ไหว้พระ 9 วัด ที่ “หลวงพระบาง”
ด้านหลังสิมวัดเชียงทองและหอพระม่าน
“หลวงพระบาง” เป็นเมืองมรดกโลกของประเทศลาว เสน่ห์ของเมืองหลวงพระบางนั้นคงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความ เพราะหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของความสงบงามอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้อยู่บ่อยๆ
ในเรื่องความศรัทธาอันเหนียวแน่นต่อพระพุทธศาสนาของชาวหลวงพระบางก็เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้ไปเห็นเกิดความประทับใจ คราวนี้ขอนำพาไปไหว้พระ 9 วัดตามธรรมเนียมไทย ที่หากจะไหว้กันจริงๆแล้ว ในตัวเมืองหลวงพระบางมีอยู่ถึง 26 วัดให้เลือกเที่ยวเลือกไหว้กันตามใจชอบ
พระธาตุหมากโม วัดวิชุน
จักรยานดูจะเป็นพาหนะที่สะดวกสบายและเหมาะสมกับเมืองหลวงพระบางที่สุด โดยเส้นทางการไหว้พระวันนี้เราเริ่มต้นกันที่ “วัดวิชุนราช” วัดที่เจ้าชีวิตวิชุนราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ. ศ.2046 และตั้งชื่อวัดตามพระนามของพระองค์ วัดแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางอีกด้วย
เราเข้าไปไหว้พระประธานภายใน “สิม” หรือโบสถ์ในภาษาไทย หลังจากกราบพระเรียบร้อยแล้วอย่าลืมเดินไปด้านหลังพระประธานเพื่อชมพระพุทธรูปไม้เก่าแก่ รวมทั้งศิลปวัตถุต่างๆ ที่รวบรวมจากวัดร้างต่างๆ ในหลวงพระบางมาเก็บรักษาไว้ที่นี่ ในวัดวิชุนยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “พระธาตุหมากโม” พระธาตุที่มีลักษณะคล้ายผลแตงโมคว่ำผ่าครึ่ง เป็นพระธาตุสำคัญของวัดและของเมืองหลวงพระบางอีกแห่งหนึ่งด้วย
และที่อยู่ติดกันกับวัดวิชุนก็คือ “วัดอาฮาม” วัดเล็กๆ แต่มีความสำคัญตรงที่เป็นสถานที่เก็บรักษาชุดปู่เยอ ย่าเยอ และสิงแก้ว ชาวลาวเคารพนับถือปู่เยอ ย่าเยอว่าเป็นเทวดารักษาเมือง ส่วนสิงแก้วนั้นก็เป็นสัตว์เลี้ยงของปู่กับย่า และในงานบุญวันปีใหม่ของลาว หรือในช่วงวันสงกรานต์นั้นจะเป็นช่วงเดียวที่ชุดปู่เยอ ย่าเยอ และสิงแก้วจะถูกนำออกมาสวมใส่และอยู่ร่วมในขบวนแห่พระบาง รวมทั้งจะเป็นผู้ขึ้นสรงน้ำพระบางเป็นคู่แรกอีกด้วย ถ้าใครอยากเห็นก็ต้องมาเที่ยวหลวงพระบางในช่วงงานบุญปีใหม่เท่านั้น
ความงดงามของสิมและเจดีย์วัดทาดหลวง
จากวัดอาฮาม เราขี่จักรยานไปตามถนนพูสี ถนนสายเล็กๆ เลียบไปตามแม่น้ำคานที่มีทัศนียภาพที่งดงาม ในแถบนี้มีวัดอยู่หลายวัดด้วยกัน เรียกว่าเป็นกลุ่มวัดก็ว่าได้ ซึ่งเราขอรวบเป็นหนึ่งในเก้าวัดเลยเพื่อความสะดวก เริ่มจาก “วัดป่าฝาง” และ “วัดป่าแค” ซึ่งเป็นวัดร้าง วัดป่าฝางนั้นเป็นวัดศิลปะล้านช้างที่งดงาม แต่อยู่ระหว่างการบูรณะ ส่วนวัดป่าแคก็มีสิ่งซึ่งไม่ควรพลาดชมคือทวารบาลเป็นรูปชาวตะวันตกยืนอยู่บนหลังสุนัข ด้านหลังสิมวัดป่าแคจะมีบันไดทางขึ้นไปยัง “วัดสีพุดทะบาด” ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทให้สักการะอยู่ด้านบน อีกทั้งตรงจุดนี้ยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำคานมุมสูงที่สามารถมองไปได้ไกลและงดงามมากอีกด้วย และหากเดินไปตามทางเชื่อมก็จะพบกับ “วัดถ้ำพูสี” ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถเดินขึ้นไปยังพระธาตุพูสีได้
เรายังไม่ขึ้นพระธาตุพูสีกันในตอนนี้ แต่เลือกที่จะขี่จักรยานไปที่ “วัดแสนสุขาราม” กันก่อน ที่วัดแสนฯ แห่งนี้มีสิมที่งดงามด้วยภาพเขียนลายทองบนพื้นแดงดูสว่างสดใส อีกทั้งวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปยืนที่ชาวหลวงพระบางเรียกกันว่า พระเจ้า 18 ศอก เพราะมีความสูง 18 ศอก ซึ่งเป็นวัดแห่งเดียวของเมืองหลวงพระบางที่มีพระพุทธรูปยืน
จากวัดแสนฯ เราแวะไปดูปากคาน หรือบริเวณที่สายน้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ก่อนจะขี่จักรยานเลียบแม่น้ำโขงเพื่อมาชมสุดยอดสถาปัตยกรรมของล้านช้างที่ “วัดเชียงทอง” วัดที่ได้รับยกย่องว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวที่ยังสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้ถูกทำลายจากกองทัพฮ่อที่บุกปล้นเมืองหลวงพระบางเหมือนวัดอื่นๆ
สิมวัดเชียงทองที่โดดเด่นไปด้วยสถาปัตยกรรมล้านช้าง
สิมของวัดเชียงทองนั้นเป็นแบบล้านช้าง มีหลังคาซ้อน 3 ชั้น รูปทรงหลังคาผายกว้างออกเรียกว่าหลังคาปีกนก ทั้งภายในและภายนอกสิมล้วนมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรดน้ำด้วยการ “พอกคำ” หรือลงรักปิดทองเป็นเรื่องราวนิทานพื้นบ้านและเรื่องเกี่ยวกับศาสนา และหากเดินมาทางด้านหลังสิมก็จะเห็นลวดลายประดับกระจกสีเป็นรูปต้นไม้ใหญ่ มีนกและสัตว์นานาชนิด ซึ่งต้นไม้นั้นก็คือต้นทอง หรือต้นงิ้ว ที่พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้โปรดฯ ให้ช่างทำไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชื่อเชียงทอง หมายความถึงป่าต้นทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดั้งเดิมบริเวณนี้นั่นเอง
และสิ่งที่ประทับใจนักท่องเที่ยวทุกคนที่ได้มาวัดแห่งนี้ก็คือ หอพระม่านและหอพระพุทธไสยาสน์ที่อยู่ด้านหลังสิม หอพระเล็กๆ สองหลังนี้ทาด้วยสีชมพู ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นลวดลายเล่าเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของลาว หากลองเดินดูใกล้ๆ ก็จะได้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวลาวผ่านรูปภาพเหล่านั้นด้วย
สิ่งสำคัญในวัดเชียงทองยังไม่หมดเท่านี้ ยังมีโรงเมี้ยนโกศ หรือโรงราชรถที่ใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ ด้านหน้าราชรถเป็นพญานาค 5 ตัวกำลังชูคออ้าปาก นอกจากนั้นภายในโรงราชรถก็ยังมีศิลปวัตถุจำนวนมาก เช่นพระพุทธรูปไม้ บานประตูโบราณ และที่น่าสนใจชมก็คืองานแกะสลักไม้ด้านหน้าโรงเมี้ยนโกศเป็นเรื่องรามเกียรติ์ โดยฝีมือของเพียตัน (พระยาตัน) สุดยอดช่างลาวคนหนึ่ง
องค์พระธาตุพูสีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง
จากวัดเชียงทองต้องขี่จักรยานเลียบแม่น้ำโขงมาไกลหน่อยเพื่อมายัง “วัดทาดหลวง” วัดที่มีบรรยากาศเงียบสงบเนื่องจากอยู่ค่อนข้างไกลจากชุมชน วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2361 มีเจดีย์ซึ่งเป็นที่เก็บพระสรีรังคารของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเมื่อถึงวันครบรอบวันสวรรคตของพระองค์ บรรดาเชื้อพระวงศ์ก็จะมาร่วมกันทำบุญที่วัดแห่งนี้
ปั่นๆๆ จักรยานมาต่อที่ “วัดมะหาทาด” กันบ้าง วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งภายในก็มีเจดีย์เก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสร้างวัด เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระมารดาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อีกทั้งภายในสิมก็ยังมีราวเทียนรูปนาค 24 ตัว ฝีมืองดงามให้ชมอีกด้วย
มาถึงวัดที่แปด “วัดใหม่สุวันนะพูมาราม” วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระบาง และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาต่อหน้าพระบางอีกด้วย ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้เป็นที่ให้ประชาชนมาสรงน้ำพระบางในวันงานบุญปีใหม่ และหากพูดถึงเรื่องความสวยงามแล้ววัดใหม่ฯ นี้ก็ไม่เป็นรองใคร บานประตูและผนังสิมด้านนอกเป็นฝีมือแกะสลักของเพียตันอีกเช่นเคย แกะเป็นลวดลายเรื่องพระเวสสันดรและลงรักปิดทองอร่ามงดงามยิ่งนัก
ไปปิดท้ายกันที่ “พระธาตุพูสี” หลักเมืองหลวงพระบาง ที่ใครไม่ได้ขึ้นไปสักการะก็เหมือนมาไม่ถึงหลวงพระบาง องค์พระธาตุหุ้มด้วยทองเหลืองฉาบทองคำ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2347 และเป็นที่เคารพของชาวหลวงพระบางตลอดมา
สิมวัดอาฮาม ด้านข้างมีสถานที่เก็บชุดปู่เยอ ย่าเยอ
จริงๆ แล้วแทบทุกจุดที่เราผ่านไปก็จะสามารถมองเห็นพระธาตุพูสีได้ตลอด เนื่องจากมีชัยภูมิอยู่บนยอดเขา แต่ที่เราเลือกไปไหว้พระธาตุพูสีเป็นที่สุดท้ายก็เพราะตั้งใจจะมาชมพระอาทิตย์ตกกันที่นี่ ซึ่งเมื่อเราเดินขึ้นบันไดจากทางขึ้นด้านหอพิพิธภัณฑ์ทั้ง 328 ขั้นมาแล้ว ก็พบกับนักท่องเที่ยวมากมายที่มีความตั้งใจเดียวกันมารอชมพระอาทิตย์ตกเหมือนกัน
เมื่อสักการะพระธาตุแล้ว เราก็ออกมาชมทิวทัศน์ด้านบนซึ่งสามารถมองเห็นหลวงพระบางได้ทั่วทั้งเมือง มองเห็นสายน้ำคานและน้ำโขง ซึ่งหล่อเลี้ยงชาวหลวงพระบางมาหลายชั่วอายุคน
และเมื่อพระอาทิตย์ลับลง... ก็เป็นอันสิ้นสุดการเดินทางของเราเพียงเท่านี้
* * * * * *
หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า
|