วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง การสู้ขั้นแตกหัก
หนังสือ "บูรพาจารย์" ชีวประวัติ ธรรมปฏิปทาและโอวาทธรรม ท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ซึ่งดำเนินงานและจัดพิมพ์โดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อปี 2544
กล่าวถึงเส้นทางของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อพำนักอยู่เชียงใหม่เป็นลำดับดังนี้
พำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณปี 2472-2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในท่าน เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ปี 2475 เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเพียง 1 พรรษา พอออกพรรษาก็เดินธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามป่าเขาภาคเหนือ
พักอยู่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 20 กว่าวัน
จากนั้นก็เดินทางไปยังวัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมเป็นสำนักป่าช้า
จากนั้นก็เดินทางไปยังเสนาสนะป่าแม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันคือวัดป่าดาราภิรมย์
จากนั้นก็เดินทางไปยังอำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว
ประสบการณ์ของการธุดงค์ ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามวัด ตามเสนาสนะ ตามถ้ำ หมู่บ้านชาวเขาในเชียงใหม่นี้เองที่ควรต้องศึกษาอย่างละเอียด
ที่ว่าสมควรต้องศึกษาอย่างละเอียด เพราะในหนังสือที่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เขียนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
ท่านเริ่มออกเที่ยวครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่
ทราบว่าท่านไปเที่ยวองค์เดียว จึงเป็นโอกาสอันเหมาะอย่างยิ่งที่ช่วยให้ท่านมีตนอย่างสมใจที่หิวกระหายมานาน นับแต่สมัยที่อยู่เกลื่อนกล่นกับหมู่คณะมาหลายปี เพิ่งได้มีเวลาเป็นของตนในคราวนั้น
ทราบว่าท่านวิเวกไปทางอำเภอแม่ริม เชียงดาว เป็นต้น เข้าไปพักในป่าในเขาตามนิสัยทั้งหน้าแล้งหน้าฝน
การบำเพ็ญเพียรคราวนี้ท่านเล่าว่า เป็นความเพียรขั้นแตกหัก
ท่านพร่ำสอนตนว่า คราวนี้จะดีหรือไม่ดี จะเป็นหรือจะตาย ต้องเห็นกันแน่นอน เรื่องอื่นๆ ไม่มียุ่งเกี่ยวแล้ว เพราะความสงสารหมู่คณะและการอบรมสั่งสอนก็ได้ทำเต็มความสามารถมาแล้ว ไม่มีทางสงสัย ผลเป็นประการใดก็เห็นประจักษ์มาบ้างแล้ว
บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะสงสารตัวเอง อบรมสั่งสอนตัวเอง ยกตัวเองให้พ้นจากสิ่งมือมิดบิดบังที่มีอยู่ภายในให้พ้นไป
บัดนี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ได้หลีกออกมาบำเพ็ญอยู่คนเดียวในสถานที่เปล่าเปลี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด
นี่คือสถานที่อยู่ที่บำเพ็ญ ที่เป็นและที่ตาย นี่คือสถานที่ของผู้มีความเพียร
พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เขียนถึงห้วงเวลาของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เหมือนกับเป็นเงาสะท้อนแห่งการปรารถกับตนเอง
ดังนี้
เวลานี้เรากำลังเข้าอยู่ในสนามรบ เพื่อชิงชัยระหว่างกิเลสกับมรรคคือข้อปฏิบัติ เพื่อช่วงชิงจิตให้พ้นจากความเป็นสมบัติ 2 เจ้าของมาครองเป็นเอกสิทธิ์แต่ผู้เดียว
ถ้าความเพียรย่อหย่อน ความฉลาดไม่พอ จิตจำต้องหลุดมือตกไปอยู่ในอำนาจของฝ่ายต่ำคือกิเลส และพาให้เป็นวัฏจักรหมุนเพื่อความทุกข์ร้อนไปตลอดอนันตกาล ถ้าเราสามารถด้วยความเพียรและความฉลาดแหลมคม จิตจำต้องตกมาอยู่ในเงื้อมมือและเป็นสมบัติอันล้นค่าของเราแต่ผู้เดียว
คราวนี้เป็นเวลาที่เรารบรันฟันแทงกับกิเลสอย่างสะบั้นหั่นแหลก ไม่รีรอย่อหย่อนอ่อนกำลังโดยเอาชีวิตเข้าประกัน
ถ้าไม่ชนะก็ยอมตายกับความเพียรโดยถ่ายเดียว ไม่ยอมถอยหลังพังทลายให้กิเลสหัวเราะเยาะเย้ย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายไปนาน ถ้าชนะเราก็ครองอิสระอย่างสมบูรณ์ไปตลอดกาล
ทางเดินของเรามีทางเดียวเท่านี้ คือต้องสู้จนถึงตายกับความเพียรเพื่อชัยชนะอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีทางอื่นเป็นทางออกตัว
นี่ย่อมเป็นมุมของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
อันต่างจาก พระญาณวิริยังค์ และต่างจาก พระทองคำ จารุวัณโณ
เป็นรายละเอียดซึ่ง พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ยืนยันว่ารับฟังจากปากของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยตนเอง
จึงเป็นเรื่องต้องศึกษาอย่างละเอียดเป็นพิเศษ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
อย่างนี้เองที่พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการถ่ายทอดอย่างมากด้วยลีลาของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
นั่นก็คือ
"ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน นั้น ท่านเป็นเจ้าปัญญา ท่านพระอาจารย์ไม่ได้พูดโดยตรง จะพูดโดยอ้อมสลับมากับพระธรรมเทศนา
"ด้วยสติปัญญาของท่านสูงส่ง ท่านก็เลยนำมาเขียน"
เป็นการเขียนอย่างประสานสอดรับกับนิสัยโดยพื้นฐานของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ไม่เพียงแต่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เท่านั้นที่รับรู้และรู้สึก
หาก พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เองก็ยอมรับ
ยอมรับในความโลดโผนทาง "จิต" ที่มีลักษณะบุกน้ำ ลุยไฟ ขึ้นไปในอากาศ ลงไปในท้องมหาสาครของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ตรงนี้จึงจำเป็นต้องพยายามแยกแยะ
ด้าน 1 แยกแยะให้เข้าไปในความเป็นจริงที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ประสบด้วยตัวท่านเอง จากการลงมือปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน ด้าน 1 แยกแยะให้เข้าไปในความรู้สึกของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นผู้เขียน จากการรับฟังคำบอกเล่าและจากพระธรรมเทศนาของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และจากปัญญาการสังเคราะห์ของท่านเอง
โปรดติดตาม
ท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านมีนิสัยผาดโผนมาตั้งเดิมนับแต่เริ่มออกปฏิบัติใหม่ๆ
แม้ขณะจิตจะเข้าถึงจุดอันเป็นวาระสุดท้ายก็ยังแสดงลวดลายให้องค์ท่านเองระลึกอยู่ไม่ลืมถึงกับได้นำมาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ฟังพอเป็นขวัญใจ
คือ พอจิตพลิกคว่ำวัฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังแสดงขณะเป็นลักษณะฉวัดเฉวียนรอบตัววิวัฏจิตถึง 3 รอบ
รอบที่ 1 สิ้นสุดลง แสดงบทบาลีขึ้นมาว่า "โลโป"
บอกความหมายขึ้นมาพร้อมว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือ การลบสมมุติทั้งสิ้นออกจากใจ
รอบที่ 2 สิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า "วิมุตติ"
บอกความหมายว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือ ความหลุดพ้นอย่างตายตัว
รอบที่ 3 สิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า "อนาลโย"
บอกความหมายขึ้นมาว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือ การตัดอาลัย อาวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นเอกจิต เอกธรรม จิตแท้ ธรรมแท้ มีอันเดียวไม่มี 2 เหมือนสมมุติทั้งหลาย
นี่คือวิมุติธรรมล้วนๆ ไม่มีสมมุติเข้าแอบแฝง
จึงมิได้เพียงอันเดียว รู้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่มี 2 มี 3 มาสืบต่อ สนับสนุนกัน
พระพุทธเจ้าและพระสาวกล้วนแต่รู้เพียงครั้งเดียว ก็เป็นเอาจิต เอกธรรม อันสมบูรณ์ไม่แสวงเพื่ออะไรอีก
สมมุติภายในคือขันธ์ก็คือขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยและทรงตัวอยู่ตามปกติเดิม ไม่มีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามความตรัสรู้
คือขันธ์ที่เคยนึกคิดเป็นต้นก็ทำหน้าที่ของตนไปตามคำสั่งของจิตผู้บงการ
จิตที่เป็นวิมุตติก็หลุดพ้นจากความคละเคล้าพัวพันในขันธ์ ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริงต่างไม่หาเรื่องหลอกลวง ต้มตุ๋นกัน ดังที่เคยเป็นมา
ต่างฝ่ายต่างสงบอยู่ตามธรรมชาติของตน
ต่างฝ่ายต่างทำธุระหน้าที่ประจำตนจนกว่าจะถึงกาลแยกย้ายจากส่วนผสม เมื่อกาลนั้นมาถึงจิตที่บริสุทธ์ก็แสดง ยถาทีโป จ นิพัพโต
เหมือนประทีปดวงไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไปฉะนั้น
ไปตามความจริง
เรื่องของสมมุติที่เกี่ยวข้องกันก็มีเพียงเท่านั้น นอกนั้นไม่มีสมมุติจะติดต่อกันให้เกิดเรื่องราวต่อไป
นี่คือธรรมแสดงในจิตท่านขณะแสดงลวยลายเป็นขณะ 3 รอบจบลง อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งสมมุติกับวิมุตติทำหน้าที่ต่อกัน และแยกทางกันเดินตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปและการตั้งข้อสังเกตของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ มิได้ป็นบทสรุปอย่างเอกเทศ ตรงกันข้าม เป็นบทสรุปจากสภาพความเป็นจริงทางการปฏิบัติ
ที่สำคัญก็คือ เป็นการปฏิบัติของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
|