ภาษีวัตถุมงคล โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
จตุคามรามเทพ เจดีย์ราย
ชื่อ “จตุคามรามเทพ” กำลังเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงธุรกิจวัตถุมงคล ในฐานะที่เป็นวัตถุมงคลที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 100 รุ่น องค์จตุคามฯ บางรุ่น มีราคาสูงถึง 1 ล้านบาท มีเงินหมุนเวียนในการค้าขายแลกเปลี่ยนกันกว่า 1,000 ล้านบาท
ขณะนี้ สรรพากรจังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีจากการสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้เกี่ยวข้อง
ผมมีความเห็น ดังต่อไปนี้
1. วัตถุมงคลกับพระพุทธศาสนา
มักมีการอ้างอยู่เสมอว่า การผลิตวัตถุมงคล พระเครื่อง พระบูชา เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทำให้ประชาชนมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ การมีพระไว้ติดตัวทำให้มีสติหวนนึกถึงพระธรรมคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา มิหนำซ้ำ อิทธิปาฎิหาริย์ของวัตถุมงคลยังช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บูชาให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
ข้ออ้างนี้ ควรจะถูกตรวจสอบอย่างมีเหตุผล และเจริญสติปัญญา
พระพุทธศาสนา สอนให้พุทธศาสนิกชนใช้สติปัญญาอยู่เหนือความงมงายในอิทธิปาฎิหาริย์ และพระพุทธเจ้าก็ไม่สรรเสริญในอิทธิปาฎิหาริย์ หรืออิทธิฤทธิ์ พลังเหนือธรรมชาติของวัตถุมงคลใดๆ ไม่ว่าจะช่วยให้มีโชคลาภ หรือช่วยให้แคล้วคลาด แต่ทรงสั่งสอนให้ศิษย์ตถาคตใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท ใช้เหตุผล และสติปัญญาไตร่ตรองตามหลักอิทัปปัจยตา คือการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุและปัจจัยของสิ่งต่างๆ
อาจจะจริงอยู่บ้างว่า การครอบครองวัตถุมงคลทำให้ผู้ครอบครองมีความรู้สึกอุ่นอกอุ่นใจ แต่ความรู้สึกที่ว่า หาได้เกิดขึ้นอย่างมีสติรู้เท่าทันเฉกเช่นที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาสอนสั่งไม่
ถ้าห้อยวัตถุมลคลแล้วแคล้วคลาดจริง ก็ขับรถไม่ต้องใส่หมวกกันน็อค ไม่ต้องตรวจเช็คสภาพรถ
ถ้าห้อยวัตถุมงคลแล้วร่ำรวย ก็ทำหากินโดยไม่ต้องประมาท ลงทุนเสี่ยงได้เต็มที่
อย่างนั้นหรือ ?
ร้านขายจตุคามรามเทพ
ยิ่งกว่านั้น การปลุกเสกวัตถุมงคล ก็คือ การเอาดิน เอาทราย มาประกอบกันเป็นวัตถุขึ้นชั้นหนึ่ง แล้วประกอบพิธีกรรม “ปลุก-เสก” โดยให้พระเกจิอาจารย์มาเป็นผู้ประกอบพิธี ยังเป็นพิธีกรรมที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา เพราะศิษย์ตถาคตย่อมตระหนักดีว่า พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนาก็ไม่เคยเสื่อม ไม่ต้องให้ใครมา “ปลุก-เสก” หรือประกอบพิธีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ทุกวันนี้ พิธีกรรมการปลุกเสก กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุมลคลอย่างชัดเจน บางวัดถึงกับขึ้นป้ายโฆษณาว่า พระรุ่นนี้ประกอบพิธีบูชาปลุกเสกกันบนเครื่องบิน เพื่อให้ดูแปลก และสูง ดูขลัง จะได้ราคาแพงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ข้ออ้างในทำนองว่า วัตถุมงคลช่วยให้คนเข้าใกล้พระพุทธศาสนามากขึ้น กลับน่าจะตรงกันข้าม หากพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมัวเมาแต่บูชาวัตถุมงคล ซึ่งเป็น “วัตถุ” มากกว่าการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา
จตุคามรามเทพ
2. การเก็บภาษีกับวัตถุมงคล
ภาษีที่จัดเก็บกันอยู่ในประเทศไทย โดยหลักๆ มีอยู่ 3 ชนิด คือ ภาษีเงินได้หรือภาษีสรรพากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต
2.1 ภาษีเงินได้ หรือภาษีสรรพากร จัดเก็บจากผู้มีรายได้ทั่วไป ใครประกอบอาชีพหรือประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนหนึ่ง ก็จะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐ
ภาษีประเภทนี้ ใครมีรายได้มากก็จ่ายมาก ใครมีรายได้น้อยก็จ่ายน้อย หรือใครมีรายได้น้อยจริงๆ ก็ไม่ต้องจ่าย
ภาษีประเภทนี้ หากผู้ทำมาค้าขายกับวัตถุมงคลแล้วเกิดเงินได้ขึ้นมา ก็ควรจะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาประเมินเพื่อจ่ายภาษีประจำปีอยู่แล้ว เช่น ขายวัตถุมงคลได้เงิน 1 ล้านบาท ก็จะต้องถือว่าเงินได้ 1 ล้านบาทเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อจ่ายภาษีสรรพากร เป็นต้น
2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในสินค้าเกือบทุกชนิดที่ค้าขายกันอยู่ในท้องตลาด ไล่ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันถุงยางอนามัย
วิธีการจัดเก็บภาษีชนิดนี้ เขาจะไปจัดเก็บจากผู้ผลิตสินค้าชนิดต่างๆ อาทิ เก็บร้อย 7 ของมูลค่าสินค้าชนิดนั้นๆ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อจัดเก็บแล้ว ผู้ผลิตสินค้าแต่ละชนิดก็จะคำนวณค่าภาษีเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจตั้งราคาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคต่อไป
ปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดเก็บจากการผลิตวัตถุมงคล
น่าคิดว่า วัตถุมงคลเป็นกิจกรรมการผลิตที่สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” อย่างมหาศาล เพราะเป็นการนำเอาดิน ทราย มาประกอบกัน ใช้ฝีมือออกแบบประดิษฐ์ลวดลาย ก่อนจะนำไปผ่าน “พิธีกรรมปลุกเสก”
ต้นทุนค่าดิน-ทราย วัตถุดิบ ค่างานช่างฝีมือ กับราคาของวัตถุมงคลที่ผ่านการปลุกเสกแล้ว พบว่า เกิด “มูลค่าเพิ่ม” มหาศาล
บางรุ่น บางองค์ นับล้านบาท
ฉะนั้น หากมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจริงๆ ก็น่าจะสมเหตุสมผล
พระผงสุริยันจันทราเทวโพธิสัตว์
2.3 ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่จัดเก็บกับสินค้าฟุ่มเฟือย ที่ต้องการให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าชนิดนั้นลง เพราะเมื่อเก็บภาษีสรรพสามิตแล้ว จะทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาแพงขึ้น เช่น บุหรี่ สุรา อาบอบนวด เป็นต้น
ถามว่า พระธรรมคำสอน เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่?
ตอบว่า ไม่ใช่ แต่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวพุทธ ที่ไม่ต้องซื้อหา แต่สามารถลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
แต่ถ้าถามว่า วัตถุมงคล จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่?
ดูจากราคาค่าเช่า ค่าซื้อขายกันแล้ว ก็น่าจะเข้าข่าย
และถามว่า รัฐต้องการส่งเสริมให้ประชาชนลุ่มหลง มัวเมา หรือซื้อขายวัตถุมงคลกันมากๆ หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือไม่ ก็อาจจะต้องพิจารณาเรื่องภาษีสรรพสามิตด้วย
หากมีการจัดเก็บภาษีวัตถุมงคลจริง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต ก็ย่อมจะทำให้วัตถุมงคลมีราคาแพงยิ่งขึ้น ปริมาณการซื้อขายน้อยลง เฉกเช่นสินค้าทั่วไปที่มีราคาแพงขึ้น ผู้คนก็จะต้องการซื้อน้อย โดยพยายามหาทางเลือกสินค้าตัวอื่นทดแทน ถ้าหาตัวอื่นทดแทนได้ก็จะหันไปซื้อตัวอื่น แต่ถ้าหาทดแทนไม่ได้จริงๆ และจำเป็นต้องใช้ ถึงจะกัดฟันซื้อต่อไป
กรณีวัตถุมงคล ถ้าราคาแพงแล้ว ทำให้คนเลิกคิดจะพึ่งแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หันมาพึ่งตัวเองมากขึ้น เจริญสติปัญญามากขึ้น ย่อมจะเป็นผลข้างเคียงที่พึงปรารถนา เช่น แทนที่จะเอาเงินล้านไปซื้อวัตถุมงคลมาบูชา แต่เอาไปลงทุนประกอบอาชีพอย่างรอบคอบ ก็อาจจะรวยได้เหมือนกัน เป็นต้น
การจะเก็บภาษีวัตถุมงคล ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะคิดหาทางแก้ไข ก่อนจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องตลาดมืด หรือการอ้างอิงกับการกุศล
เพิ่มรายได้เข้ารัฐในพร้อมๆ กับการเพิ่มความชัดเจนของพระพุทธศาสนา
|