หน้าแรก
พระพุทธเจ้า
เสียงธรรมบรรยาย
(เว็บบอร์ด) forum
สารบัญเว็บไทย
คำสอนหลวงพ่อพุธ
รวมรูปภาพ
Guestbook

ชมศิลปกรรมแห่งความงดงามที่ "วัดราชาฯ"


"พระอุโบสถ" รูปทรงแปลกตา ออกแบบโดยกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ถ้าเป็นต่างจังหวัดบ้านฉัน คงไม่ใช่เรื่องยากนักถ้านึกอยากจะไปวัดป่าหรือวัดที่มีแนวปฏิบัติเคร่งครัดแบบธรรมยุติ เพราะเห็นมีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่ถ้าเป็นวัดป่าสายธรรมยุติในเมืองฟ้าเมืองอมรอย่างกรุงเทพฯ นี่ฉันก็ไม่แน่ใจว่ามีกี่วัดที่ไหนบ้าง

แต่สิ่งที่ฉันรู้แน่นอน ก็คือวัดแรกที่ถือเป็นต้นกำเนิดแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุติกายนั้นอยู่ในเมืองกรุงนี้เอง นั่นก็คือ "วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร" หรือวัดราชาฯซึ่งนับเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ที่สำคัญคือยังเต็มไปด้วยศิลปกรรมที่มีความงดงามในรูปแบบและรูปทรงที่หลากหลายอีกด้วย


"ซุ้มคูหา" เหนือ "พระสัมพุทธพรรณี" ที่ออกแบบเป็น "พระราชลัญกรประยุกต์"

ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ฉันได้มาเที่ยวชมวัดราชาฯ ซึ่งแม้จะอยู่ในเมืองกรุงแต่ก็ยังร่มครึ้มปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ สมกับที่เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่าจริงๆ

ซึ่งวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยละโว้ เดิมชื่อว่า "วัดสมอราย" คู่กับวัดสมอแครงหรือวัดเทวราชกุญชรที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ว่าคำว่า สมอ มาจากคำเขมร ถมอ ซึ่งแปลว่าหิน ดังนั้นวัดนี้จึงแปลว่าหินเรียงราย เพราะในบริเวณวัดมีเสาหินเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดราชาธิวาสวิหาร" แปลว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา เพราะเป็นวัดแรกที่เป็นที่ประทับจำพรรษาของพระภิกษุเจ้าฟ้าแห่งราชวงศ์จักรี นั่นคือ รัชกาลที่ 2 และอย่างที่ฉันบอกไว้ว่าวัดแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด นับตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ และในรัชกาลต่อๆมา กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบันก็เช่นกัน

สิ่งที่ถือว่าวัดราชาฯ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็คือเมื่อรัชกาลที่ 4 สมัยที่ยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดนี้ ได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น เพราะเล่ากันไว้ว่า สมัยก่อนนั้นสภาพวัดเป็นป่ามีต้นไม้ใหญ่น้อย เหมาะสำหรับการเจริญภาวนาของพระสงฆ์ จึงเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป

และเนื่องจากเป็นวัดฝ่ายสมถะ พระสงฆ์เคร่งครัดในวิปัสสนาอยู่ในประเภทอรัญวาสี จึงไม่ค่อยสนใจในเรื่องการก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุในวัดและไม่ค่อยสะสมบริษัท จึงทำให้วัดทรุดโทรมลงโดยลำดับ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้รื้ออาคารสร้างใหม่หมดทั้งวัดนับเป็นการซ่อมและบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่

หนึ่งในนั้น ก็คือ "พระอุโบสถ" ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้ "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบ โดยมีลวดลายเลียนแบบสถาปัตยกรรมขอม มีเสาพาไลรอบ แต่ก็ยังคงรักษาโครงสร้างของพระอุโบสถเดิมที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้

เพียงเห็นพระอุโบสถแค่ภายนอก ก็ยังทำให้ฉันยืนนิ่งงันมองดูความสวยงามและแปลกตา ซึ่งที่ฉันรู้มาพระอุโบสถวัดราชาฯ นี้ยังนับเป็นต้นแบบในการออกแบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย และเมื่อเข้าไปภายพระอุโบสถก็ยิ่งต้องตะลึงกับความงามและความแปลกตาที่ไม่เหมือนใคร


"พระราชลัญกรประยุกต์"

โดยภายในพระอุโบสถนั้นมี "พระสัมพุทธพรรณี" เป็นพระประธานภายใต้เศวตฉัตร 9 ชั้น ซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้นรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชสรีรังคารสมเด็จพระนางเจ้าพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ไว้ เบื้องบนพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆกำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์ ที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง

และที่ด้านหลังพระประธานยังเป็นซุ้มคูหาที่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันออกกับตะวันตกได้อย่างลงตัว ซึ่งซุ้มคูหานี้ได้ออกแบบเป็น "พระราชลัญกรประยุกต์" ในรัชกาลที่ 1-5 โดยที่ยอดบนสุดแทนรัชกาลที่ 1 เป็นรูปมหาอุณาโลม ซึ่งคำว่าอุมีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระนามเดิมว่า "ด้วง"

ถัดลงมาเป็นรูปครุฑจับนาค แทนรัชกาลที่ 2 เนื่องจากพระนามเดิมคือ "ฉิม" ซึ่งตามความหมายของวรรณคดีไทยเป็นที่อยู่ของพญาครุฑ อีกด้านเป็นรูปมหาปราสาท แทนรัชกาลที่ 3 เพราะพระนามเดิมคือ "ทับ" ซึ่งหมายถึงที่อยู่หรือเรือน

ถัดลงมาอีกเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ แทนรัชกาลที่ 4 ตามพระนามเดิมคือ "เจ้าฟ้ามงกุฎ" ส่วนอีกด้านเป็นรูปพระพิฆเนศ ถือพระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยว ซึ่งเป็นรูปที่มีความหมายคล้ายพระนามเดิมของรัชกาลที่ 5 นั่นเอง


"ภาพจิตรกรรมฝาผนัง" ภายในพระอุโบสถที่เขียนแบบตะวันตก

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันสะดุดตาที่สุด ก็เห็นจะเป็น "ภาพจิตรกรรมฝาผนัง" ที่แสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งดูแตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด คือเป็นภาพเขียนแบบตะวันตกและใช้เทคนิคฝรั่งที่เรียกว่า สีปูนเปียก รูปร่างหน้าตาของพระเวสสันดรและคนอื่นๆ จึงดูออกแนวลูกครึ่งฝรั่งกันทั้งนั้น โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบและร่างไว้ และให้นาย ริโคลี จิตรกรชาวอิตาลี เป็นผู้เขียนภาพ ซึ่งนายคนนี้เป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

ไม่เพียงแต่หน้าตาจะเป็นฝรั่งเท่านั้น แต่ด้วยรูปร่างของคนก็ยังมีขนาดใหญ่ ท่าทางและการแสดงออกก็เป็นธรรมชาติและเหมือนจริง อย่างกล้ามมัดของเนื้อหนัง ความพลิ้วไหวของเสื้อผ้า และแสงเงาที่ตกทอด เมื่อดูแล้วก็มีมิติขึ้น นอกจากนี้เทคนิคการเขียนภาพเทคนิคแบบสีปูนเปียกนี้ยังมีข้อดีคือความคงทน สังเกตได้ว่าแม้ว่าภาพจะเขียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 แต่สภาพก็ยังสมบูรณ์ไม่มีการหลุดร่อน ซึ่งการเขียนแบบนี้ต้องอาศัยเทคนิคในการวาดอย่างมาก เพราะเมื่อเขียนแล้ว จะลบหรือแก้ไขไม่ได้เลย จึงนับเป็นความสามารถอย่างยิ่งของผู้เขียน


"ศาลาการเปรียญ" ที่ใหญ่โตและงามสง่า สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง

นอกจากนี้ด้านหลังของพระอุโบสถยังแบ่งเป็นอีกห้องหนึ่ง ประดิษฐาน "พระสัมพุทธวัฒธโนภาส" ซึ่งใต้ฐานชุกชีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรังคาร สมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเส้นพระเกศาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ไว้ด้วย

วัดราชาฯ ยังมี "ศาลาการเปรียญ" ซึ่งสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังที่นับได้ว่ามีขนาดใหญ่ จุคนได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี


"พระนิพพานทรงญาณ" พระพุทธไสยาสน์ที่งดงามและคล้ายคนจริงๆ

และที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้อย่างหนึ่ง คือที่ห้องประชุมตึกไชยันต์ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งกับวัดนั้น ยังเป็นที่ประดิษฐานของ "พระนิพพานทรงญาณ" พระพุทธไสยาสน์ปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก ที่ได้รับการกล่าวถึงว่ามีความงามโดดเด่นในด้านที่มีลักษณะเหมือนสามัญมนุษย์ที่งามที่สุด และนับเป็นอีกหนึ่งผลงานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ที่ว่าเป็นพระไสยาสน์ที่เหมือนคนนอนจริง ๆ นั้นก็ด้วยพระวรกายคล้ายคนธรรมดา ห่มจีวรที่พลิ้วไหวเป็นริ้วบางเบาคล้ายผ้าจริง พระเนตรหลับพริ้ม แม้กระทั่งลักษณะการวางพระบาท ก็เป็นไปในลักษณะสมจริงเช่นคนหลับทั่วไป แต่ทว่า เป็นอิริยาบถการนอนหลับที่งดงามยิ่ง ซึ่งพระนิพพานทรงญาณนี้ก็ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติแล้วด้วย

สิ่งที่ฉันเล่ามาเกี่ยวกับศิลปกรรมต่างๆ ในวัดราชาฯ คงไม่สามารถถ่ายทอดได้ถึงภาพและความรู้สึกทั้งหมด นอกเสียจากว่าคุณๆ จะต้องไปเยี่ยมชมและสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ

* * * * *

วัดราชาธิวาสฯ ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน 9 ใกล้ๆ กับหอสมุดแห่งชาติและท่าวาสุกรี มีรถเมล์สาย 3, 9, 19, 30, 33, 64, 65, 110, ปอ. 524 ผ่าน


ไปข้างบน