หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

อาณาจักรศรีวิชัยและมหาสถูปโบโรบูโดร์


"โบโรบูโดร์" (Borobudor)

เนื่องจากพิธีกรรมที่เหมาะกับราชสำนักของศาสนาฮินดู และแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาที่ลึกซึ้งของพุทธศาสนา ทำให้ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาซึ่งเดินทางมาจากอินเดียได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองท้องถิ่นในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยพุทธศาสนามีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซียและแหลมมลายูไม่ต่ำกว่า 600 ปี พุทธศาสนาในสมัยศรีวิชัยเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีการสร้างพุทธสถานที่ใหญ่โตวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสถูปโบโรบูโดร์ รวมทั้งพระพุทธรูปเป็นอันมาก

อาณาจักรศรีวิชัย

อาณาจักรศรีวิชัย (ประมาณ พ.ศ.1200-1800) ครอบคลุมตั้งแต่ตอนบนของแหลมมลายู (รวมทั้งตอนใต้ของไทย) จนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย เป็นอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนามหายานที่เผยแผ่มาจากอินเดีย ในปี พ.ศ.2461 จอร์จ เซเดส (George Sedes) ได้ค้นพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต (ที่วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช ประเทศไทย) เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย จึงได้แปลออกเป็นภาษาฝรั่งเศส นับเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของอาณาจักรศรีวิชัยให้โลกได้รับรู้เป็นครั้งแรก

ราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองไชยา (เป็นคำเดียวกับ "ศรีวิชัย" อยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีของไทยในปัจจุบัน) มีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ปาละในอินเดียอย่างใกล้ชิด ศิลปะศรีวิชัยจึงมีต้นแบบมาจากศิลปะปาละ ธรรมาจารย์จากนาลันทา วิกรมศิลา โอทันตบุรี ในอินเดียได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในอาณาจักรศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัดบรมธาตุไชยา วัดแก้ว และวัดเลียบ (สถานที่ค้นพบรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสมัยศรีวิชัย ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย) อันกลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์


"โบโรบูโดร์" (Borobudor)

ในพุทธศตวรรษที่ 12 พระภิกษุอี้จิงจากประเทศจีนซึ่งต้องการเดินทางไปอินเดีย โดยได้มาแวะพักที่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อศึกษาคัมภีร์ศัพทศาสตร์ ได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า ในอาณาจักรศรีวิชัยมีพระภิกษุมากกว่า 1,000 รูปที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเหมือนอย่างพระภิกษุในอินเดีย และแนะนำว่าพระภิกษุจีนควรจะมาแวะที่อาณาจักรศรีวิชัยเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อศึกษาภาษาสันสกฤต ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินเดีย


"โบโรบูโดร์" (Borobudor)

ในพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรศรีวิชัยได้รับวัฒนธรรมอินเดีย 2 ทางคือ จากราชวงศ์โจฬะ (อินเดียใต้) และจากราชวงศ์ปาละ (เบงกอล) ซึ่งนำพุทธศาสนาวัชรยาน (Vajrayana) หรือตันตระ (Tantra) เผยแผ่มาถึงอาณาจักรศรีวิชัย ในยุคนี้มีการก่อสร้างพุทธสถานเป็นจำนวนมาก รวมถึงพระมหาสถูป "โบโรบูโดร์" (Borobudor) อันมีชื่อเสียง และอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่ไปถึงจามปา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เทวสถานโพนคร

ในพุทธศตวรรษที่ 15 อิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่ขยายขึ้นมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวกันว่า พระเจ้าสุริยวรมัน คือกษัตริย์ศรีวิชัยที่ขึ้นมาปกครองอาณาจักรขอม และอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยอาจเลยขึ้นไปถึงลุ่มแม่น้ำปิงก็เป็นได้ เนื่องจากมีการพบภาพสลักมุขพระเจดีย์ ที่วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นรูปเกียรติมุขแบบศรีวิชัย

มหาสถูปโบโรบูโดร์

คู่ขนานไปกับนครโซโล (Solo) อันเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เคียง ยอคจาการ์ตา (Yogyakarta) เป็นดินแดนในใจกลางของเกาะชวา เป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และปรัชญา ภายในอาณาบริเวณ 30 กิโลเมตรจากยอคจาการ์ตา เป็นที่ตั้งของโบราณสถานทางศาสนาที่สำคัญ 2 แห่งคือ โบโรบูโดร์ (น่าจะเป็นคำเดียวกับ "บรมพุทโธ") สถูปในพุทธศาสนา และ ปรัมบานาน (Prambanan) วัดในศาสนาฮินดู โบราณสถานทั้งสองสร้างขึ้นจากหินในบริเวณนั้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 และที่ 8 (ก่อนการสร้างโบสถ์คริสต์ในยุคกลางของยุโรปหลายร้อยปี)

โบราณสถานทางศาสนาทั้งสองแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยที่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของหมู่เกาะชวา และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักร ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความสามารถเชิงศิลปกรรมของผู้คนในยุคนั้น แม้ว่าสถูปโบโรบูโดร์และวัดปรัมบานานจะเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอินโดนีเซีย แต่ก็ยังมีวัดอันวิจิตรงดงามอีกหลายร้อยแห่งทั่วทั้งเกาะชวา สำหรับชาวบาหลีนั้นนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวัดฮินดูทั้งเก่าและใหม่นับพันแห่งในเกาะบาหลี (Bali)


"โบโรบูโดร์" (Borobudor)

โบโรบูโดร์ เจติยสถานของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน (สร้างก่อนนครวัตในกัมพูชาประมาณ 300 ปี) และสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลก เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในภาคกลางของเกาะชวาอยู่ประมาณ 150 ปี กลางพุทธศตวรรษที่ 15 โบโรบูโดร์ถูกทอดทิ้งให้เสื่อมโทรมลง เนื่องจากภัยธรรมชาติคือ แผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด ซึ่งมีเป็นประจำในใจกลางเกาะชวา ทำให้พุทธสถานแห่งนี้ค่อยๆ ปรักหักพังจมหายลงไปในดิน และถูกลืมไปในที่สุด

ในปี พ.ศ.2351 เอช ซี คอร์เนเลียส (H. C. Cornelius) ได้เริ่มต้นทำการสำรวจโบโรบูโดร์ แต่ไม่มากนัก ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2450-2454 โทมัส แวน เอิร์พ (Thomas Van Erp) ได้ทำการขุดค้นอย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โบโรบูโดร์ได้รับความเสียหาย คือน้ำที่ไหลเซาะกัดลาดเนินเขาภายในตัวสถูป ทำให้รากฐานของสถูปยุบพังลงและกร่อนไปตามกาลเวลา ในปี พ.ศ.2516 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เข้าบูรณะซ่อมแซมพุทธสถานอันเป็นมรดกโลกแห่งนี้ (ด้วยงบประมาณ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ) การขุดค้นและการปฏิสังขรณ์ได้เปิดเผยถึงความงดงามอันเลิศล้ำ ความกว้างใหญ่ไพศาล และความวิจิตรตระการตาของแผ่นหินแกะสลัก ที่ประดับตกแต่งจากยอดบนสุดจนถึงฐานล่างของสิ่งก่อสร้าง ทำให้ความยิ่งใหญ่งดงามของโบโรบูโดร์ได้ปรากฏต่อสายตาของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง

อาณาจักรในใจกลางหมู่เกาะเป็นรัฐที่รุ่งเรืองด้วยการเพาะปลูก และมีพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โครงสร้างการปกครองเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ โดยมีระบบการจัดเก็บภาษีด้วยพืชผลและแรงงานจากชาวนา รัฐเหล่านี้ได้พัฒนากฎหมายและระบบการบริหารของตนเองขึ้นมา พืชผลทางการเกษตรจากการเก็บภาษีได้หล่อเลี้ยงราชสำนัก และช่างฝีมือในการก่อสร้างวัดหินขนาดใหญ่ ราชสำนักได้ส่งเสริมวัฒนธรรมชั้นสูงทางด้านดนตรี การฟ้อนรำ ปรัชญา และวรรณคดี มหากาพย์ของอินเดียคือ มหาภารตะ (Mahabharata) และรามายนะ (Ramayana) ได้ถูกนำเสนอโดยนักดนตรี นักฟ้อนรำ และนักเชิดหุ่นกระบอก เพื่อสื่อคุณค่าทางจริยธรรมและวัฒนธรรมของชาวชวาและชาวบาหลี ระบบการเขียนนั้นมาจากภาษาสันสกฤต และคำสันสกฤตจำนวนมากได้กลายเป็นคำในภาษาท้องถิ่น


"โบโรบูโดร์" (Borobudor)

ในพุทธศตวรรษที่ 14 หมู่เกาะชวาได้แตกแยกออกเป็น 2 อาณาจักรคือ อาณาจักรมัชปาหิต (ภาคตะวันออก) และอาณาจักรปะชาชะลัน (ภาคตะวันตก) ต่อมาอาณาจักรมัชปาหิตรุ่งเรืองขึ้น พระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ มีการสร้างเทวสถานเป็นอันมาก และภาษาสันสกฤตกลายเป็นภาษาราชสำนัก ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยของพระเจ้าองควิชัย อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิตแผ่ขึ้นไปถึงแหลมมลายู ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง

ในปี พ.ศ.1930 ลามุนะ อิบราฮิม พ่อค้าอาหรับได้นำศาสนาอิสลามไปเผยแผ่ที่ชวาเป็นครั้งแรก อิบราฮิมพยายามเกลี้ยกล่อมพระเจ้าองควิชัยแต่ไม่สำเร็จ จึงหันไปเกลี้ยกล่อมระเด่นปาตาซึ่งเป็นพระราชโอรสให้หันมาเข้ารีตนับถืออิสลามได้สำเร็จ ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพอาหรับ ระเด่นปาตาได้กระทำปิตุฆาต สถาปนาตนเองขึ้นเป็นสุลต่าน และประกาศยกอิสลามเป็นศาสนาประจำอาณาจักร ศาสนาอิสลามจึงแผ่เข้าสู่เกาะต่างๆ อย่างรวดเร็ว เจ้าเมืองต่างๆ ที่เกรงกลัวภัยต่างพากันเข้ารีตนับถืออิสลาม ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาที่ไม่ต้องการเปลี่ยนศาสนา ได้พากันหนีภัยลงไปอยู่ที่เกาะบาหลี จนกระทั่งถึงทุกวันนี้


ไปข้างบน