บุญเก่ากับทุนใหม่
เคยนึกสงสัยไหมว่า
ประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่ เศรษฐกิจมักล้าหลัง เต็มไปด้วยคนยากจน ไม่ว่าจะรวยน้ำมัน ป่าไม้ แร่ธาตุ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ลองใส่ชื่อมาดูก็จะพบว่า แทบทั้งหมดมีหนี้สินล้นประเทศ หรือไม่ก็จัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ชิลี อาร์เจนติน่า บรูไน อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทยเป็นตัวอย่างเพียงน้อยนิด
ตรงกันข้าม ประเทศที่มั่งคั่งทางเศรษฐกิจและเจริญด้วยเทคโนโลยี เกือบทั้งหมดเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ต้องนำเข้าอาหาร น้ำมัน วัตถุดิบอย่างมหาศาล ไม่ต้องมองไปไกลถึงยุโรป แค่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็เห็นชัดแล้ว
มีคำอธิบายหลายประการในเรื่องนี้ อย่างแรกก็คือความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติ มักเป็นตัวดึงดูดให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาเอารัดเอาเปรียบ จนเจ้าของประเทศกะปลกกะเปลี้ย แต่พูดเท่านี้คงไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรเลยอย่างสิงคโปร์จึงพัฒนาตนจนกลายเป็นประเทศร่ำรวยได้
ประเทศสิงคโปร์
การศึกษาวิจัยเมื่อไม่กี่ปีมานี้พบว่า ประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติมักกลายเป็นประเทศยากจน ก็เพราะเอาแต่พึ่งพาหากินกับทรัพยากรที่มีอยู่ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย แค่ขุดลงไปในดินก็เจอน้ำมัน หรือเข้าป่าก็เจอไม้แล้ว ดังนั้นจึงไม่ค่อยสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยี หรือบุกเบิกสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่สำคัญคือไม่สนใจจะพัฒนาคนด้วย
ตรงกันข้ามกับประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร มักหาทางดิ้นรนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือช่องทางใหม่ๆ เพื่อมีเงินตราเข้าประเทศ ซึ่งต้องอาศัยมันสมองและความสามารถ การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับความอยู่รอดของประเทศเหล่านี้
จะว่าไปแล้วประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมองว่า คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด (เพราะเป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่เหลือเฟือ) ในขณะที่ประเทศซึ่งร่ำรวยด้วยทรัพยากร กลับไปให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่า
พูดง่ายๆ ประเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ชอบกิน “บุญเก่า” มองในแง่นี้เราคงจะเรียกความมั่งคั่งดังกล่าวว่าเป็น “โชค” ไม่ได้เสียแล้ว หรือถึงจะเป็นโชคก็ต้องระวังให้มากๆ เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าของหลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จที่มาได้ง่ายๆ จนลืมที่จะใช้สมองเพื่อคิดค้นสร้างสรรค์
คนรวย
ถ้าเปลี่ยนจากประเทศมาเป็นตัวบุคคล อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ก็คงเห็นชัดมากขึ้น
ใครที่รวยมาตั้งแต่เกิด ประเภทคาบช้อนเงินช้อนทองออกมา อย่านึกว่าโชคดีหรือได้เปรียบกว่าคนอื่น ลาภที่ได้มาง่ายๆ เหล่านี้มักจะทำให้เจ้าของเพลิดเพลินกับการกินบุญเก่า หรืองอมืองอเท้า แทนที่จะพัฒนาสติปัญญาหรือความสามารถของตนขึ้นมา
พ่อแม่สมัยนี้พยายามหาเงินหาทองเข้าบ้านเยอะๆ เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกมีชีวิตที่สุขสบายในวันข้างหน้า ผลที่ให้อาจตรงกันข้ามก็ได้ เพราะเหตุว่าไปให้ความสำคัญกับวัตถุภายนอกมากกว่าศักยภาพภายในของเด็กเอง
ส่วนคนที่ยากไร้ขัดสนก็อย่าคิดว่าอนาคตอับจน มองให้ดีความยากไร้ อาจเป็นโชคที่แอบแฝงก็ได้ เพราะเมื่อไม่มีบุญเก่า ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือสร้าง “ทุนใหม่” ขึ้นมา นั่นคือ สติปัญญาและความสามารถ ซึ่งเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วทุกคน
ประเทศฉันใด บุคคลก็ฉันนั้น ทุนเดิมจะมีหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับทุนใหม่ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้ทั้งนั้นจากศักยภาพภายใน
ถ้าเราให้ความสนใจ
กับการสร้างทุนใหม่กันให้มากๆ
ไม่คิดแต่จะกินบุญเก่าร่ำไป
ประเทศของเรา ชีวิตของเรา
และลูกหลานของเราย่อมดีกว่านี้แน่
|