เที่ยววัด-ชมวัง ตามรอยนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
ความงดงามของพระที่นั่งวิมานเมฆ ฝีมือการกำกับออกแบบของสมเด็จฯ กรมพระยานริศราฯ (ภาพ : ททท.)
บรรดาตึกสูงๆ รูปทรงต่างๆ ในกรุงเทพที่มีมากยิ่งกว่าต้นไม้พวกนี้ ฉันว่าพอมองไปมองมามันก็เพลินดีเหมือนกัน และเวลาเห็นทีไรก็ต้องนึกทึ่งในความสามารถของคนสร้างทุกที ก็ไม่น่าเชื่อว่าเศษทรายเศษปูนหนักเป็นตันๆ พวกนั้นจะสามารถก่อเป็นรูปเป็นร่างแถมยังให้คนเข้าไปอยู่ได้อีกต่างหาก
และยิ่งนึกไปถึงว่า เมื่อก่อนนี้ที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างแบบ ไม่มีเครื่องมือช่วยทุ่นแรงอย่างในปัจจุบัน ก็ยิ่งทึ่งในฝีมือของคนสมัยก่อนที่สามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่งดงาม และอยู่คงทนมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมกัน
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร “สถาปัตยกรรมสมบูรณ์แบบของศิลปะไทย”
ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่อะไร แต่เพราะฉันกำลังนึกถึงบุคคลคนหนึ่ง ที่ใครๆ ต่างก็ยกย่องให้ท่านเป็น "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" เป็นนายช่างใหญ่ในยุคที่เครื่องไม้เครื่องมือยังไม่ทันสมัย แต่สามารถสร้างวัดวาอาราม รวมทั้งพระที่นั่ง และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้มากมาย บุคคลท่านนั้นก็คือ "สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์" หรือ ที่คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า กรมพระยานริศฯ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั่นเอง
สำหรับถ้อยคำที่ยกย่องพระองค์ว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามนั้น เริ่มมาจากที่พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่องของศิลปกรรมแขนงต่างๆ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงโปรดการทอดพระเนตรงานศิลปะต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง เช่น งานจิตรกรรมฝาผนังและตามบานประตูของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมักจะทรงวาดภาพต่างๆ ที่ทรงโปรดอยู่เสมอ
พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร แปลกตาด้วยรูปแบบเขมร
และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดงานฉลองกรุงเทพมหานครครบ 100 ปี รวมทั้งฉลองพระแก้วมรกตขึ้นใน พ.ศ.2423 จึงโปรดฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งทรุดโทรมมากไปพร้อมกัน พระองค์เจ้าจิตรเจริญ (ในขณะนั้น) ได้ทรงมีหน้าที่ซ่อมหอพระคันธารราษฎร์ทั้งภายในและภายนอก ซ่อมและทำซุ้มพระเจดีย์ลังกา และซ่อมรูปยักษ์หน้าพระอุโบสถคู่หนึ่ง
การทรงงานในครั้งนั้นถือเป็นการสะสมประโยชน์ทางความรู้เกี่ยวกับการช่างต่างๆ ซึ่งตรงกับความสนพระทัยของพระองค์อยู่แล้วด้วย จึงน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทรงสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปกรรมอย่างยิ่งใหญ่และงดงามต่อมาอีกหลายชิ้น
ในวันที่ 28 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ รวมทั้งเรียกว่าเป็น "วันนริศ" ฉันจึงจะพาไปชมผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และถือเป็นผลงานชิ้นเอกของสยามประเทศด้วยเช่นกัน
"วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอุโบสถของวัดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย" พระองค์ได้ทรงฝากฝีมือในการสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ นี้หลายสิ่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่พระอุโบสถ ที่ทรงออกแบบให้เป็นทรงจตุรมุข มีหลังคาซ้อนลดหลั่น 4 และ 5 ชั้นด้วยกัน แลดูอ่อนช้อยงดงาม ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีพระอุโบสถใดที่มีรูปทรงจตุรมุขแบบมาก่อน จะมีก็เป็นพระที่นั่งทรงจตุรมุขเท่านั้น
นอกจากนั้นในการก่อสร้างก็ยังใช้วัสดุสมัยใหม่ (ในขณะนั้น) อย่างหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี มาใช้ปูผนัง และพื้นพระอุโบสถ รวมทั้งยังมีการสั่งทำกระจกสี (Stained Glass) ที่ทำลวดลายเป็นรูปเทพนม แทนการทำหน้าบันปูนปั้นแบบโบราณ ซึ่งนอกจากจะสวยงามเป็นอย่างยิ่งแล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มแสงสว่างภายในพระอุโบสถได้ด้วย กระจกสีเหล่านี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงมีพระราชศรัทธาจ้างช่างจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ให้ทำขึ้น
พระที่นั่งวิมานเมฆ ออกแบบตามศิลปะตะวันตก
ส่วนสิงห์สลักหินอ่อนสองตัวที่นั่งคุมเชิงอยู่หน้าบันไดที่หลายคนคงจะจำกันได้นั้น ก็เป็นฝีมือการออกแบบของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระเบียงคดรอบพระอุโบสถที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปปางและสมัยต่างๆ ก็เป็นฝีมือของพระองค์เช่นกัน พื้นระเบียงคดปูด้วยหินอ่อน เสากลมจำนวน 64 ต้น ก็เป็นเสาหินอ่อนทั้งต้น นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น ศาลาหน้าพระอุโบสถ พระที่นั่งทรงธรรม ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการออกแบบของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามนี้ทั้งสิ้น
ไม่ไกลจากวัดเบญจมบพิตรฯ นัก ก็คือ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" ในพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมไปจรดคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างเป็นอุทยานสถานและพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"
จากนั้นจึงได้สร้างพระที่นั่งถาวรองค์แรกขึ้น ก็คือพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเดิมคือพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ตั้งอยู่ที่พระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง แต่ได้รื้อมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่พระราชวังดุสิตนี้ การก่อสร้างได้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้กำกับการออกแบบ
พิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปในพระระเบียงวัดเบญจบพิตร
พระที่นั่งวิมานเมฆนี้มีลักษณะของสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตก ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง มีการวางผังตัวอาคารเป็นรูปตัวแอล(L) งดงามตามแบบตะวันตกด้วยลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง
สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้จะแบ่งเป็นห้องต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด
แม้ว่าตำหนักอื่นๆ จะไม่ได้ออกแบบด้วยฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ภายในพระราชวังดุสิตก็ยังมีอาคารอีกหลายหลังด้วยกันที่มีความสวยงามและน่าสนใจ ถ้าใครมีเวลาอย่าลืมไปชมกัน
ย้อนกลับมาแถวๆ ถนนสามเสนกันบ้าง ที่ "วัดราชาธิวาสวิหาร" หรือชื่อเดิมคือวัดสมอราย วัดแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด ตั้งแต่การบูรณปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็เคยผนวชอยู่ที่วัดนี้เช่นกัน ดังนั้นวัดนี้จึงมีการบูรณะต่อเนื่องกันมาหลายสมัยและในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง มีการรื้อสิ่งก่อสร้างเก่าๆ หลายอย่างทิ้งไป และสร้างใหม่ขึ้นทดแทน รวมทั้งพระอุโบสถด้วย โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถหลังใหม่
ซุ้มพระประธานในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสฯ
สำหรับรูปแบบของพระอุโบสถนี้ต่างไปจากพระอุโบสถของวัดอื่นๆ เห็นได้ชัดเจน โดยดัดแปลงรูปทรงมาจากสถาปัตยกรรมขอม มีเสาพาไลรอบ ตรงส่วนด้านบนที่เป็นหน้าบันเรียกซุ้มบันแถลง ซึ่งซุ้มบันแถลงด้านข้างทั้งสองด้านจะประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้
เมื่อเข้าไปด้านในพระอุโบสถ จะพบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบลายซุ้มพระประธานซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรแบบประยุกต์ของรัชกาลที่ 1-5 และทรงออกแบบภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกด้วย โดยผู้วาดคือจิตรกรชาวอิตาเลียนชื่อ นายริโกลิ คนเดียวกับที่เขียนภาพบนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เทคนิคแบบเฟรสโก้ หรือเขียนสีลงบนปูนขณะที่ยังหมาดอยู่ โดยเฉพาะภาพบนผนังในซุ้มพระประธาน ถือว่าเป็นภาพเขียนที่งดงามอย่างยิ่ง
นอกจากงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ในวัดราชาธิวาสฯ แล้ว พระองค์ยังทรงออกแบบพระพุทธรูป "พระนิพพานทรงญาณ" พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน ซึ่งเป็นศิลปะประยุกต์แบบกรีก ที่มีลักษณะการปั้นที่ให้ความรู้สึกแบบสมจริง ใครที่ได้เห็นก็ต้องออกปากว่างามมากเหมือนกันทุกคน
และนี่ก็คือผลงานชิ้นเอกที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านยังมีมากเสียจนองค์การยูเนสโกลงมติให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก ใน พ.ศ.2506
และสิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นว่าบรรดาช่างสมัยนี้ควรยึดเป็นแบบอย่างก็คือ คติประจำใจของพระองค์ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ที่ว่า "...ต้องระวัง เพราะสร้างขึ้นด้วยความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพื่ออยากรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่ว่าจะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย"
* * * * *
|