ตามรอยพระถังซำจั๋ง ผู้อัญเชิญพระไตรปิฎก จากประเทศอินเดีย มายังประเทศจีน
“พระถังซำจั๋ง”
สำหรับเด็กๆ ผู้เคยอ่านนวนิยายหรือการ์ตูน 'ไซอิ๋ว' หรือ ในชื่อภาษาจีนกลางคือ ซีโหยวจี้ (西游记) หนึ่งในสี่ยอดวรรณกรรมอมตะของแผ่นดินจีน ก็คงทราบดีว่า ตามท้องเรื่องนั้น พระถังซำจั๋งได้รับพระบัญชาขององค์ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ถัง ให้เดินทางไปยังดินแดนชมพูทวีป เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมายังแผ่นดินจีน โดยระหว่างการเดินทาง พระถังซำจั๋ง มีศิษย์คอยรับใช้เป็นสัตว์เดียรัจฉานสามตน คือ ลิงเห้งเจีย (ซุนอู่คง:孙悟空) สุกรตือโป๊ยก่าย (จูปาเจี้ย:猪八戒) และ ปลาซัวเจ๋ง (ซาอู้จิ้ง:沙悟净)
หลังผ่านภยันอันตรายนานับประการ สุดท้าย คณะของพระถังซำจั๋ง ก็บรรลุจุดมุ่งหมายเดินทางไปถึงชมพูทวีป อัญเชิญพระไตรปิฏกกลับถึงแผ่นดินจีนสำเร็จ
ไซอิ๋ว เป็นหนังสือที่เด็กๆ ชาวเอเชียตะวันออก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบจะทุกคนรู้จัก หากพูดถึงในการละเล่นของวัยเยาว์ เด็กผู้ชาย แทบจะทุกคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นเห้งเจีย บ้างยอมเป็นซัวเจ๋ง ใครที่รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ หน่อยก็จะถูกจับให้เป็น ตือโป๊ยก่าย (ทั้งๆ ที่เจ้าตัวก็รับมาอย่างไม่เต็มใจนัก) มีน้อยคนนักที่จะยินยอมเป็น 'พระถังซำจั๋ง'
แต่เด็กคนใด จะทราบบ้างว่า ในความเป็นจริงแล้วการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกมาจากอินเดียนั้น พระถังซำจั๋ง บุกป่าฝ่าฟันอุปสรรค์นานับประการ ข้ามทะเลทราย สุดลูกหูลูกตาไปแต่เพียงผู้เดียว ....
ภาพวาดฝาผนังพระถังซำจั๋ง (玄奘) ที่ตุนหวง (敦煌) มณฑลกานซู่
พระถังซำจั๋ง มีตัวตนจริงเมื่อ 1,300 กว่าปีที่แล้ว โดยได้ฉายานามหลังจากออกบวชว่า เสวียนจั้ง (玄奘; ค.ศ.600-665) พระเสวียนจั้ง ดำรงชีวิตอยู่ใน ช่วงปลายราชวงศ์สุยถึงช่วงต้นราชวงศ์ถัง ท่าน มีนามเดิมว่า เฉินอี (陈袆) เกิดที่ลั่วโจว (洛州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) ในครอบครัวที่บิดาเคร่งครัดลัทธิขงจื๊อมาก ท่านมีพี่น้องรวม 5 คน โดยท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง
พออายุได้สิบขวบ บิดาของท่านก็เสียชีวิตตามมารดาที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว เนื่องจากชีวิตวัยเด็กอันลำบาก แต่ด้วยความเฉลียวฉลาด สนใจการศึกษาเรียนรู้ และความใฝ่ในธรรมะ พี่ชายของท่านสังเกตเห็นว่าน้องชายพอมีหัวทางศาสนาจึงฝากน้องไว้ศึกษาธรรมะที่วัดจิ้งถู่ (净土寺) ในนครลั่วหยาง พออายุได้ 13 ปี จึงบรรพชาเข้าสู่ร่มกาสวพัสตร์
ต่อมาเมื่อราชวงศ์สุยถึงจุดสิ้นสุด บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านจำต้องย้ายสถานที่จำวัดจากนครลั่วหยาง ไปยังฉางอาน (ซีอานปัจจุบัน) แต่ด้วยความวุ่นวายในการแย่งชิงบัลลังก์ในนครหลวงทำให้ไม่เหมาะที่จะจำวัด ท่านและพี่ชายจึงมุ่งลงใต้ย้ายไปยังนครเฉิงตู
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระเสวียนจั้งจึงตั้งใจว่าก็ย้ายกลับมาจำวัดที่นครฉางอานอันเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางของศาสนาพุทธในจีนขณะนั้น เพื่อเสาะหาพระอาจารย์ที่มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรม และฝากตัวเข้าศึกษาด้วย
ในประเทศจีนขณะนั้น ด้วยความที่ศาสนาพุทธ ได้เดินทางจากประเทศอินเดียผ่านเส้นทางสายไหมอันทุรกันดาร เข้ามาตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออก (东汉; ค.ศ.25-220) เวลาผ่านมาถึงสมัยถังรวม 500 กว่าปีแล้ว การตีความพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แตกแขนงออกไปเป็นหลากแนวทางหลายสำนัก เมื่อ พระเสวียนจั้งศึกษาพระคัมภีร์จนแตกฉานมากขึ้นก็บังเกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย แต่เมื่อหาคำตอบแล้วกลับพบว่า แต่ละสำนัก ต่างก็ตีความไปคนละทิศละทาง
ภาพวาดพระถังซำจั๋ง
ดังนั้นท่านจึงเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่าการแปล พระไตรปิฎกจากต้นฉบับมาเป็นภาษาจีนนั้นอาจทำให้ความดั้งเดิมในพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน และตัดสินใจว่า จะต้องเดินทางย้อนไปยังดินแดนอันเป็นต้นธารกำเนิดของศาสนาพุทธ ซึ่งก็คือ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมและคัดลอกนำกลับมายังแผ่นดินจีนให้ได้
อย่างไรก็ตามการเดินทางออกจาก มหานครฉางอานในช่วงที่สงคราม การเปลี่ยนราชวงศ์เพิ่งสงบ และเกิดการแย่งบัลลังก์กันในราชสำนักนั้นกลับมิใช่เรื่องง่ายแต่ประการใด โดยเฉพาะในปี ค.ศ.627 อันเป็นปีแรกที่ หลี่ซื่อหมิน (李世民) เพิ่งแย่งบัลลังก์มาจากพี่ชายหลี่เจี้ยนเฉิง (李建成) และขึ้นครองราชย์แทนหลี่ยวน (李渊) ผู้พ่อได้สำเร็จ
ด้วยความที่แผ่นดินจีนในขณะนั้นยังไม่มีเสถียรภาพ องค์ฮ่องเต้ถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน)จึงควบคุมการเดินทางเข้าออกนครฉางอานอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เมื่อ พระเสวียนจั้ง ได้ขออนุญาตเดินทางออกจากฉางอานไปยังอินเดีย (เหมือนกับขอพาสปอร์ตในปัจจุบัน) ถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ท่านจึงแอบลักลอบเดินทางออกจากนครฉางอานโดยผิดกฎหมายในเวลาค่ำคืน เพื่อหลบหลีกการไล่ล่าของทหารตรวจคนเข้าเมือง .... เดินทางอย่างโดดเดี่ยว"
พระเสวียนจั้ง (หรือ พระถังซำจั๋งในไซอิ๋ว) มิได้มีเงินถุงเงินถังจากราชสำนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอัญเชิญไตรปิฎกถึงอินเดีย มิได้มีผู้ช่วยเหลือเป็น เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ท่านต้องประสบพบนั้นกลับมิได้ลดน้อยไปกว่า เรื่องราวที่วรรณกรรมระบุแม้แต่น้อย
ท่านเสวียนจั้ง เพียงมี ความศรัทธาต่อศาสนาพุทธ เป็นเข็มทิศ เป็นแรงผลักดันให้เท้าก้าวเดิน ฝ่าฟันข้ามดินแดนอันแห้งแล้งมุ่งไปยังจุดหมายข้างหน้าที่สายตามิอาจมองเห็น ....
รูปปั้นพระเสวียนจั้ง ณ เจดีย์ห่านป่าใหญ่ (ต้าเอี้ยนถ่า:大雁塔) วัดต้าฉือเอิน (大慈恩寺) เมืองซีอาน
ปี ค.ศ.627 หลังจากออกจากฉางอาน พระเสวียนจั้ง เผชิญกับสภาวะธรรมชาติอันโหดร้าย เดินทางข้ามทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ภูเขาหิมะหนาวเหน็บ ทุ่งหญ้าที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ผจญกับอุปสรรคและสิ่งเย้ายวนสารพัดสารพัน โจรปล้นคณะพ่อค้า ลูกไม้รั้งท่านให้อยู่แสดงธรรมต่อของกษัตริย์ในประเทศต่างๆ ที่เป็นทางผ่าน ด้วย สตรี อำนาจ ทรัพย์สิน
พระเสวียนจั้ง เดินทางผ่าน 16 ประเทศ ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคกายและอุปสรรคใจ ทั้งมวลมาถึงจุดหมายคือ มหาวิทยาลัยนาลันทา (那烂陀) ในประเทศอินเดียที่แต่เดิมชาวจีนเรียกว่า จู๋กั๋ว (竺国)
พระเสวียนจั้งใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเวลา 6 ปีก่อนออกเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง ก่อนจะออกเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมกับพระไตรปิฎกที่คัดลอกมาจากต้นฉบับในปี ค.ศ.643
ในเส้นทางขากลับจากอินเดีย พระเสวียนจั้งใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าขาไปครึ่งหนึ่ง คือ ใช้เวลา 2 ปี โดยกลับถึงนครฉางอานเมื่อ ปี ค.ศ.645 พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 150 องค์ พระไตรปิฎกจำนวน 257 เล่มสมุด บรรทุกด้วยม้าจำนวน 20 ตัว รวมระยะเวลาที่ท่านจากบ้านไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียนานถึง 19 ปี รวมระยะการเดินทางกว่า 50,000 ลี้
"ระหว่างเส้นทางของการเดินทางกลับของพระเสวียนจั้ง ในบางช่วงท่านอาศัยเดินทางกับคณะพ่อค้าที่กำลังเดินทางมาค้าขายที่ฉางอาน แต่ก็โชคไม่ดีนักที่ คณะรวม 24 คนถูกโจรปล้นฆ่าเอาสินค้าไปไม่น้อย โดย สุดท้ายเมื่อมาถึงเมืองฉางอาน จากจำนวน 24 คน ต้องเสียชีวิตไปเสีย สองในสาม เหลือรอดมาได้เพียง 8 คน โดย พระเสวียนจั้งนั้นต้องขอร้องให้โจรละเว้นตัวท่านกับพระไตรปิฎกที่อุตสาหะไปนำมาจากอินเดีย"
"เมื่อกลับมาถึงเมืองจีน การเผยแพร่ศาสนาพุทธของ พระเสวียนจั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในราชสำนักขณะนั้นฮ่องเต้ยังคงยึดถึง ลัทธิและคำสอนของขงจื๊อเป็นหลัก โดย กว่าที่จะกล่อมองค์ฮ่องเต้ให้หันมานับถือศาสนาพุทธได้นั้น พระเสวียนจั้งก็ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ ฮ่องเต้ถังไท่จง เรื่อยมาจนถึงพระราชโอรส ฮ่องเต้ถังเกาจง"
ในเวลาต่อมาด้วยการอุทิศตนของ พระเสวียนจั้ง ท่านได้แปลพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมให้เป็นภาษาจีน จำนวนมากถึง 75 เล่มสมุด 1,335 ม้วน ซึ่งในปัจจุบัน พระไตรปิฎกฉบับแปลโดย พระเสวียนจั้ง ดังกล่าวก็ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในวงพุทธศาสนาของประเทศจีน
นอกจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาจีน ที่พระเสวียนจั้งได้ทิ้งไว้เป็นมรดกอันล้ำค่าสำหรับชาวจีนและชาวเอเชียตะวันออกแล้ว ท่านยังได้ทิ้ง 'บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)' บันทึกประวัติศาสตร์อันมีค่ามหาศาลไว้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรม สำหรับชาวโลกรุ่นหลังอีกด้วย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พระถังซำจั๋ง
•กำเนิดมหายาน
•ม่อเกาคู : การสาบสูญและการค้นพบ (2)
•พระพุทธรูปแห่งบามิยัน และพระคัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุด
|