ไหว้พระวัดอรุณ รับอรุณรุ่งแห่งปีกุน
พระปรางค์องใหญ่นี้ แต่เดิมเคยสูงเพียง 16 เมตร
ฉันว่าหลายๆคนคงจะได้ยินชื่อ "วัดอรุณ" หรือที่ชื่อเต็มว่า "วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร" กันอยู่บ่อยๆ เพราะพระปรางค์วัดอรุณนอกจากจะงดงามสมส่วนแล้ว ยังมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครด้วย
ชื่อเดิมของวัดอรุณฯ นั้นคือวัดมะกอกนอก แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอกนอกมาเป็นวัดแจ้ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์ได้เสด็จมาถึงที่นี่ในยามแจ้ง ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา และในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางอีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่เราไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน
วัดอรุณราชวราราม วัดประจำรัชกาลที่ 2
มาพูดกันถึงพระปรางค์กันต่อดีกว่า รู้ไหมว่าพระปรางค์สูงสง่าเป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพฯ องค์นี้เดิมสูงเพียง 8 วา หรือประมาณ 16 เมตรเท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงถึง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับอีก 1 นิ้ว หรือประมาณ 67 เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศ และมณฑปทิศ องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก แต่ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
ยักษ์วัดแจ้ง ยืนเฝ้าซุ้มประตูดูขึงขัง
วัดอรุณฯ นี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 เนื่องจากในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง 7 วัน 7 คืน และพระองค์ยังได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น "วัดอรุณราชธาราม" และเปลี่ยนเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
นอกจากนั้นรัชกาลที่ 2 ยังได้เป็นผู้ปั้นพระพักตร์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เองอีกด้วย จึงถือว่าวัดอรุณฯ นี้เป็นวัดที่มีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บริเวณด้านริมแม่น้ำ
และเมื่อมาวัดอรุณแล้วก็ต้องมาดูยักษ์วัดอรุณ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ยักษ์วัดแจ้ง" ที่มีเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์มาตีกับยักษ์วัดแจ้ง ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน เรื่องเล่ายังสรุปไม่ได้ว่ายักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ แต่ที่แน่ๆ ยักษ์วัดแจ้งนี้เป็นยักษ์ชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันดีจากเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือทศกัณฑ์ ยักษ์กายสีเขียว ส่วนอีกตนหนึ่งเป็นยักษ์กายสีขาว ชื่อว่าสหัสเดชะ ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พระอุโบสถของวัดอรุณฯ
ยักษ์วัดแจ้งนี้ยืนเฝ้าซุ้มข้างประตูทางเข้าพระอุโบสถ ซุ้มประตูนี้ก็สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเช่นกัน มีลักษณะเป็นทรงจตุรมุข หลังคา 3 ชั้น มียอดเป็นทรงมงกุฎประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ดอกไม้สวยงาม ซุ้มประตูนี้เคยทำใหม่มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ครบถ้วน เพราะเมื่อคราวจะสร้างใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ถ่ายภาพซุ้มประตูเดิมไว้ และให้สร้างตามรูปแบบเก่านั้น โดยทรงกล่าวว่า "ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว" และ "ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้ มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…"
เมื่อผ่านยักษ์และซุ้มประตูเข้าไป จะพบกับพระอุโบสถของวัดอรุณฯ ก็มีความงามไม่แพ้ที่ไหนๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธานองค์นี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ที่เคยฝากฝีมือไว้ที่วัดสุวรรณารามไว้ด้วยเช่นกัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระอุโบสถหลังนี้ได้เกิดเพลิงไหม้ โชคดีที่สามารถอัญเชิญพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ออกได้ทัน แต่ไฟก็ได้ไหม้หลังคาพระอุโบสถจนหมด และทำให้จิตรกรรมฝาผนังเสียหายไปบ้าง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ประทานความเห็นในการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถว่าให้รักษาของเก่าไว้ และซ่อมภาพเขียนใหม่ให้กลมกลืนกับภาพเดิม ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังที่เราได้เห็นกันในวันนี้จึงยังสมบูรณ์อยู่มาก
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ
ที่ฉันเห็นว่าน่าสนใจก็คือ รอบๆ พระอุโบสถนั้นมีตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็กตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่ระหว่างใบเสมาทั้ง 8 ซุ้มก็มีสิงโตหินจีนตัวเล็กตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ และด้านหน้าพระระเบียงที่ล้อมรอบอุโบสถนั้นก็มีตุ๊กตาหินจีนเป็นรูปคนแต่งกายในชุดแบบจีนยืนอยู่ในลักษณะต่างๆ กันเรียงเป็นแถวครบทั้งสี่ด้าน นอกจากนั้นที่มุมพระอุโบสถทั้ง 4 มุมยังมีพระเจดีย์หินแบบจีน มีผู้วิเศษจีนแปดคน หรือที่เรียกว่าโป๊ยเซียน ตั้งอยู่ในซุ้มของเจดีย์นั้นทั้ง 8 ทิศด้วยกัน
ต้องบอกว่าตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณนี้ก็มีเยอะไม่ใช่เล่น เพราะที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสี่วัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากที่สุด แต่โดยมากแล้วจะเป็นตุ๊กตาหินขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยอีกสามวัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากเช่นกันก็คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชโอรสาราม
วันที่ฉันไปไหว้พระที่วัดอรุณนี้ก็มีนักท่องเที่ยวมากันหนาตา และยังมีมุมน่ารักๆ เป็นหุ่นนางรำนางละครให้นักท่องเที่ยวได้เอาหน้าใส่เข้าไปถ่ายรูป หรือถ้าใครอยากจะแต่งชุดไทยถ่ายรูปกับวัดอรุณเลยที่นี่ก็มีบริการ ฉันเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติชอบกันนักล่ะ
ตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็กจำนวนมากภายในวัดอรุณฯ
แต่สิ่งที่น่าสนใจของวัดอรุณฯ นี้ยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพระวิหาร ซึ่งมีพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระประธานในพระวิหาร นอกจากนั้นก็ยังมีพระอรุณหรือพระแจ้ง พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วิหารนี้
* * * * *
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ 34 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600 เปิดให้เข้าตั้งแต่ 07.30-17.30 น. สอบถามโทร 0-2891-1149
การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 19, 57, 83 ผ่าน และมีเรือข้ามฟากจากท่าเตียนมายังวัดอรุณฯ ด้วย
|