วิถี แห่ง การปฏิบัติ วิถี แห่ง พระอาจารย์ "มั่น" วิถี แห่ง ปฏิบัติโดยตน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
หากตัดรายละเอียดบางประการอันเป็นเชิงอุปมาว่าด้วย เทพ เข้ามาเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ในระหว่างการปฏิบัติธรรม
ต้องยอมรับว่าสำนวนเขียน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า วรรณวิจิตร
ตรงนี้เองที่ทำให้ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เกิดความทึ่ง และตรงนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางที่ไม่เห็นด้วยจาก มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ"
เพราะท่านตีความว่า อรหันต์ ที่มาแสดงธรรม ไม่น่าเป็นไปได้
กระนั้น หนังสือ "ประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" สำนวนเขียนของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
ไม่ว่าเมื่อตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร "ศรีสัปดาห์" หรือว่ามีการรวบรวมตีพิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่
แต่ละบรรทัดต่อไปนี้เป็นเนื้อความท่อนสุดท้าย
เป็นเนื้อความที่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน สะท้อนความรู้สึกของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ออกมาในเช้าวันรุ่งขึ้น
โปรดอ่าน
ตลอดคืนวันนั้นท่านปลงความสลดสังเวชในความโง่เขลาเต่าตุ่นซึ่งเปรียบเหมือนหุ่นตัวท่องเที่ยวในภพน้อยภพใหญ่ไม่มีประมาณจนน้ำตาไหลตลอดคืน
ในขณะที่เดินทางมาพบบึงใหญ่มีน้ำใสสะอาด รสชาติมหัศจรรย์ ที่ไม่เคยพบมาก่อน ชื่อว่า "หนองอ้อ"
และ "อ้อนี้เองหรือ" ที่พระพุทธเจ้าและสาวกท่านค้นพบว่าหนองอ้อและประกาศธรรมสอนโลกมาได้ตั้ง 2,000 กว่าปีแล้ว เพิ่งมาพบวันนี้
และกราบพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์อย่างถึงใจ โดยกราบแล้วกราบเล่าอยู่ทำนองนั้นไม่อิ่มพอ
ถ้ามีคนไปพบเห็นเข้าซึ่งกำลังนั่งปลงธรรมสังเวชด้วยทั้งน้ำตาและก้มกราบแล้วกราบเล่าอยู่เช่นนั้นคงจะมีความรู้สึกผิดปกติขึ้นมาทันทีว่า สมณะรูปนี้เห็นท่าจะมีทุกข์มากถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมา
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ความจริงก็คือท่านถึงพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ประจักษ์ใจในคำว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต
พอสว่างออกจากที่ภาวนาแล้วท่านยังหวนระลึกถึงธรรมที่แสดงความอัศจรรย์ในตอนกลางคืนอยู่มิได้ลืม ทั้งขณะที่แสดงความหลุดพ้น ทั้งขณะที่แสดง 2-3 รอบตอนสุดท้ายที่แสดงความหมายต่างๆ ให้ท่านเห็นอย่างละเอียดลออ
ทั้งหวนระลึกคุณของต้นไม้ที่ท่านอาศัยนั่งภาวนาและสถานที่อยู่อาศัย ตลอดชาวบ้านที่ให้ทานอาหาร ปัจจัยความเป็นอยู่ทุกอย่างตลอดมา
จนถึงเวลาบิณฑบาต ซึ่งทีแรกท่านนึกจะไม่ไปบิณฑบาตมาฉัน โดยคิดว่าเท่าที่เสวยวิมุตติสุข ตอนกลางคืนมาถึงบัดนี้ก็พอกับความต้องการอยู่แล้ว แต่อดคิดเมตตาสงสารชาวบ้านป่าบ้านเขาที่เคยมีบุญคุณต่อท่านมิได้ เลยจำต้องไปทั้งที่ไม่ประสงค์จะไป
ขณะออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวเขาสายตาปรากฏว่า ตั้งหน้าตั้งตาจับจ้องมองดูชาวบ้านทั้งที่มาใส่บาตร ทั้งที่อยู่ตามบ้านตามเรือน ตลอดเด็กเล็กๆ ที่เล่นคลุกฝุ่นอยู่ตามหน้าบ้านหลังเรือนด้วยความสนใจและเมตตาสงสารเป็นพิเศษ
ทั้งที่แต่ก่อนไม่ค่อยมองดูใคร แม้ประชาชนทั้งบ้านก็รู้สึกหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นพิเศษมองเห็นท่านแล้วต่างยิ้มย่องผ่องใสไปตามๆ กัน
กลับมาถึงที่พักแล้วใจก็อิ่มธรรม ธาตุขันธ์ก็อิ่มพอในอาหารทั้งที่ยังมิได้ลงมือฉัน
จิตใจและธาตุขันธ์ไม่รู้สึกหิวโหยอะไรเลย แต่ก็ฝืนฉันไปตามจารีตของขันธ์ที่มีความสืบต่อกันด้วยอาหารปัจจัยเป็นเครื่องประสาน ขณะฉันอาหารก็ไม่มีรสชาติมีแต่รสแห่งธรรมท่วมท้นไปหมดทั่วร่างกายจิตใจ
เข้าในบทธรรมว่า รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง
เป็นรสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวงอย่างแท้จริง
เป็นรสแห่งธรรมอัน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาจากการตามรอยพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้มาจากการลงมือปฏิบัติโดยตน
|