เที่ยว “วัดโพธิ์” สัมผัสวัดเก่า ในมุมมองใหม่
ลายจำหลักมุกภาพมงคล 108 ประการที่พระบาทพระพุทธไสยาส
มาวัดโพธิ์ครั้งก่อน ยอมรับโดยดุษฎีว่ากว่าจะเดินได้ทั่วบริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดก็ฝืนสังขารจนขาแทบลาก ขนาดเด็กต่างจังหวัดที่ชินกับการเดินอย่างฉันยังอดบ่นเมื่อยไม่ได้ ฉันเลยไม่ค่อยแปลกใจที่เห็นโรงเรียนนวดแผนโบราณเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวที่คงมาใช้บริการนวดคลายปวดเมื่อยนั่นเอง
และที่เลือกมาเที่ยววัดโพธิ์อีกในคราวนี้ ไม่ใช่เพราะติดใจการนวดอันลือชื่อ แต่มาเพราะตั้งใจจะเที่ยวชมวัดโพธิ์ในมุมมองใหม่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ดูบ้าง
โปรแกรมอันซีนอินวัดโพธิ์ของฉันเริ่มต้นด้วยการตามหายักษ์ประจำวัด หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่าบริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้นเป็นผลจากการต่อสู้ของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ เมื่อคาดคะเนจากตำนานการต่อสู้ ยักษ์ทั้งสามน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน บางคนเลยเข้าใจผิดคิดว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธอยู่หน้าประตูวัดคือ “ยักษ์วัดโพธิ์”
ยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงมีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์
แท้จริงแล้ว ยักษ์วัดโพธิ์มีลักษณะคล้ายกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับยักษ์วัดพระแก้ว หากแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เล็กจนสามารถตั้งเก็บในตู้หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ได้
ชมยักษ์แล้ว ต่อไปลองชมเปรตดูบ้าง ตามธรรมดาคนทั่วไปอาจจะเคยได้ยินแต่แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ฯซึ่งเป็นเพียงตำนานเล่าต่อๆกันมา สำหรับเปรตวัดโพธิ์ ถึงไม่ได้เล่าขานเป็นตำนาน แต่ใครที่อยากเห็นก็สามารถพาสองตามาพิสูจน์ได้ โดยภาพจิตรกรรมฝาหนังรูปเปรตในนรกภูมิทั้ง 12 จำพวกนั้นปรากฏให้เห็นบริเวณเหนือเสา บนคานศาลาการเปรียญ งานนี้รับรองว่าไม่มีน่ากลัว ไม่มีหวาดเสียวแต่หากเงยคอดูนานเกินไปก็อาจมีอาการเมื่อยเอาง่ายๆ
พูดถึงจิตรกรรมฝาผนัง ถ้าเป็นเรื่องรามเกียรติ์ฉบับในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่1 ลูกเล็กเด็กแนวที่ไหนก็รู้ว่าที่วัดพระแก้วเป็นที่เหมาะจะศึกษามากที่สุดเพราะมีภาพที่สวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ แต่หากศึกษาลึกลงไปแล้วอาจเกิดอาการงงเต๊กได้ เพราะตอนหนึ่งถึงตอนสามกลับไม่ปรากฏที่ผนังวัดพระแก้ว ซึ่งอาจจะมีแฟนพันธุ์แท้เพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ทั้งสามตอนที่หายไปนั้น อยู่ที่ผนังด้านในศาลารายโดยรอบพระมณฑปของวัดโพธิ์นั่นเอง
พระพุทธรูปเก่าแก่ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถ
สำหรับพระพุทธรูปที่ถือเป็นอันซีน ฉันยกให้พระนอนในวิหารพระพุทธไสยาส ไม่ใช่เพราะขนาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย แต่ถือเป็นอันซีนเพราะเอกลักษณ์พิเศษของพระพุทธไสยาสซึ่งต่างจากทั่วๆไป ที่มีลักษณะบรรทมตะแคงขวา พระบาทขวาเลื่อมพระบาทซ้าย แต่พระพุทธไสยาสวัดโพธิ์นั้นพระบาททั้งขวาและซ้ายนั้นซ้อนเสมอกัน ฉันว่าอาจเป็นความตั้งใจของช่างสิบหมู่ผู้สร้างที่ตั้งใจจะแสดงลายลักษณะมงคล 108 ประการบนพระบาททั้งสองก็เป็นได้
ที่น่าทึ่งคือลายจำหลักมุกที่งดงาม โดดเด่นบนพื้นพระบาท ซึ่งเป็นลายศิลปะไทยกับจีนผสมผสานกันอย่างประณีตศิลป์ หากพิจารณามงคล 108 และลวดลายภูเขาต่างๆในป่าหิมพานต์เป็นคติไทยที่รับมาจากชมพูทวีป ส่วนภาพนก หงส์ ภูเขา เมฆ รวมทั้งแนวคิดเรื่องฮวงจุ้ยเป็นคติแบบจีน ที่ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)เลือกพระนอนองค์นี้เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันซีนไทยแลนด์ที่น่าสนใจ
นอกเหนือจากพระพุทธไสยาสที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์แล้ว บรรดาพระพุทธรูปที่ระเบียงคดรอบพระอุโบสถล้วนมีความงามที่น่าทึ่งเช่นกัน เป็นความบังเอิญที่พบว่าภายใต้พระพุทธรูปปูนปั้นเหล่านั้นมีพระพุทธรูปโบราณหลายยุคทั้งสมัยอู่ทอง สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ฯลฯบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งตามประวัติปฎิสังขรณ์วัด รัชกาลที่1โปรดให้รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่จากหัวเมืองต่างๆนับได้จำนวนพันมาไว้รวมกันที่วัดโพธิ์ แต่เพราะต้องการให้มองเห็นพระพุทธรูปเหล่านั้นเป็นลักษณะเดียวกันหมดเพื่อความสวยงามจึงเอาปูนมาพอกทับไว้ให้ได้ขนาด
ลั่นถัน บางคนเข้าใจว่าเป็นยักษ์วัดโพธิ์
ต่อมาปูนที่พอกไว้เริ่มทรุดโทรม จึงได้มีการปฎิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อกระเทาะปูนเก่าออกจึงพบพระหล่อสัมฤทธิ์ฝีมือช่างโบราณงามอย่างยากจะหาดูได้ ไม่เพียงพระพุทธรูปที่ระเบียงคดเท่านั้น พระพุทธรูปในพระวิหารทั้งสี่ทิศล้วนเก่าแก่ งดงาม เป็นพระที่มีคุณค่าทั้งในทางฝีมือและวัตถุที่นำมาสร้าง บางองค์งามประหลาดกว่าพระพุทธรูปในวัดอื่นๆ นักเลงเล่นพระคนไหนหลงเข้ามาคงไม่ได้ออกจากวัดโพธิ์ง่ายๆเป็นแน่
ในส่วนพระอุโบสถก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ แต่ที่แปลกและเด่นเป็นพิเศษคือลักษณะพระระเบียงที่สร้างล้อมพระอุโบสถถึง 2 ชั้นเชื่อมต่อกับพระวิหารทิศทั้งสี่ทิศ นอกจากนี้รอบๆซุ้มประตูกำแพงแก้ว มีสางแปลงซึ่งคล้ายตุ๊กตาจีนมีรูปร่างแปลกกว่าสัตว์ชนิดอื่น คอยเฝ้าอยู่ทุกด้าน
สางแปลง เฝ้าอยู่ที่ซุ้มประตูกำแพงแก้ว
จะว่าไปวัดโพธิ์เป็นสถานที่ใจกลางกรุงอีกแห่งหนึ่งที่สามารถมาเดินเที่ยวเล่นไปด้วย เรียนรู้เรื่องศิลปะหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ไปได้ด้วย ไม่ว่าจะเที่ยวอย่างสนุกสนาน เที่ยวอย่างหาความรู้ หรือเที่ยวแบบทำบุญสร้างกุศล หากเราตั้งใจดีที่จะเข้าวัดแล้ว ความสงบอิ่มเอมและสุขใจก็คงอยู่ไม่ไกล
* * * * * *
วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ชาวต่างชาติซื้อบัตรเข้าชมคนละ 20 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 0-2225-9595, 0-2221-1375
โรงเรียนแพทย์แผนโบราณและนวดแผนโบราณ(ในบริเวณวัดโพธิ์)
เปิดบริการทุกวันระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. ค่าบริการนวดชั่วโมงละ 200 บาท ค่าบริการนวดและประคบสมุนไพร ชั่วโมงละ 300 บาท สอบถามข้อมูลโทร 0-2221-2974 , 0-2225-4771
การเดินทาง
รถประจำทางธรรมดาสาย 1,3,6,9,12,25,32,44,47,48,51,82,103 รถประจำทางปรับอากาศ ปอ.1, ปอ.6, ปอ.7 ,ปอ.8, ปอ.12, ปอ.44 เรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน หรือท่าเรือปากคลองตลาดแล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวังได้
|