเจ้าสรองตาสันคัมโป และพระมเหสีทั้งสององค์คือ องค์หญิงเหวินเฉิงจากจีนและองค์หญิงชื่อจุนจากเนปาล


สัญลักษณ์ธรรมจักรกับกวางหมอบบนหลังคาวัดต้าเจา

ชั้น 3 เป็นลานกลางแจ้ง เปิดโล่งเสมือนหนึ่งเป็นหน้าต่างสู่ฟ้า สามารถชมทัศนียภาพหลังคาสีทองของพระวิหารได้อย่างชัดเจน

ชั้น 4 เป็นหลังคาที่ทำด้วยทองคำ 4 หลัง โดยรอบพระวิหารรวมทั้งแนวระเบียงทางเดินเต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังเป็นพื้นที่กว่า 2,600 ตารางเมตร โดยมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและประวัติบุคคลสำคัญต่าง ๆ ของทิเบต นอกจากนี้ ภายในวัดยังเก็บรักษาวัตถุโบราณอันมีค่าอีกมาก

พระตำหนักนอร์บุลิงกะ

พระตำหนักนอร์บุลิงกะ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเมืองลาซาห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร คำว่า ‘นอร์บุลิงกะ’ ในภาษาทิเบตหมายถึง ‘สวนป่าอันเป็นที่รัก’ สร้างในสมัยองค์ทะไลลามะที่ 7 เป็นพระราชวังฤดูร้อนที่ซึ่งองค์ทะไลลามะใช้เป็นสถานที่บริหารบ้านเมือง และประกอบกิจกรรมทางศาสนา

เห็นได้ชัดว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่รักยิ่งของทะไลลามะหลายองค์ต่อมา เนื่องจากนอร์บุลิงกะได้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมและขยายต่อเติมในยุคหลังอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยองค์ทะไลลามะที่ 8 และ 13 มีการก่อสร้างเพิ่มเติมครั้งใหญ่ นั่นคือ ‘สวนป่าสีทอง’ที่เป็นส่วนสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามเป็นเอกของนอร์บุลิงกะมาจนทุกวันนี้


ตำหนักนอร์บุลิงกะท่ามกลางแมกไม้และสระน้ำ

นอร์บุลิงกะ เป็นแหล่งรวมพืชพันธุ์มากกว่า 100 ชนิด มีทั้งที่เป็นไม้ดอกที่พบได้ทั่วไปในลาซา และพันธุ์ไม้จากยอดเขาเอเวอร์เรสที่หาดูได้ยาก นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ไม้ส่วนหนึ่งที่นำมาจากแผ่นดินใหญ่และภายนอกประเทศ จึงได้ชื่อว่าเป็นสวนรุกชาติบนที่สูง

นอร์บุลิงกะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ เขตพระราชฐาน เขตพระราชฐานชั้นนอก และเขตสวนป่า สำหรับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ ได้แก่ หมู่พระตำหนักเก๋อซังพอจางและสวนทางทิศใต้ ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 120 เมตร

ตำหนักจินเซ่อพอจางหรือ ‘สวนป่าสีทอง’ที่มีความงามเป็นที่เลื่องลือที่สุดของนอร์บุลิงกะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของนอร์บุลิงกะ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทิเบตอย่างชัดเจน วิหารใหญ่มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือละเอียดประณีตงดงาม นอกจากนี้ นอร์บุลิงกะยังเก็บรักษาโบราณวัตถุและพระคัมภีร์อันมีค่าหายากอีกมาก

สถานที่ทั้งสามแห่งนี้ล้วนเป็นผลงานทางศิลปะชิ้นเอกของชาวทิเบต มีความงามทางสถาปัตยกรรมที่ผ่านการสร้างสรรค์อย่างประณีตเป็นเอกลักษณ์ และยังมีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนาอีกด้วย


สีสันวัฒนธรรมและธรรมชาติ บนดินแดนหลังคาโลก ที่หลายคนปรารถนาจะไปสัมผัส

ข้อมูล
พระราชวังโปตะลา มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ. 1994 และวัดต้าเจาหรือวัดชอคัง

ที่ตั้ง- เมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต

สร้างในราวศตวรรษที่ 7

อาณาเขต – 360,000 ตารางเมตร

ตำหนักนอร์บุลิงกะ มรดกโลกทางวัฒนธรรม ปีค.ศ. 2001
สร้างในราวกลางศตวรรษที่ 18 อาณาเขต – 3,600,000 ตารางเมตร

ข้อมูลท่องเที่ยว
การเดินทาง

เดินทางสู่ลาซา โดยเครื่องบินจากปักกิ่ง หรือเฉิงตูลงที่สนามบินก้งกา และนั่งรถต่อเข้าสู่ตัวเมือง เดินทางโดยรถไฟจากปักกิ่งลงที่เมืองซีหนิง(มณฑลชิงไห่) และเปลี่ยนขบวนรถมาลงที่เมืองเกอเอ่อมู่ จากนั้นนั่งรถโดยสารระยะทางไกลอีก 1 วัน 1 คืน เข้าสู่เมืองลาซา ระหว่างทางผ่านความสูงมากกว่า 8,000 เมตร ระวังโรคแพ้ที่สูง (เส้นทางนี้ใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์จึงจะถึงเมืองลาซา แนะนำเฉพาะผู้รักการผจญภัย ฟังพูดภาษาจีนได้คล่อง และมีเวลาเท่านั้น)

ราคาบัตรผ่านประตู
พระราชวังโปตะลา 100 หยวน ขึ้นหลังคาทองคำ 10 หยวน เข้าชมนิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับ 10 หยวน เปิดทำการทุกวัน 2 เวลา เช้า 9:00—12:00 น. บ่าย 15:00—17:00 น. เว้นวันเทศกาลประจำปีหรือวันที่มีกิจกรรมสำคัญ นอกจากนี้ สระหลงหวังถัน(龙王滩)รอบวัง ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เปิดทุกวันเวลา 9:00—17:30 น.
การเดินทางขึ้นวังโปตะลา จะเดินขึ้นเขาทางประตูหน้า หรือ นั่งรถแท็กซี่ที่ด้านหลังเขาราคาประมาณ 10 หยวน ขึ้นไปส่งบนยอดเขาและเดินเท้าลงมาก็ได้
วัดต้าเจา 70 หยวน (เข้าได้หลายครั้ง) เปิดให้เข้าชม 9:00—18:00 น. ที่วัดแห่งนี้มีการประกอบพิธีทางศาสนาทุกวัน นอกจากนี้เวลาบ่ายพระลามะจะมารวมกันที่ลานหลังวัดเพื่ออภิปรายคัมภีร์ เป็นการโต้ตอบปุจฉาวิสัชนา ในหัวข้อคำถามเกี่ยวกับคำสอนในตำรา นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมได้ห่างๆ
เนื่องจากวัดต้าเจาตั้งอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกสบาย จะเดินเท้าหรือขึ้นรถโดยสารขนาดกลางมาลงที่โรงพยาบาลทิเบต หรือใช้บริการรถสามล้อ ราคา 4 หยวน
ตำหนักนอร์บุลิงกะ 40 หยวน เดินทางโดยรถสามล้อ หรือเดินเท้าก็ได้ อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลกงเหยิน ปัจจุบันอยู่ในบริเวณที่เป็นสวนสาธารณะของเมือง


สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ
ถนนปาหลังเจีย(八廊街) บริเวณหลังวัดต้าเจา ในเมืองลาซา เป็นที่ขายของที่ระลึกและสินค้าพื้นเมืองชาวทิเบต ราคาย่อมเยา
วัดเจ๋อเปิ้ง(哲蚌寺) นอกเมืองลาซา ราคาบัตร 40 หยวน แนะนำให้เช่ารถแท็กซี่ หากท่านขึ้นรถโดยสารขนาดกลางจากตัวเมืองลาซา รถจะไม่พาไปถึงวัด ท่านต้องเดินเท้าขึ้นเขาเองซึ่งจะเหนื่อยมากๆ

ของดีลาซา

อาหารขึ้นชื่อเมืองลาซา
อาหารในชีวิตประจำวันของชาวทิเบตคือ เนื้อวัวจามรี เนื้อแกะ ซึ่งปรุงแบบทิเบต (ร้านอาหารบางแห่งนำมาปรุงแบบเนื้อสเต็กของชาวตะวันตก) รับประทานร่วมกับแป้งทำจากข้าวสาลี ชานมแพะ ชาท้องถิ่นทำจากเนย(酥油茶) และนมเปรี้ยว(โยเกิร์ต)

เทศกาลสำคัญ
เทศกาลชอตัน (雪顿节) เทศกาลใหญ่ประจำปีของชาวทิเบต กิจกรรมหลัก คือ การนำผืนผ้าที่ปักที่เป็นรูปพระพุทธรูปขนาดใหญ่ออกมาตากแดดที่เชิงเขา หลังจากนั้นจะมีการแสดงดนตรี การเต้นระบำพื้นเมืองของชาวทิเบต สถานที่ที่จัดกิจกรรมนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่วัดเจ๋อเปิ้ง นอกจากนี้ที่วังนอร์บุลิงกะในสวนสาธารณะประจำเมือง ยังมีการแสดงระบำพื้นบ้าน และงิ้วทิเบตของคณะงิ้วหลายๆคณะด้วย

สินค้าพื้นเมือง
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าหัตถกรรม อาทิ พรมถัก หมวก รองเท้า ผ้าประดับประตู เครื่องเงิน เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ทำจากหินหรือกระดูกสัตว์ มีดพก ฯลฯ แหล่งจำหน่ายสินค้าเหล่านี้อยู่ที่ถนนปาหลังเจีย


ฤดูท่องเที่ยว
ฤดูร้อนเป็นช่วงท่องเที่ยวลาซาที่ดีที่สุด ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม อากาศในตอนกลางวันสูงสุดเฉลี่ย 28 องศา ต่ำสุด 14 องศา ฤดูร้อนกลางวันแดดจัดมาก ควรเตรียมเครื่องป้องกันแสงแดดให้ดี

ข้อควรระวัง
ไม่ว่าท่านจะเลือกเดินทางสู่เมืองลาซาด้วยเส้นทางใด และเมื่อถึงเมืองลาซาแล้ว ท่านจะต้องพบกับอาการโรคแพ้ที่สูง ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้น จะมากน้อยตามสภาพร่างกายแต่ละคน บางท่านอาจมาแสดงอาการเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว และแม้แต่คนที่สุขภาพแข็งแรงดีก็อาจเป็นได้ เพราะทิเบตตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 3,500 เมตร ความสูงแตกต่างจากสภาพพื้นราบที่ร่างกายเราเคยชินอย่างมาก
อาการโดยทั่วไป คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก ไม่มีเรี่ยวแรง หรือเหนื่อยหอบง่ายแม้ไม่ได้ออกแรง บางท่านอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน สามารถซื้อหายาระงับอาการแก้โรคความสูง และเพิ่มออกซิเจนในสมอง ได้ตามร้านขายยาในเมืองเฉิงตูหรือในกรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้เมื่อถึงเมืองลาซาแล้วควรพักผ่อน 1-2 วัน ก่อนออกเที่ยวชมสถานที่ต่างๆในเมือง ให้เดินช้าๆ และอย่าออกแรงหรือตื่นเต้นมากเกินไป สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโปรดปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนออกเดินทาง


ไปข้างบน