'มันดาลา' มณฑลแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์
“...คำว่า ‘มันดาลา’ มาจากภาษาสันสกฤต ‘มันดา (manda)’ แปลเป็นภาษาทิเบต ตรงกับคำว่า ‘dkyil’ ซึ่งหมายถึง ‘แก่นศูนย์กลาง หรือที่นั่ง’ โดยใช้ในความหมายควบคู่ไปกับคำว่า ‘โพธิ’ หรือการตื่น การบรรลุธรรม ซึ่งชี้ถึงสถานที่นั่งภายใต้ต้นโพธิ์ ที่ซึ่งการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ได้เกิดขึ้น ส่วนคำว่า‘ลา (la)’ หมายถึง ‘วงล้อที่หลอมรวมแก่น’ ดังนั้น ‘มันดาลา’ จึงแปลว่า ‘ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆในขณะที่รู้แจ้ง’ และภาพเหล่านี้จะปรากฏในมโนทัศน์ของวัชราจารย์(ครูบาอาจารย์ในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน) สำหรับคนไทยเราเรียกคำว่ามันดาลาเป็นสำเนียงไทยว่า ‘มณฑล’ นั่นเอง ซึ่งก็มีความหมายสอดคล้องกัน
ในทางคัมภีร์แล้ว ทิเบตถือว่าทุกชีวิตก็คือมันดาลา มากกว่าจะเป็นเพียงแค่จุดของการ ตระหนักรู้ เพราะเราก็คือสิ่งแวดล้อมของเราเอง อาจกล่าวได้ว่า มันดาลาก็เปรียบเหมือน กับพิมพ์เขียวสำหรับการบรรลุธรรม ที่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ ที่แท้จริงเท่านั้น แต่ยังเป็นการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะแวดล้อม
โดยทั่วไป มันดาลามักจะสร้างเป็นวิหารที่มีประตู 4 ทิศ ซึ่งแต่ละทิศจะแสดงถึงพรหมวิหารทั้ง 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา และก่อนที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะเดินเข้าประตูได้นั้น จะต้องผ่านด่านทดสอบคือกำแพง 4 ชั้น ซึ่งประกอบไปดัวย
1.กำแพงไฟแห่งความรู้อันบริสุทธิ์
2.กำแพงเพชรแสดงความแข็งแกร่งและกล้าหาญ
3.กำแพงหลุมศพแห่งการมีสติรู้
4.กำแพงดอกบัวแสดงถึงการยอมอุทิศตนต่อพุทธะ
มันดาลาสามารถสร้างได้จากกระดาษ ผ้า หรือทรายก็ได้ โดยมักเริ่มจากโครงประกอบด้วยรูปทรงเรขาคณิตแบบง่ายๆ และค่อยๆเพิ่มรายละเอียดภายในตามแต่จินตนาการหรือ ภาพนิมิตที่เห็น ดังนั้นการสร้างแต่ละครั้งสิ่งที่สำคัญคือ จิตใจที่มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ กำลังสร้าง
พระลามะส่วนใหญ่รู้วิธีการสร้างมันดาลา เพื่อใช้ในการประกอบพีธีต่างๆ ซึ่งมักสร้าง โดยการโรยทรายผสมสี มันดาลาบางรูปใช้เวลาสร้างเป็นเดือน ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว การสร้างมันดาลาเป็นการฝึกฝนจิตอย่างหนึ่ง มโนจิตและสมาธิต้องดำเนินไปด้วยกัน การ สร้างมันดาลาไม่มีการร่างโครงร่างก่อน ไม่ว่ารูปเมนดาลานั้นจะใหญ่หรือเล็กขนาดใด ดังนั้นมโนจิตในมันดาลานั้นต้องเที่ยงตรง สมาธิต้องมั่นคง บางครั้งพระบางรูปจะท่องมนตราและแผ่เมตตาในขณะที่สร้างด้วย
ส่วนปริศนาธรรมที่แฝงมาในมันดาลานั้นก็คือ ไม่ว่าจะสมบูรณ์สวยงามหรือมั่นคง เพียงใด สุดท้ายก็ต้องสูญสลายไปตามธรรมชาติ และก็เช่นกันเมื่อสูญสลายไปแล้ว ก็จะต้องถูกสร้างขึ้นมาอีก เพราะความมีอยู่ทำให้เกิดความว่าง และความว่างก็เป็นบ่อเกิด ของความมีอยู่
นอกจากนี้ ชาวทิเบตเองยังมีความเชื่อว่า มันดาลาสร้างโดยพระผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ เนื่องจากในขณะที่สร้าง พระสงฆ์ได้อัญเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์มาสถิตในมันดาลา ซึ่งจะ เป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้มาเยี่ยมชมมันดาลา อีกทั้งยังช่วยคุ้มครองปกป้องสถานที่ซึ่งมันดาลานั้นตั้งอยู่อีกด้วย
ปัจจุบัน ได้มีการประยุกต์เรื่องมันดาลามาใช้ในการบำบัดรักษาโรคทางจิต โดยให้ผู้ รับการบำบัดวาดภาพมันดาลา ซึ่งเป็นการแสดงออกทางอารมณ์และจิตใต้สำนึกของตัวตน ภายใน ทำให้นักจิตแพทย์สามารถเข้าใจถึงปมปัญหาของคนไข้ได้มากขึ้น มันดาลาในยุค ปัจจุบันจึงมีรูปร่างและสีสันที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละบุคคลจะสร้างออกมา
อย่างไรก็ดี ภาพมันดาลาเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง บางท่านอาจสนใจเพียงความสวยงาม และความสงบสุขเมื่อได้พบเห็น แต่แท้จริงแล้วมันดาลา เป็นสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดสิ่งที่เป็น นามธรรมของพระพุทธศาสนาออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ความหมายที่แท้จริงซึ่งแฝง คำสอนในมันดาลาไม่ควรจะถูกมองข้ามไป และผู้ที่จะนำมันดาลาไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆ ควรมีความเข้าใจในหลักการพื้นฐานทางพุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องสุญญตา และหลักธรรมต่างๆ เป็นอย่างดีเสียก่อน และควรตระหนักอยู่เสมอถึงสาระของมันดาลา และประโยชน์ที่ได้รับต่อการปฏิบัติและการฝึกจิตในการพิจารณา...”
|