อิ่มบุญกับงานมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ หนึ่งเดียวในเมืองไทย
องค์พระธาตุวัดพระมหาธาตุฯแห่งเมืองคอน สถานที่จัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ
จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดงานประเพณี “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ” งานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ ในช่วงมาฆบูชา ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ริมถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง
ประเพณีมาฆบูชา เป็นประเพณีอันเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะจัดขึ้นในวันมาฆบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาซึ่งชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พร้อมใจกันประกอบศาสนพิธีในวันดังกล่าว โดยจัดทำ “ผ้าพระบฎ” เพื่อนำไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นการน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิฐานว่าเป็นประเพณีที่รับมาจากอินเดีย การจาริกแสวงบุญสักการบูชาพระบรมธาตุ ถือเป็นมงคลสูงสุดที่บรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศมุ่งหวังจะปฏิบัติ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต
ตามประวัติกล่าวว่า ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชขณะเตรียมการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบใหญ่ยาวผืนหนึ่ง ซึ่งมีลายพุทธประวัติเรียกว่า “ผ้าพระบฎ” ขึ้นที่ชายหาดอำเภอปากพนัง ชาวปากพนังจึงได้เก็บผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช จึงรับสั่งให้ซัก “ผ้าพระบฎ” และนำผ้าพระบฎขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นพุทธบูชา การสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ จึงถือเป็นงานประจำปีของเจ้าเมืองนครต่อมา การสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์และแห่ “ผ้าพระบฎ” เพื่อนำไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์นิยมทำกันในวันมาฆบูชา และวิสาขบูชา
สำหรับ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อ.เมือง วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เป็นที่หมายไว้
ต่อมาในปีมหาศักราช 1098 (พ.ศ.1719) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์มีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงลังกาสูง 55.78 เมตร (กรมศิลปากรวัดเมื่อการบูรณะปลียอดทองคำเมื่อ พ.ศ. 2538) จากฐานบัวคว่ำบัวหงายถึงปลียอด 6.80 เมตร ใช้ทองคำเนื้อสิบหุ้มโดยรอบ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่มีความสำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงมีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า “พระศรีธรรมาโศกราช” ประดิษฐานอยู่ วิหารพระมหาภิเนษกรมน์ (วิหารพระทรงม้า) วิหารทับเกษตร ส่วนวิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกานั้นเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา
|